ในช่วงเทศกาลตรุษจีนโคราชปีนี้ หากใครมาเที่ยวชมงาน ประวัติศาสตร์ 100 ปี ชุมพลถนนหัวมังกร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2559  ก็ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง กับอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจ และมีโอกาสน้อยครั้งนักที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมในทุกซอกมุม คือ วัดบึง (พระอารามหลวง)

ในอดีตตามเส้นทางของถนนจอมพล นอกเหนือจากจะมีห้างร้านบริษัทต่างๆ อยู่มากมายมาตั้งแต่อดีตแล้ว อีกสถานที่หนึ่งที่อยู่คู่ชาวโคราช และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจศูนย์รวมแรงศรัทธา ก็คือ วัดบึง (พระอารามหลวง)

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดบึง เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2220  ขึ้นมาพร้อมกับการสร้างเมืองนครราชสีมา โดยภายในเขตกำแพงเมืองเก่านครราชสีมา มีวัดที่ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างทั้งหมด 6 วัด คือ

  1. วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร)
  2. วัดบึง
  3. วัดพายัพ
  4. วัดอิสาน
  5. วัดบูรพ์
  6. วัดสระแก้ว

DSCN5791

วัดบึง ตั้งอยู่บนถนนจอมพล สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย มีพระอุโบสถทรงเรือสำเภา ที่ปกติแล้วจะปิดไว้ ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปข้างใน ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น โดยในปีนี้เปิดให้เข้าสักการะพระพุทธรูปภายพระอุโบสถ ช่วงเทศกาลตรุษจีนโคราช เพื่อย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ถนนชุมพล

DSCN5782

พระอุโบสถสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นลวดลายบัวโค้งที่ฐานสำเภา หรือเรียกตามภาษาช่างว่า “โค้งปากตะเภา” ซึ่งปัจจุบันพระอุโบสถทรงนี้เหลือเพียงแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

DSCN5775

ด้านทิศตะวันออกของพระอุโบสถ มีหน้าบันเป็นไม้แกะสลักอย่างปราณีตรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนด้านทิศตะวันตกมีหน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑวาหนะอยู่ท่ามกลางก้านลายขด มีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ประดับด้วยกระจกสี

DSCN5777

 

พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือหลวงพ่อโตอู่ทอง หน้าตักกว้าง 6 ศอก มีการลงรักปิดทองแบบฉบับศิลปะกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีประพุทธรูปปางห้ามสมุทรสมัยลพบุรีประดิษฐานอยู่รอบองค์พระประธาน พร้อมภาพจิตรกรรมสวยงามภายในพระอุโบสถ

DSCN5776

มีใบเสมาคู่ ซึ่งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตที่มีใบเสมาคู่กันคือ คาดว่าจะมีการผูกพัทธสีมาในต่างวาระและต่างนิกายในพระอุโบสถแห่งนี้ โดยฝ่ายที่มาทีหลังต้องการใช้พื้นที่ในเขตสังฆกรรม แต่ไม่มีความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของเขตสีมาอันก่อน จึงได้ทำการผูกพัทธสีมาขึ้นมาใหม่

[soliloquy id=”775″]

 

และอีกข้อสันนิษฐานคือ ในสมัยโบราณนั้นมีวัดด้วยกัน 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอรัญวาสีและฝ่ายคามวาสี เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น (วัดหลวง) เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวว่าเลือกปฏิบัติ จึงนิมนต์พระสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย มาร่วมผูกพัทธสีมาพร้อมๆ กัน วัดหลวงจึงมักเห็นมีสีมา 2 ใบแต่นั้นมา

DSCN5785

สิ่งที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งคือ เจดีย์ ที่สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน สร้างพร้อมกับพระอุโบสถและพระประธาน มีรูปปันสิงห์คู่ประดับอยู่ทางด้านหน้าทิศตะวันออก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้อมูลประกอบจากหนังสือประวัติวัดบึง และรูปภาพประกอบจาก tuk-tuk@korat


Comments are closed.

Check Also

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2 ตั้งแ … …