ปัจจุบันโคราชไม่เพียงแต่เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการศึกษาและแหล่งเรียนรู้มากมายที่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ จัดตั้งขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชน คนรุ่นใหม่ รวมถึงประชาชนทั่วไป เฉกเช่น “อุทยานการเรียนรู้สิรินธร” ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากการจัดแสดงนิทรรศการในงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมโลกปี 2538 (World Tech’95) ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประกอบไปด้วยอาคารกาญจนาภิเษกและอุทยานผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งยังคงเปิดให้บริการตลอดมาจวบจนทุกวันนี้

 

DPP_0118b
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร

 

 

ต่อมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเริ่มมีแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นอย่างหลากหลายจากผลงานความสนใจของคณาจารย์กลุ่มต่างๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจึงได้รวบรวมแหล่งเรียนรู้เหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ “อุทยานการเรียนรู้สิรินธร” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นแหล่งศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวินัยจราจร พรรณไม้ แมลงกับสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน เทคโนโลยีต้นแบบ เกษตรอินทรีย์ อันรวมถึงพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันอุทยานการเรียนรู้สิรินธรจึงมีแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่รองรับการจัดกิจกรรมสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเข้าเยี่ยมชม ดังนี้

 

1. เมืองจราจรจำลอง

IMG_9929
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร

.
เมืองจราจรจำลอง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2553 บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยจำกัดร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้จัดสร้างเมืองจราจรจำลองแห่งที่ 3 เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎจราจร โดยมีวัตถุประสงค์ปลูกฝังจิตสำนึกการเป็นผู้ขับขี่และผู้ร่วมทางที่ดี และตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้รถ ใช้ถนน ตามแนวคิด “ถนนสีขาว” ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ มีการฝึกปฏิบัติขับขี่จริงบนเส้นทางจราจรจำลอง โดยมุ่งหวังว่าสถิติของจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนจะลดลงในอนาคต ภายในอาคารจัดการแสดงความรู้เกี่ยวกับวินัยจราจร โดยแบ่งนิทรรศการออกเป็น 5 กลุ่มที่สำคัญ คือ 1. กฎจราจรเบื้องต้น 2. ป้ายจราจรและเครื่องหมายจราจร 3. อุปกรณ์จราจร 4. เทคโนโลยียานยนต์ 5. สนามทดลองขับขี่

.

Screen Shot 2016-06-08 at 4.26.29 PM
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร


การส่งเสริมความรู้แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • นักเรียนชั้น อ.1-3 กิจกรรม “My Car and My Art” การเรียนรู้เกี่ยวกับประเภทรถ
  • นักเรียนชั้น ป.1-3 กิจกรรม “Learn of Alive” การเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนน
  • นักเรียนชั้น ป.4-6 กิจกรรม “แรลลี่แสนสนุก” การเรียนรู้เกี่ยวกับกฏจราจร
  • นักเรียนชั้น ม.1-3 กิจกรรม “ไข่แข็ง” การเรียนรู้เกี่ยวกับกฏฟิสิกส์
  • นักเรียนชั้น ม.4-6 กิจกรรม “สืบจากเศษ” การเรียนรู้เกี่ยวกับแรงเสียดทาน

 

2. อุทยานผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติ

Gebgod1010
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร

.
อุทยานผีเสื้อ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานเกษตรและอุตสาหกรรมโลก (World Tech’95) หลังจากเสร็จสิ้นงานก็ยังคงเปิดให้บริการ โดยมีวัตถุประสงค์สร้างค่านิยมและปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์แนวคิดทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแมลงกับสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ โดยใช้ผีเสื้อและแมลงเป็น “สื่อ” หรือ “ตัวแทน” ความสัมพันธ์ของการมีชีวิตของสัตว์ พืช และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการดำรงชีวิต ภายในอาคารจัดการแสดงความรู้เกี่ยวกับแมลงกับสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งนิทรรศการออกเป็น 5 กลุ่มที่สำคัญ คือ 1. กำเนิดแมลง 2. พิพิธภัณฑ์แมลง 3. วงจรชีวิตผีเสื้อ 4. แมลงมีประโยชน์-โทษ 5. ผีเสื้อกับธรรมชาติ

 

Screen Shot 2016-06-08 at 4.29.24 PM
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร


การส่งเสริมความรู้แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • นักเรียนชั้น อ.1-3 กิจกรรม “หนูน้อยแต้มสีผีเสื้อ” การเรียนรู้เกี่ยวกับรูปร่างผีเสื้อ
  • นักเรียนชั้น ป.1-3 กิจกรรม “เติมสีแมลงหกขา” การเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะแมลง
  • นักเรียนชั้น ป.4-6 กิจกรรม “ความลับของผีเสื้อ” การเรียนรู้เกี่ยวกับวงจรผีเสื้อ
  • นักเรียนชั้น ม.1-3 กิจกรรม “นักสืบหกขา” การเรียนรู้เกี่ยวกับการจำแนกชนิดแมลง
  • นักเรียนชั้น ม.4-6 กิจกรรม “แมลงมือปราบ” การเรียนรู้เกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช

 

3. ห้องไทยศึกษานิทัศน์

DPP_0095
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร

.
ห้องไทยศึกษานิทัศน์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการทางมนุษยวิทยาของอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์สร้างความตระหนักในคุณค่าภูมิปัญญาพื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรมอีสานให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ โดยเก็บรวบรวมและจัดแสดง “วัสดุทางวัฒนธรรมของอีสาน” ที่ชาวบ้านยังคงผลิตและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน วัสดุทางวัฒนธรรมที่รวบรวมไว้จำนวนมากกว่า 2,000 ชิ้น ภายในอาคารจัดการแสดงความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน โดยแบ่งนิทรรศการออกเป็น 4 กลุ่มที่สำคัญ คือ 1. เครื่องจักสานไม้ไผ่ เครื่องมือประมงน้ำจืด และเครื่องมือการเกษตร 2. ผ้าทอและเครื่องนุ่งห่ม 3. เครื่องปั้นดินเผา 4. อื่นๆ เช่น ของเล่นพื้นบ้าน เอกสารทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น

Screen Shot 2016-06-08 at 4.30.36 PM
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร


การส่งเสริมความรู้แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • นักเรียนชั้น อ.1-3 กิจกรรม “หนูน้อยนักปั้น” การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา
  • นักเรียนชั้น ป.1-3 กิจกรรม “มาเล่นกันเถอะ” การเรียนรู้เกี่ยวกับของเล่นและการละเล่น
  • นักเรียนชั้น ป.4-6 กิจกรรม “เรียงร้อยจักสาน” การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องจักสาน
  • นักเรียนชั้น ม.1-3 กิจกรรม “สีสันวัฒนธรรมหน้ากาก” การเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมหน้ากาก
  • นักเรียนชั้น ม.4-6 กิจกรรม “แฟชั่นบนผืนผ้า” การเรียนรู้เกี่ยวกับวัมนธรรมลายผ้า

 

4. พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ

1972401_752710724768282_4706423216903246758_n
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร


พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2547 เพื่อเป็นที่เก็บหลักฐานแห่งความทรงจำไว้ให้คนไทยได้ภาคภูมิใจในความสามารถของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยโบราณ โดยมีวัตถุประสงค์สร้างความตระหนักในคุณค่าของประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบรรพชนไทยให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ ให้ได้ศึกษาหาความรู้ ก่อเกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้นต่อยอดความรู้ในอดีต ภายในอาคารจัดการแสดงความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต้นแบบ โดยแบ่งนิทรรศการออกเป็น 5 กลุ่มที่สำคัญ คือ 1. การชลประทาน 2. การคมนาคมทางอากาศ 3. การคมนาคมทางบก 4. กระบอกสูบเครื่องยนต์ดีเซลล์ 5. การแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม

 

Screen Shot 2016-06-08 at 4.30.44 PM
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร


การส่งเสริมความรู้แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • นักเรียนชั้น อ.1-3 กิจกรรม “จรวดกระดาษ” การเรียนรู้เกี่ยวกับจรวด
  • นักเรียนชั้น ป.1-3 กิจกรรม “กังหันพลังงานลม” การเรียนรู้เกี่ยวกับกังหันลม
  • นักเรียนชั้น ป.4-6 กิจกรรม “เครื่องร่อนเหินเวหา” การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบิน
  • นักเรียนชั้น ม.1-3 กิจกรรม “ว่าวไทย” การเรียนรู้เกี่ยวกับว่าวไทย
  • นักเรียนชั้น ม.4-6 กิจกรรม “คบเด็กสร้างบ้าน” การเรียนรู้เกี่ยวกับบ้านเรือนไทย

 

5. อาคารกาญจนาภิเษก

Screen Shot 2016-06-08 at 2.07.59 PM
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร


อาคารกาญจนาภิเษก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานเกษตรและอุตสาหกรรมโลก (World Tech’95) หลังจากเสร็จสิ้นงานได้ปรับปรุงและเปิดให้บริการ โดยมีวัตถุประสงค์ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ ในหัวข้อ “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชันพระมิ่งขวัญเกษตรไทย สมดุลธรรมชาติกับชีวิตพอเพียง” สื่อถึงการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสันติ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัว ภายในอาคารจัดการแสดงความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแบ่งนิทรรศการออกเป็น 5 กลุ่มที่สำคัญ คือ 1. ห้องทำงานของพ่อ 2. การพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ 3. สมดุลธรรมชาติและชีวิตที่พอเพียง 4. ใต้ร่มพระบารมี 5. ห้องถวายพระพรออนไลน์

Screen Shot 2016-06-08 at 4.30.57 PM


การส่งเสริมความรู้แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • นักเรียนชั้น อ.1-3 กิจกรรม “ลูกของพ่อหลวง” การเรียนรู้เกี่ยวกับปศุสัตว์
  • นักเรียนชั้น ป.1-3 กิจกรรม “แผ่นดินของเรา” การเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการดิน
  • นักเรียนชั้น ป.4-6 กิจกรรม “หลังงานสะอาด” การเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทน
  • นักเรียนชั้น ม.1-3 กิจกรรม “น้ำ คือ ชีวิต” การเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ
  • นักเรียนชั้น ม.4-6 กิจกรรม “ตามรอยเท้าพ่อหลวง” การเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริ

สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจที่สนใจ ขณะนี้พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ และอุทยานผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง แต่สำหรับเมืองจราจรจำลอง ห้องไทยศึกษานิทัศน์ และอาคารกาญจนาภิเษก ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ สามารถเข้าชมได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30 น. หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ หากต้องการเข้าชมกรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า เพื่อจองวัน – เวลาเข้าชม

 

Gebgod0953
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร

.
ส่วนท่านใดที่ต้องการเข้าชมและศึกษาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ อย่างเต็มอิ่มจุใจครบทั้ง 5 แห่ง พร้อมแหล่งเรียนรู้อีก 2 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างหลักสูตร ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และสวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา บรมราชกุมารี รวมทั้งหมดเป็น 7 แห่ง ในคราวเดียว คงต้องอดใจรอกันอีกซักนิดนึง…เพราะภายในปลายปีนี้ทางอุทยานฯมีกำหนดพร้อมเปิดให้เข้าชมอย่างเต็มรูปแบบแน่นอน!

 

แผนที่

13396506_10153631664723862_854444251_o
Credit : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่
อุทยานการเรียนรู้สิรินธร เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
111 ถ.มหาวิทยาลัย ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000
โทรศัพท์: 044 224 850 โทรสาร: 044 224 814
E-mail: slp_tn@g.sut.ac.th
Facebook : อุทยานการเรียนรู้สิรินธร มทส.

 

แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ : อุทยานการเรียนรู้สิรินธร


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …