วัดหน้าพระธาตุ หรือวัดตะคุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 – 3 ของประวัติศาสตร์ไทย นับว่าเป็นระยะเชื่อมต่อระหว่างประวัติศาสตร์ไทยยุคเก่า มาสู่การปฏิรูป และพัฒนาประเทศ ตามแบบอารยธรรมตะวันตกในยุคปัจจุบัน ทำให้มีความเจริญในด้านต่างๆ ตามมา รวมถึงด้านศิลปกรรมด้วย วัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ก็คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดหน้าพระธาตุ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดตะคุ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างขึ้นราวสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อวัดนั้นเรียกกล่าวกันตามพระธาตุเจดีย์ที่มีปรากฏอยู่ภายในวัด จุดเด่นของวัดนี้คือมีความโดดเด่นด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ และโบราณสถานยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่ง ประกอบด้วย พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า เป็นพระธาตุเจดีย์ศิลปะลาว รูปทรงบัวเหลี่ยม ที่สูงเรียว ยอดสอบเข้าหากันเป็นยอดแหลม ภายในบรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวปักธงชัย เป็นพระธาตุเจดีย์ที่กล่าวกันว่าชาวลาว ซึ่งอพยพจากเวียงจันทน์ มาอาศัยอยู่ที่ตำบลตะคุ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ด้านข้างพระธาตุเจดีย์ มีเจดีย์องค์เล็ก เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิท่านเจ้าอาวาสเก่า พระอุโบสถหลังเก่า หรือ สิม คือพระอุโบสถแบบอีสาน ตั้งอยู่ด้านข้างพระวิหาร เป็นพระอุโบสถสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผนังก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องบนเครื่องไม้เก่าแก่ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แต่ทำเป็นปูนปั้นแทน มีจั่วลดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันมีงานไม้จำหลักลวดลายพรรณพฤกษา ฐานพระอุโบสถแอ่นโค้งแบบท้องสำเภา มีรูปแบบคล้ายศิลปะของอยุธยาตอนปลาย ผนังด้านนอกเหนือประตูทางเข้า มีจิตรกรรมฝาผนัง หรือที่เรียกกันว่า ฮูปแต้ม เป็นงานสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่ทั้งสี่ด้าน เป็นภาพเรื่องราวทัศชาติชาดก นอกจากนี้ยังสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตพื้นบ้าน และแง่คิดเกี่ยวกับธรรมะอีกด้วย หอไตรกลางน้ำ ตั้งอยู่กลางน้ำหน้าพระธาตุเจดีย์ เป็นหอไตรเรือนไทยทรงพื้นเมืออีสาน ผนังแบบฝาปะกน ชั้นเดียว สร้างในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก โดยตั้งอยู่กลางน้ำเพื่อป้องกันปลวก บานประตูเป็นลวดลายรดน้ำปิดทอง ภายในมีงานจิตรกรรมและภาพเรื่องราวพุทธประวัติ จิตรกรรมฝาผนังวัดหน้าพระธาตุ ปรากฏอยู่ที่ภายนอกและภายในพระอุโบสถ ภายนอกเป็นภาพจุฬามณีเจดีย์ ดาวดึงส์ และเนมิราชชาดก ส่วนจิตรกรรมภายในอุโบสถจะเขียนเรื่องทศชาติชาดกเป็นหลัก รวมทั้งพุทธประวัติบางตอน และจุลปทุมชาดก โดยมีรูปแบบสะท้อนเอกลักษณ์พื้นถิ่นเด่นชัด แฟนเพจวัด : Facebook ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php… ภาพประกอบสวยๆ : ไพโรจน์ เจียวก๊ก https://www.facebook.com/talcdi.mckorat
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market
เตรียมเที่ยวงานยักษ์ “เทศกาลเที่ยวพิมาย PHIMAI FESTIVAL 2024” วันที่ 6-10 พฤศจิกายน 2567 จัด 5 วัน 5 คืน
เริ่มแล้ว มหกรรมการเงินยิ่งใหญ่สุดในอีสาน โปรแรงดีที่สุดแห่งปี MoneyExpo2024Korat วันนี้ – 11 ส.ค. 67 เดอะมอลล์โคราช