09102011108 (1)
ภาพ : IFanz

ปัจจุบันปัญหาการจราจรภายในเขตตัวเมืองนครราชสีมา ถือว่าอยุ่ในขั้นที่ค่อนข้างวิกฤต ควรได้รับการวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยถนนมิตรภาพเป็นถนนเส้นหลักผ่านกลางตัวเมือง โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ รวมไปถึงห้างร้านต่างๆ มากมาย จึงทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนมีรถยนต์อยู่บนถนนเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาการจราจรติดขัด บวกกับระบบโครงข่ายถนนภายในตัวเมืองที่ไม่เป็นระเบียบ ทางเลี่ยงต่างๆ มีน้อย ภาระจึงตกอยู่ที่ถนนมิตรภาพ เป็นเส้นที่คับคั่งมากที่สุด

aec0005013
ภาพ : AECNews

ในบริเวณแยกขนาดใหญ่ จะมีปริมาณรถติดสะสมเป็นจำนวน เช่น แยกประโดก และแยกบิ๊กซี เป็นต้น ในอนาคตเมืองมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่จะตามมาคือ จำนวนรถส่วนบุคคลก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เพราะภายในเขตเมืองโคราช ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มารองรับการเดินทางของประชาชนเลย

การเข้ามาของศูนย์การค้า Terminal 21 Korat ซึงแน่นอนเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภายในจังหวัด อีกหนึ่งเรื่องที่จะตามมาคือ ปัญหาการจราจร บริเวณแยกบิ๊กซี ข้อมูลจากทางเทศบาลนครราชสีมา ได้เตรียมการประสานงานกับผู้ประกอบการ ในการจัดทำโครงการทางลอดบริเวณหน้าศูนย์การค้า Terminal 21 เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่จะเกิดขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการในการดำเนินการ โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างการออกแบบรูปแบบการก่อสร้างที่เหมาะสม และรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของบริเวณทางแยกประโดก กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาจราจร เป็นรูปแบบทางลอด เช่นกัน โดยโครงการมีการศึกษาเรียบร้อยแล้ว โครงการทางลอด (Underpass) มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่กิโลเมตร 149+450 หน้าร้านชัยยางยนต์ ไปสิ้นสุดโครงการที่กิโลเมตร 151+200 บริเวณบริษัท โคราชอินเตอร์มาร์ท (1998) จำกัด ระยะทาง 1.750 กิโลเมตร มีเขตทางกว้าง 60.00 เมตร โดยใช้เขตทางเดิม ไม่มีการเวนคืนที่ดิน มีจุดเริ่มต้นทางลอดบริเวณหน้าห้างแม็คโครที่กิโลเมตร 149+750 และจุดสิ้นสุดทางลอดที่กิโลเมตร 150+825 บริเวณก่อนถึงวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลพาณิชยการนครราชสีมา (ชพน.)

10523729_687731081305534_8756856142921024210_n

ภายในทางลอดมีขนาด 6 ช่องจราจร (กว้างช่องละ 3.50 เมตร) ความกว้างของทางลอดโดยรวมประมาณ 26.60 เมตร ความยาวของทางลอดประมาณ 1,075 เมตร ความสูงของช่องลอด 5.50 เมตร ความลาดชันทางลอดขึ้น-ลง 4.60% และมีช่องทางคู่ขนาน 3 ช่องจราจรขนาบข้างของทางลอดทั้ง 2 ฝั่ง ผิวทางคอนกรีตกว้างช่องละ 3.50 เมตร บนทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เพื่อรองรับการสัญจรของท้องถิ่นและเพิ่มช่องจราจรสำหรับการกลับรถทั้ง 2 ทิศทาง

10562924_687731157972193_1729598113997561634_n

โครงการก่อสร้าง มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปี พ.ศ.2560 และแล้วเสร็จในปี 2563 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนยื่นเสนองบประมาณ

อีกหนึ่งความเห็นในการแก้ปัญหาจราจรในเขตเมืองโคราช จากนักผังเมือง มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา มองว่า การใช้อุโมงค์ทางลอดในเขตใจกลางเมืองอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหาในตอนนี้ ควรใช้เป็นตัวเลือกสุดท้ายจริงๆ หากมีการสร้างอุโมงค์ผ่านย่านการค้า (แยกบิ๊กซี) ต้องมีการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษ เพราะอาจจะทำให้ย่านการค้าเดิมบริเวณนั้น มีความซบเซาลงไปมากเมื่อทางลอดเสร็จ ควรหาแนวทางอื่นหรือศึกษาตัวเลือกอื่นๆ ก่อน หากในตัวเมืองมีพื้นที่ที่จะสามารถตัดถนนขึ้นมาใหม่ ให้สามารถเลี่ยงแยกบิ๊กซีได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะคิดทำสร้างถนนก่อน

ตัวอย่างเช่น การขยายถนนเลียบคลองชลประทาน (สุระ 2) ให้เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อระบายรถที่จะตรงมายังแยกบิ๊กซี ให้เลี่ยงออกไปยังถนนเลี่ยงเมืองได้สะดวก หรืออีกเส้นทางคือ ตัดถนนเลียบไปกับทางรถไฟ จากถนนมิตรภาพบริเวณโรงแรมสีมาธานี ไปยังฝั่งหัวทะเลจะสามารถระบายรถได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องผ่านแยกบิ๊กซี ปัจจุบันโครงการนี้มีการริเริ่มทำแล้วบางส่วน และมีการเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อทำโครงการให้แล้วเสร็จ

การตัดถนนเพิ่ม จะช่วยจัดรูปที่ดิน เพิ่มมูลค่าของที่ดิน และสร้างการพัฒนาที่ดินในบริเวณที่ถนนเส้นใหม่ตัดผ่าน และหากยืนยันที่จะสร้างอุโมงค์ทางลอดจริงๆ อุโมงค์แห่งเดียวจะไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาจราจร เพราะหากเมื่อผ่านจากทางลอดแยกบิ๊กซีไปแล้ว ก็จะไปติดไฟแดงตรงแยกปตท.เดอะมอลล์อยู่ดี เป็นการผลักภาระรถจากแยกบิ๊กซี ให้ไปติดอยู่ที่แยกปตท.เดอะมอลล์ ปัญหาก็จะเกิดอีก หากมีทางลอดแยกบิ๊กซี ต้องทำลอดยาวทั้งหมดโดยไม่ต้องติดไฟแดง ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก ถ้าทำแล้วไปติดไฟแดงอีก ปัญหาเดิมก็จะตามมา

โครงการเหล่านี้จะสามารถแก้ปัญหาการจราจรภายในเขตเมืองได้หรือไม่ สิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยได้คือ มีระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนน เคารพกฎจราจร อย่าถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะหากมีจุดเล็กๆ หลายๆ จุดละเลย ปัญหาก็จะตามแก้ไม่จบไม่สิ้นเสียที

หรือในทางกลับกัน เราควรจะมีและหันมาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่รองรับการเดินทางของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายกับระบบขนส่งอื่นๆ ได้  เพื่อลดปริมาณการใช้รถใช้ถนนในเขตเมือง

หลายๆ เมืองมีประชากรเยอะกว่าโคราชหลายเท่า แต่ปริมาณรถยนต์ส่วนตัวกลับน้อยกว่าโคราชหลายเท่าเช่นกัน …

 


Comments are closed.

Check Also

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2 ตั้งแ … …