สนข.รื้อแผนแก้รถติด 6 เมืองใหญ่ ขอนแก่น โคราช หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ พิษณุโลก หลังการลงทุนพุ่ง เมืองโตไม่หยุด ผังเมืองคุมไม่อยู่ ใช้ กทม.เป็นโมเดลต้นแบบ ร่างพิมพ์เขียวพัฒนาโครงการยาว 10-20 ปี

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาการแก้ไขปัญหาจราจรใน 6 เมืองใหญ่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก และสงขลา (หาดใหญ่)

เนื่องจากผลการศึกษาเดิมทำไว้เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ปัจจุบันการพัฒนาหัวเมืองใหญ่จะเดินตามรอยกรุงเทพฯ ทั้งการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ขณะที่ผังเมืองยังควบคุมไม่ได้เต็มที่ ทำให้เมืองมีการเติบโตและขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง จึงประสบปัญหารถติด ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ

“การแก้รถติดเมืองใหญ่ สนข.ศึกษามา 7-8 ปีแล้ว แต่ไม่ได้มีการผลักดันให้เป็นจริง เพราะว่าขณะนั้นยังไม่คุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากเมืองยังไม่หนาแน่น มีคนใช้บริการน้อย จึงต้องเก็บผลการศึกษาไว้ ตอนนี้การจราจรหนาแน่น สภาพเมืองเปลี่ยนไป ที่ศึกษาไปก็ใช้ไม่ได้ เพราะเมืองโต เปลี่ยนหมดทุกอย่าง ต้องศึกษาทบทวนกันใหม่ อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าปีหน้าจะสรุปได้แต่ละเมืองจะแก้ปัญหารูปแบบไหนถึงจะเหมาะสม”

สำหรับแผนการแก้ปัญหา ผอ.สนข.กล่าวว่า ในระยะสั้นจะเป็นการปรับด้านกายภาพ เช่น ปรับสัญญาณไฟจราจร ตีเส้นการจราจรใหม่ ระยะกลางจัดระเบียบระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่เดิมให้คนมาใช้บริการมากขึ้น

ขณะที่ระยะยาวต้องมีการลงทุนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะรูปแบบใหม่มารองรับการเดินทางตามความเหมาะสมของแต่ละเมืองเช่นรถบีอาร์ที รถรางไฟฟ้า (แทรม) รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) รถไฟฟ้ารางเบา (ไลต์เรล) เป็นต้น

“สนข.กำลังศึกษายังไม่สะเด็ดน้ำ โดยจะต้องออกแบบศึกษาวางแผนแม่บท ไปเก็บข้อมูลศึกษาว่าเมืองใหญ่ขนาดนี้จำเป็นต้องมีระบบขนส่งสาธารณะหรือไม่ ถ้ามีจะเป็นรูปแบบใดถึงเหมาะสมที่สุด มีกี่เส้นทาง ใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ และรูปแบบการลงทุนเป็นแบบไหน”

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ยกตัวอย่าง จ.เชียงใหม่ผลการศึกษาเมื่อปี 2552 จะแก้ปัญหาโดยรถบีอาร์ที แต่โครงการไม่คุ้มค่าจึงยังไม่ได้รับการผลักดัน ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก ทั้งการลงทุน นักท่องเที่ยว คนอพยพไปตั้งถิ่นฐานมาก ระบบผังเมืองก็เปลี่ยนใหม่หมด ทำให้ต้องศึกษาโครงการใหม่ โดยนำผลการศึกษาเก่ามาเป็นฐานข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าในการลงทุน

เช่นเดียวกับเมืองโคราชที่เทศบาลเมืองเคยเสนอโครงการบีอาร์ทีไฟฟ้าแต่ไม่สามารถเดินหน้าได้ เนื่องจากไม่มีเงินลงทุน จึงของบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุนโครงการ

ส่วน จ.ขอนแก่นที่เอกชนท้องถิ่นจะเสนอตั้งกองทุนเพื่อมาลงทุนโครงการบีอาร์ที ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ซึ่งก็ต้องรอผลการศึกษาของ สนข.ให้เสร็จก่อน ด้าน จ.พิษณุโลกเพิ่งได้รับงบประมาณปีนี้ ศึกษาออกแบบโครงการจากเดิมเคยเสนอโครงการบีอาร์ที

แต่ของภูเก็ตชัดเจนเป็นรถแทรม รอสรุปรูปแบบการลงทุนจะเป็นรัฐบาลกลางโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงทุน ท้องถิ่น เอกชน หรือรัฐร่วมกับเอกชน ในหลักการจะดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม PPP โครงการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ส่วน จ.สงขลาทางจังหวัดมีข้อเสนอเป็นรถแทรม

“สิ่งที่ สนข.ทำจะเหมือนกรุงเทพฯ ให้มีแผนแม่บท เป็นโรดแมปของแต่ละจังหวัดพัฒนาไปอีก 10-20 ปี ข้างหน้าให้ลงทุนพัฒนาโครงการตามที่แผนแม่บทกำหนด ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องเดินตามแผนนี้ ไม่งั้นจะเหมือนที่ผ่านมาก็คิดและศึกษากันไปเรื่อยๆ จึงไม่ได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง”

 

แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …