นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากในพื้นที่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่าในขณะนี้สหกรณ์การเกษตรต่างๆ เริ่มทยอยเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เนื่องจากเป็นช่วงที่ข้าวนาปีในฤดูกาลผลิต 2559/60 เริ่มออกผลผลิตและถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว และคาดว่าปริมาณผลผลิตจะออกมากในช่วงกลางเดือนตุลาคมจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทุกสหกรณ์เตรียมแผนรองรับสำหรับการเปิดพื้นที่รวบรวมและเก็บรักษาข้าวเปลือกที่รับซื้อจากสมาชิก โดยตั้งเป้าหมายในการรวบรวมผลผลิตข้าวเปลือกเข้าสู่ระบบสหกรณ์ในฤดูกาลนี้ไม่น้อยกว่า 1.326 ล้านตัน เพื่อช่วยชะลอปริมาณข้าวเปลือกที่เข้าสู่ตลาดในช่วงเวลาที่ข้าวเปลือกออกมาจำนวนมากพร้อมกัน ข้าวเปลือกที่ถูกรวบรวมเข้าสู่ระบบของสหกรณ์ จะถูกเก็บรักษาไว้รอการจำหน่าย ส่วนสหกรณ์ที่มีโรงสีข้าวจะคัดแยกข้าวที่มีคุณภาพเก็บไว้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

 

rice-1
Credit : thaieditorial

 

นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตข้าวขนาดใหญ่ และมีสหกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ มีอุปกรณ์การตลาดและโรงสี พร้อมสำหรับการทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร ชะลอไม่ให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินไป เพื่อช่วยพยุงราคา ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์มีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือแก่สหกรณ์การเกษตรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าว โดยโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2559/60 มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 359 แห่ง ใน 56 จังหวัด โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ย 1% ให้สหกรณ์กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อรวบรวมข้าวเปลือก วงเงิน 12,500 ล้านบาท และยังมีโครงการชะลอการขายข้าวเปลือก 2559/60 ในระบบสหกรณ์ เน้นเฉพาะข้าวเปลือกและข้าวเหนียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดและภาคเหนือ 4 จังหวัด มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 209 แห่ง

 

95
Credit : mithmitree

 

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพภาพสามารถจัดเก็บข้าวเปลือกเพื่อชะลอการขายสู่ตลาดในปริมาณ 200,000 ตัน ซึ่งการเปิดจุดรับซื้อข้าวเพื่อดึงปริมาณข้าวเข้าสู่ระบบสหกรณ์ จะช่วยบรรเทาปัญหาผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก โดยสหกรณ์บางแห่ง ให้ราคารับซื้อที่สูงกว่าราคาตลาดประมาณ ตันละ 100 บาท ส่วนสหกรณ์ที่ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกข้าวจีเอพี ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพ ดูแลควบคุมการผลิตตั้งแต่ในแปลงข้าวจนถึงการเก็บเกี่ยว จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาด 200-300 บาท/ตัน ซึ่งมีสหกรณ์ที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวแล้ว ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด และสหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด จังหวัดเชียงใหม่

 

rice-2
Credit : chemipan

 

นางปานชญา บวชสันเทียะ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด เป็นสหกรณ์แห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดนครราชสีมาในขณะนี้ที่เริ่มเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ แต่ละวันสมาชิกจะรวบรวมข้าวเปลือกใส่รถบรรทุกมาเข้าคิวรอการจำหน่ายให้กับสหกรณ์เป็นแถวยาวตั้งแต่เช้าจนเย็น ซึ่งขณะนี้สหกรณ์รับซื้อข้าวกข 15 เป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์เบา ซึ่งมีช่วงการเก็บเกี่ยวเร็วกว่าข้าวหอมมะลิ 105 โดยได้รวบรวมไปแล้วกว่า 2,772 ตันให้ราคารับซื้อตันละ 6,500 บาท จนถึงช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เกษตรกรจึงจะเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิชั้นดี คาดว่าจนสิ้นสุดฤดูกาลสหกรณ์จะสามารถรวบรวมข้าวเปลือกได้ 60,000 ตัน โดยสหกรณ์จะคัดแยกข้าวที่มีคุณภาพประมาณ 10,000 ตัน ไว้สำหรับการแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายต่อไป

 

%e0%b8%a1%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b8%99

แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์
ภาพประกอบ : tnewthaieditorial, mithmitree และ chemipan


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …