ธุรกิจนี้..เพื่อสังคม

ต้องยอมรับเลยว่า กระแสของการก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคมนั้น
กำลังมาแรงมากๆ ในช่วงนี้ ด้วยเพราะความเชื่อของคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันอยากเริ่มต้นเป็นผู้เจ้าของธุรกิจ ต่างก็ล้วนตระหนักว่า การทำธุรกิจที่ดีนั้น มันต้องเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการให้ด้วย เรียกได้ว่า ทำงานไปด้วยแถมยังได้ทำสิ่งดีๆ ด้วย ดังนั้นธุรกิจในรูปแบบนี้จึงเริ่มทยอยเปิดตัวมาสู่สังคม

12071448_10154228325822786_278527310_n

ธุรกิจแรกที่จะเล่าถึงนี้เป็น ร้านพิซซ่าเพื่อสังคม แห่งเมืองฟิลลาเดเฟีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นร้านเล็กๆ ชื่อว่า Rosa’s Fresh Pizza เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากชายหนุ่มอายุ 27 ชื่อ เมสัน วาร์ทแมน ก่อนหน้าจะมาเปิดร้าน เมสัน เคยเป็น stock researcher ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท จนมาในวันหนึ่ง เขาก็ลาออกแล้วเดินทางกลับบ้าน พร้อมความคิดแนว Social Enterprise โดยมีไอเดียธุรกิจที่ไม่ได้อลังการ มันฟังดูเรียบง่ายสุดๆ แบบที่ใครๆ ก็เริ่มต้นได้นั่นคือ การเปิดร้านพิซซ่าเพื่อสังคม พิซซ่าเพื่อสังคมของเขาเริ่มต้นง่ายๆ บนแนวคิดที่ว่า..

“เมื่อคุณมาซื้อพิซซ่าที่ร้านนี้ คุณสามารถส่งต่อพิซซ่าให้กับผู้ยากไร้ได้”

นี่เป็นโครงการเพื่อต่อชีวิตให้กับผู้ยากไร้ หิวโหย ซึ่งไม่มีอาหารรับประทาน เพราะที่ร้าน Rosa’s Fresh Pizza คุณจะสามารถส่งต่อพิซซ่าแบบง่ายๆ ด้วยการซื้อโพสต์อิท ราคา 1 เหรียญสหรัฐ แล้วเขียนข้อความเพื่อส่งต่อมอบพิซซ่า ให้กับคนยากไร้ยากจน คนจรจัด หรือผู้ที่กำลังประสบปัญหาในชีวิตให้ได้อิ่มท้อง เพื่อรอเวลาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวันใหม่ ถ้าคนยากไร้คนไหนผ่านมาพร้อมกับความหิวโหย ก็สามารถมาหยิบโพสต์อิท แล้วนำไปแลกพิซซ่าได้ทันที เมสัน มุ่งมัน ทำกิจการนี้จนกระทั่ง มันกลายเป็นความจริง…

12048460_10154228325797786_366850586_n

เวลานี้ร้านของเขาแจกพิซซ่าให้กับผู้ยากไร้ทุกวัน วันละกว่า 40 คน และใช้เวลาเพียงแค่สิบเดือน Rosa’s Fresh Pizza แจกพิซซ่าไปแล้วมากกว่า 9,000 ชิ้น มีสื่อมวลชนมากมายให้ความสนใจ เขาได้รับเชิญ ไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อบอกเล่าแนวคิดและสิ่งดีๆ ในโครงการ และมันก็ไปโดนใจทีมงานตลาดบริษัทน้ำดื่มชื่อดัง ที่มองเห็นถึงคุณค่าของโครงการ โดยบริษัทน้ำดื่มขอเป็นส่วนหนึ่ง ในการเข้าร่วมต่อยอดให้กับไอเดียนี้ด้วย โดยทำโครงการมอบเครื่องดื่มให้กับผู้ยากไร้ แบบฟรีๆ โดยผู้ที่ใจบุญสามารถสั่งซื้อพิซซ่า หรือช่วยทำบุญด้วยการบริจาคพิซซ่า ผ่านทางเว็บไซต์ www.rosasfreshpizza.com ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ข้ามจากสหรัฐอเมริกามาที่บังคลาเทศ

นี่เป็นเรื่องราวของ ศ.ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส นักคิด นักพัฒนา นักเศรษฐศาสตร์ ชื่อดังผู้ริเริ่มและเป็นผู้ก่อตั้ง ธนาคารกรามีน และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2006 ในเรื่องการพัฒนาแนวคิด ‘ไมโครเครดิต’ รวมทั้งความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากรากหญ้า บนความเชื่อที่ว่า…

“คนจนทุกคนมีความสามารถที่จะหลุดพ้นจากความยากจนได้ หากเพียงได้รับโอกาส”

หลังจากได้รับรางวัลโนเบล มูลค่า 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ศจ. มูฮัมหมัด ยูนุส ก็ได้ริเริ่มโครงการ โรงพยาบาลสำหรับคนยากจนในบังคลาเทศ รวมทั้งเริ่มโครงการความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อสังคม กับบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ซึ่งมีความชำนาญเฉพาะทาง เพราะจากสถิติในปี 2008 ระบุไว้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในบังคลาเทศ จำนวนกว่า 56% นั้นกำลังถูกโรคขาดสารอาหารคุกคาม

เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น โครงการธุรกิจเพื่อสังคมรายแรกที่กอง ทุนกรามีน ตั้งใจร่วมมือก่อร่างสร้างขึ้นมา จึงเป็นธุรกิจด้านอาหาร กรามีนได้ร่วมมือกับ ดานอน บริษัทข้ามชาติผู้ผลิตอาหารนมชื่อดัง โดยทั้งสององค์กรนั้นมารวมตัวกัน ในชื่อ Grameen Danone Foods Ltd. โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการผลิตอาหารที่มีสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย แล้วจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์ให้กับคนยากจน ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ในการแก้ไขโรคขาดสารอาหารให้กับเด็กๆ บังคลาเทศ
12067803_10154228325722786_277180763_n
โดยกรามีนดานอน จะช่วยรับซื้อวัตถุดิบ ซึ่งก็คือนมวัวจากชาวบ้าน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับสังคม ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงวัว เพื่อนำน้ำนมดิบมาผลิตตามกระบวนการ จนกลายเป็นโยเกิร์ตสำหรับเด็ก ที่มีชื่อว่า Shokti Doi
เจ้าโยเกิร์ต Shokti Doi นี้ นอกจากจะใช้วัตถุดิบในชุมชน ส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านแล้ว ก็ยังมีกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ตามความเชี่ยวชาญของดานอน โดยจะมีการเพิ่มเติมสารอาหารที่จำเป็นกับเด็กๆ ทั้งโปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ

โยเกิร์ตจะถูกบรรจุในบรรจุภัณฑ์สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถย่อยสลายได้ รวมทั้งมีกระบวนการจัดจำหน่ายให้กับชุมชนต่างๆ ในราคาย่อมเยาว์ โดยตั้งราคาขายในตัวเมือง ในสนนราคาถ้วยละเพียง 3.5 บาท (8 Taka) ส่วนในเมืองใหญ่อื่นๆ จะบวกค่าขนส่งเพิ่มเข้าไป แล้วจำหน่ายในราคา 7 บาท (15 Taka)

นอกจากนี้ ในกระบวนการขายปลีก กรามีนดานอน ยังมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดโครงการสมาชิกนักขาย ที่มารวมตัวกันเป็นสาวโยเกิร์ต (อันนี้คล้ายๆ กับสายยาคูลท์ บ้านเรา) ที่จะช่วยรับโยเกิร์ตจากศูนย์กระจายสินค้า แล้วออกเดิน หรือปั่นจักรยานไปจำหน่ายในชุมชน ตามบ้าน ตรอกเล็กซอยน้อย ที่ไหนๆ สาวโยเกิร์ตก็ไปขายได้หมดทุกที

12033449_10154228325762786_1388213878_n

โครงการสาวโยเกิร์ตนี้ กลายเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับคนยากจน ทำให้มีอัตราการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น
นับตั้งแต่กระบวนการซื้อวัตถุดิบจากท้องถิ่น ซึ่งช่วยพัฒนาสังคมในระยะยาว สร้างอาชีพ ก่อเกิดรายได้ ไปจนถึงตัวผลิตภัณฑ์ก็สามารถแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร และในกระบวนการจัดจำหน่ายด้วยสาวโยเกิร์ต ก็สามารถช่วยลดปัญหาว่างงานได้อีกหลายล้านชีวิต

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนตัวเล็ก คนธรรมดา หรือจะเป็นใครก็ตาม ขอให้เชื่อเถอะว่า ไอเดียธุรกิจเพื่อสังคมนั้น มันเกิดขึ้นได้ทุกที่จริงๆ เพียงแต่ต้องอาศัยความมุ่งมั้น บวกกับความกล้าที่จะเริ่มต้นลงมือทำ รวมทั้งจิตใจที่ พร้อมแบ่งปันให้กับสังคมด้วยความจริงใจ

————-
Credit โดย : ก้า อรินธรณ์
จากคอลัมน์ More Biz (นิตยสาร More Move)

ติดตามอ่านตอนอื่นๆ ได้ที่
FB Fanpage : Ga Arintorns


Comments are closed.

Check Also

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2 ตั้งแ … …