นครราชสีมาเป็นดินแดนที่ราบสูงที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติที่เอื้อต่อการตั้งหลักแหล่งของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่นี่จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์มาแต่เดิม รวมไปถึงผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ การสงคราม การแสวงหาแหล่งทำกิน ฯลฯ จึงทำให้นครราชสีมามีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมมากมาย ทั้งด้านความเป็นอยู่ การแต่งกาย การละเล่น ประเพณี ความเชื่อ รวมถึงการใช้ภาษา จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าชุมชนโบราณซึ่งเป็นร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ต่อเนื่องมาถึงยุคโลหะ กระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ก็มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดีซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เป็นเมืองใหญ่ เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของรัฐศรีจนาศะ ต่อมาในสมัยขอมพระนครมีการสร้างเมืองนครราชอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยมีเมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญ ครั้นถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้สร้างเมือง ณ ที่ตั้งปัจจุบัน พระราชทานนามว่าเมืองนครราชสีมา พร้อมทั้งส่งขุนนางคือ พระยายมราช (สังข์) มาปกครองเป็นพระยามหานครต่างพระเนตรพระกรรณ พร้อมทั้งอพยพขุนนางทหารและครอบครัวจากกรุงศรีอยุธยามาเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นข้าราชการประจำเมืองนครราชสีมา จากนั้นชาวอยุธยาอพยพมาอยู่นครราชสีมาครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่งเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยมีชาวไทยชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกได้อพยพเข้ามาด้วย เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ขุนนางที่มาปกครองเมืองนครราชสีมาและเมืองบริวารก็ถูกส่งมาจากกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการผสมผสานทางชาติพันธุ์กับกลุ่มชาวพื้นถิ่นที่อยู่เดิมเป็นชาวไทยโคราช ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองในด้านต่างๆ ทั้งเครื่องแต่งกาย อาหารการกิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ประเพณีพิธีกรรม ความเชื่อ ดนตรี นามสกุลคนโคราช และที่สำคัญคือ ภาษาโคราช ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น จากสถิติ จังหวัดนครราชสีมามีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากกรุงเทพฯ ประกอบด้วยประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ด้วยกัน แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากมีอยู่สองกลุ่มใหญ่คือ ไทยโคราช รองลงมาคือ ไทยอีสาน และมีชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อีก ได้แก่ มอญ ส่วย ญวน แขก และจีน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันออกไป แต่ด้วยความที่ชาวไทยโคราชมีวัฒนธรรมเชื่อมโยงระหว่างไทยภาคกลางจึงส่งผลให้ภาษาไทยโคราชมีความคล้ายคลึงกับภาษาในภาคกลางของประเทศค่อนข้างมาก แตกต่างกันตรงที่สำเนียงที่มีลักษณะเหน่อ ห้วนสั้น มีคำไทยลาวหรือไทยอีสานและเขมรปะปนอยู่บ้างเล็กน้อย มักจะใช้เสียงเอกแทนเสียงโท เช่น คำว่า ม่า แทนคำว่า ม้า ใช้คำว่า เสื่อ แทนคำว่า เสื้อ เป็นต้น ทำให้มีเสียงวรรณยุกต์เพี้ยนไปจากเดิมบ้าง ถึงกระนั้น ภาษาไทยโคราชก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเองค่อนข้างสูง กลุ่มไทยโคราชจึงเป็นกลุ่มที่แสดงเอกลักษณ์ของเมืองนครราชสีมาได้เป็นอย่างดี คนไทยโคราชอาศัยอยู่ทุกอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ยกเว้นบางอำเภอที่มีชาวไทยลาวมากกว่า เช่น อำเภอสูงเนิน บัวใหญ่ และปักธงชัย เป็นต้น นอกจากนั้น ชาวไทยโคราชยังอาศัยอยู่ในบางส่วนของจังหวัดสระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ (ในอำเภอเมืองบุรีรัมย์ นางรอง และหนองกี่) รวมไปถึงชัยภูมิ (ในอำเภอบำเหน็จณรงค์และจัตุรัส) ปัจจุบันคนพูดภาษาไทยโคราชส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นเก่า หรือคนที่อาศัยอยู่ตามชนบท ส่วนคนที่อยู่ในเขตเมืองเมื่อพูดกับคนโคราชด้วยกันมักใช้ภาษาไทยกลาง แต่ปรับเสียงวรรณยุกต์ให้เป็นสำเนียงโคราชเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายทางภาครัฐที่ให้ใช้ภาษากลางเป็นภาษาราชการ ผนวกกับค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภาษาถิ่นถูกลดบทบาทความสำคัญลงเรื่อยๆ จนเข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งหากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานภาษาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบจากนี้ สักวัน ‘ภาษาไทยโคราช’ อันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาวโคราช อาจเข้าสู่สภาวะวิกฤตและสูญสลายไปในที่สุด ……………………………………………………………………………………………………………………………………… เรื่องโดย : ผศ.นฤมล ปิยวิทย์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market