หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลำดับที่ 29 ของประเทศไทยก็จะพบว่า มีคำๆ หนึ่งที่เผยออกมาเป็นระยะๆ นั่นก็คือ ประชารัฐ ซึ่งเรื่องนี้ท่านนายกฯได้กล่าวเปิดเผยเป็นครั้งแรกในงาน ‘สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก’ ว่า ต้องการขับเคลื่อนประเทศชาติตามยุทธศาสตร์ประชารัฐให้สอดคล้องตามเนื้อหาสาระของเพลงชาติไทยที่เราขับร้องหรือได้ยินกันทุกวัน ซึ่งมีใจความว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็น ‘ประชารัฐ’ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี…”

15086379_10153968364922050_1756557569_n

โดยท่านนายกฯได้ขยายความให้เห็นอีกด้วยว่า เป็นความร่วมมือกันในการสร้างสรรค์สร้างพลังในการทำความดีให้ประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อตนเองหรือข้าราชการ แต่ทำเพื่อประชาชนทุกคน คำมั่นสัญญานี้ไม่ใช่นโยบายหาเสียง แต่ถือเป็นสัญญาระหว่างรัฐและประชาชนที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา … ว่าแต่ว่า ประชารัฐ คืออะไร และดำเนินการอย่างไร ลองมาอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษของบุคคลสำคัญ 3 ท่านนี้ดูสิครับ แล้วคุณจะเข้าใจว่า ประชารัฐ มีดีอย่างไร และจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของโคราชได้อย่างไรบ้าง15129885_10153968364932050_405944670_n

pracharat15129944_10153968364937050_137275337_n-20161121-135405

————————————————————

pracharat15151369_10153968342772050_181338600_n-20161121-135334
นายวิเชียร จันทรโณทัย |
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
KS : ประชารัฐคืออะไรครับ

“คำว่า ประชารัฐมาจากสองคำคือคำว่า ประชา และคำว่า รัฐ ซึ่งเป็นการรวมเอาพลังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะอยู่ในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ มาใช้สร้างประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ โดยมองบนพื้นฐานหลักการที่ว่า ‘คนไทยทุกคนก็คือประชาชนของชาติ’ นี่เป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่จะดึงศักยภาพของภาคประชาชนและภาคเอกชนมาร่วมทำงานกับรัฐบาล”

KS : ท่านผู้ว่าฯช่วยขยายความสักนิดครับ

“จริงอยู่ที่แต่เดิมก็เคยมีการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่ภาครัฐบาลเป็นหลัก วางแนวทาง วางกฎระบบระเบียบ แล้วมีเอกชนเป็นผู้ช่วยซัพพอร์ต แต่ประชารัฐจะตรงข้ามกัน คือจะมีพี่น้องภาคเอกชนเป็นหลักในการทำงานร่วมกันในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การค้าขายระหว่างประเทศ ไอที ระบบดิจิตอลต่างๆ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานภาครัฐบาล ในขณะเดียวกันทางภาคเอกชนก็จะมี คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่จากบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานคู่กัน แล้วก็มีคณะกรรมการดำเนินการ โดยมีแนวคิดที่จะจัดตั้งและจดทะเบียนบริษัทประชารัฐรักสามัคคีขึ้นในทุกๆ จังหวัดเพื่อให้การบริหารงานต่างๆ ง่ายขึ้น โดยทุนในการเปิดบริษัทจะมาจากการระดมทุนจัดตั้งขึ้นมา มีคณะกรรมการบริหาร มีประธาน มีผู้จัดการซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถซึ่งมีความคิดที่อยากจะช่วยเหลือสังคมดำเนินงานบริหาร”

pracharat15134313_10153968342832050_749358681_n-20161121-135322KS : กลุ่มประชารัฐฯนครราชสีมาทำหน้าที่อะไร

“สำหรับกิจกรรมของประชารัฐฯนี่ถือได้ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน โดยมีเอกชนเป็นผู้บริหาร คือการก่อตั้งมีการใช้เงินในการบริหารแต่ไม่ใช่เพื่อหวังหรือแสวงหากำไรมาปันผล แต่เพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง สิ่งที่สำคัญคือการสร้างรายได้เพื่อชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความสุขตามนโยบายรัฐบาล”

KS : ประโยชน์ที่ประชาชนชาวโคราชจะได้รับจากการจัดตั้งประชารัฐฯ

“ผมมองว่าเป็นนโยบายที่ดีของทางรัฐบาล โดยเปิดโอกาสให้ทางภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ ภาคผู้ประกอบการ มามีส่วนร่วมกันทำ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ประสบความสำเร็จในธุรกิจและงานที่ทำมากมาย ก็จะดึงศักยภาพของพวกเขาเหล่านี้มาช่วยพัฒนาสังคม ช่วยเสียสละเพื่อชุมชน อันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งและความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ นำมาซึ่งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงโอกาสในการเข้าถึงหรือได้รับสิทธิและสวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชนทุกคนทั้งในทางตรงและทางอ้อม”

pracharat15129713_10153968342792050_149637807_n-20161121-135253KS : ประชาชนชาวโคราชจะสามารถมีส่วนร่วมในประชารัฐฯได้อย่างไร

“อย่างที่เรียนไปข้างต้น สำหรับหัวใจสำคัญของประชารัฐฯคือการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน เนื่องจากการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศจะสำเร็จหรือเห็นผลเป็นรูปธรรมไม่ได้เลยหากขาดซึ่งความร่วมมือและมีส่วนร่วมระหว่างประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาล สำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์และอยากเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทก็สามารถครับ แต่ต้องบอกก่อนว่าแม้จะดำเนินงานในรูปแบบบริษัท แต่ผู้ลงหุ้นจะไม่มีการคืนหุ้นหรือปันผล เรียกว่าได้ช่วยสังคมอย่างแท้จริง อาจไม่ได้กำไรเป็นตัวเงิน แต่เป็นความสุขที่ได้ช่วยเหลือประเทศชาติและผู้อื่น ซึ่งมีการตั้งเป้าไว้ว่าแต่ละจังหวัดจะมีเงินลงทุนขั้นต้นที่ 4 ล้านบาท ในเบื้องต้นจังหวัดนครราชสีมาของเราก่อตั้งเรียบร้อยแล้ว”

15128640_10153968368927050_1019886187_n

“นอกจากนี้ คุณอาจจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ผ่านเวทีหรือช่องทางที่ถูกต้องเหมาะสม หรือเริ่มต้นได้ง่ายๆ โดยเริ่มได้ที่ตัวเอง เช่น การติดตามทำความเข้าใจในนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาของหน่วยงานของรัฐ การเคารพและปฏิบัติตนตามกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวม การเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของตนในฐานะพลเมือง และการเคารพสิทธิของผู้อื่นอย่างเท่าเทียมและการมีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือผู้อื่น”

————————————————————

pracharat15134339_10153968342767050_482767188_n-20161121-135328นายกฤช หิรัญกิจ |
ประธานกรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
KS : ประชารัฐฯมีประโยชน์ต่อโคราชอย่างไรครับ

“ผมมองว่าประชารัฐฯเป็นโครงการที่ดี ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นได้หรือพึ่งพาตัวเองได้ เศรษฐกิจฐานรากต้องดี ต้องแข็งแรง ไม่ใช่ว่าเราไปพึ่งแต่ธุรกิจส่งออก ทุกวันนี้จะเห็นว่าการส่งออกของประเทศเราติดลบมาก ณ วันนี้คือลบ 6.4 จากเมื่อก่อนเคยบวกถึง 8 ถึงอะไร ทำให้เศรษฐกิจทุกวันนี้เงียบเหงาไปหมด รัฐบาลกลับมามอง ทำยังไงจะให้เศรษฐกิจแข็งแรงและยั่งยืน คำตอบก็คือการทำให้เกษตรกรฐานรากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้น มีความสุขทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะโคราชที่เป็นจังหวัดเกษตร พอราคาพืชผลตกต่ำ ไปไม่ถูกเลย เงียบไปหมด ประชารัฐจึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยว โดยทางเราในฐานะนักธุรกิจคนหนึ่งของเมืองย่าโม ก็เล็งเห็นความสำคัญตรงจุดนี้ ทำไมเราไม่ช่วยโคราช ถ้าเราไม่ช่วย แล้วเราเองจะอยู่ได้ยังไง”

KS : คุณกฤชมองภาพรวมกลุ่มประชารัฐฯนครราชสีมาว่าเป็นอย่างไรครับ

“โจทย์ที่เราตั้งไว้คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรชาวโคราชขายผลิตภัณฑ์ของเขาได้ เราก็เข้าไปช่วยดูแลจัดการ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการส่งเสริมวัตถุดิบการผลิตต่างๆ  เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยทำแผนธุรกิจและสร้างวินัยทางการเงิน เทคนิคเกษตรอินทรีย์ การจดสิทธิบัตร หรือการสร้างมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะการให้ความรู้ในการกู้เงินและสรรแหล่งเงินทุนที่จะป้อนเข้าไปให้เขาสามารถวิวัฒนาการมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น อีกอย่างที่สำคัญที่ประชารัฐฯจะเข้าไปบริหารจัดการก็คือ เรื่องการขาย ต้องจำหน่ายให้ได้ ผลิตแล้วจะต้องสามารถนำไปขายได้ มีของแล้วต้องมีตลาดรองรับ ตรงนี้สำคัญมาก โดยเราอาจจะเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าใหม่ เรื่องบรรจุหีบห่อ การสร้างแบรนด์ การประสานงานเรื่องการสร้างตลาดใหม่ระดับประเทศกับบริษัทประชารัฐฯส่วนกลาง” 

15151383_10153968368932050_477352278_n

KS : ทิศทางในการบริหารประชารัฐฯของคุณกฤชมีอะไรบ้างครับ

“ต้องยอมรับว่าในฐานะที่พวกเราเป็นเอกชน การให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ เชื่อมโยงตลาด ทำแผนธุรกิจ สนับสนุนช่องทางการตลาดและแหล่งเงินทุนนี่เราช่วยได้ เรามองออก แต่บางเรื่องเราก็ไม่สันทัดมากนัก เราจึงได้ตั้งที่ปรึกษาซึ่งมีความชำนาญในแต่ละส่วนหลายๆ ด้าน เช่น นายกสมาคมการท่องเที่ยวปากช่อง-เขาใหญ่หรือนักวิชาการ มาเป็นคณะที่ปรึกษาของเรา ทั้งด้านการคัดเลือกผลิตภัณฑ์หรือชุมชนที่จะเข้ามาร่วมกับเรา การพัฒนาต่อยอด และให้ความรู้ทั้งการผลิตและการแปรรูป ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ในส่วนของเอกชนก็จะเช็คการตลาด ดูความต้องการของลูกค้า ประเมินว่าอะไรคือสินค้าที่ตลาดต้องการ ผลิตปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสม การโปรโมทประชาสัมพันธ์ก็เป็นส่วนสำคัญ ยกตัวอย่างผมจะไปส่งเสริมข้าวทุ่งสัมฤทธิ์ ถามว่าเขาผลิตได้ปีละเท่าไร ซึ่งข้าวทุ่งสัมฤทธิ์นี่ความจริงดังมาก อร่อยมาก คุณภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่คำถามคือทำไมคนโคราชกันเองถึงไม่นิยมกิน เราก็ต้องหาคำตอบ อาจจะเช่น ไม่มีวางขายทั่วไปหรือเปล่า ตรงนี้เราก็ต้องพัฒนาพันธุ์ข้าว เพิ่มจุดวางจำหน่าย ไปติดต่อตามห้างร้านเพื่อขอวางสินค้า ออกแบบแพ็กเก็จจิ้งใหม่ให้สวยงามน่าซื้อ และต้องประชาสัมพันธ์เปลี่ยนความคิดและปลุกจิตสำนึกของคนโคราชให้หันมาเลือกบริโภคสินค้าบ้านเกิด โคราชช่วยโคราช เมื่อเราหันมากินข้าวทุ่งสัมฤทธิ์ ความต้องการในตลาดก็มากขึ้น เราก็จะไปแจ้งกับชุมชนที่นั่นให้เพิ่มปริมาณการผลิต เกษตรกรก็มีกำลังใจ มีรายได้มากขึ้น เราก็มีทั้งข้าวคุณภาพดีๆ และได้ช่วยเหลือเกษตรกรบ้านเกิดด้วย ตรงนี้คือการร่วมมือกันอย่างแท้จริง ทุกฝ่ายได้ประโยชน์”

pracharat15086917_10153968342827050_117599457_n-20161121-135325KS : กิจกรรมของบริษัทประชารัฐฯนครราชสีมามีอะไรบ้างครับ

“ขณะนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญในการระดมทุนเพื่อให้บริษัทประชารัฐฯเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้แม้เราจะสามารถก่อตั้งเรียบร้อยแล้วในขั้นต้น แต่ก็ยังต้องการความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องชาวโคราช อาจจะในรูปแบบผู้ถือหุ้นในบริษัท แต่ตรงนี้ผมต้องเรียนก่อนว่า แม้จะดำเนินงานในรูปแบบบริษัท แต่ผู้ลงหุ้นจะไม่มีการคืนหุ้นหรือปันผล ถามว่าแล้วผู้ถือหุ้นได้อะไร อันดับแรกคือได้มีส่วนร่วมช่วยชุมชน มีสิทธิเข้ามาดูแลสอดส่องการทำงานของบริษัท สามารถช่วยกำหนดทิศทางบริษัท เลือกกรรมการเข้ามาบริหารงานบริษัทได้ และสุดท้ายคือขายหุ้นต่อให้กับคนอื่นได้ ผมคิดว่าตรงนี้คือความภูมิใจที่เราจะได้ช่วยเหลือสังคมที่เราอยู่ อย่างที่ผมเรียนไว้ตอนต้นครับ เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เราจะดีได้ สังคมที่เราอยู่ต้องดีด้วย และนี่คือเวลาและโอกาสของพวกเราที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชน”

“โดยกิจกรรมที่เราจะทำมี 3 กิจกรรมใหญ่ๆ คือ การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยทางบริษัทประชารัฐฯจะเข้าไปดูแลและเลือกเฟ้นว่าพืชชนิดใด สินค้าโอท็อปส์หรือสินค้าชุมชนประเภทใด และชุมชนไหนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างชัดเจนและมีศักยภาพเหมาะแก่การนำมาดูแลและพัฒนาต่อ เพื่อให้สินค้าและสถานที่นั้นๆ ติดตลาด พี่น้องประชาชนมีรายได้มากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และมีความมั่นคงมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ทางบริษัทก็จะมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเงินตรงจุดนี้ไปพัฒนาในแห่งอื่นๆ และส่วนอื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป”

————————————————————

pracharat15128727_10153968342787050_962397484_n-20161121-135307นายมนตรี จงวิเศษ |
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
KS : หน้าที่ของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมาคืออะไรครับ

“ประชารัฐซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานี่มีหลากหลายหน่วยงานแยกย่อยไปดูแลและแก้ไขปัญหาในส่วนต่างๆ ของสังคมไทย แต่ประชารัฐรักสามัคคีของเราทำอยู่ด้วยกัน 3 พาร์ทคือ การเกษตร แปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งจะแปลกกว่าที่อื่นเพราะเราอยากช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก แม้ในส่วนรายละเอียดจะแตกต่างไปบ้างในแต่ละจังหวัด แต่รูปแบบก็ยังคงเหมือนกันคือ เป็นบริษัทในรูปแบบรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายหลักเพื่อชุมชนไม่ใช่เพื่อกำไร เป็นรูปแบบธุรกิจที่รายได้หลักมาจากการให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจชุมชนไม่ใช่เงินจากรัฐหรือเงินบริจาค กำไรที่ได้ต้องนำไปใช้ขยายผลไม่ใช่ปันผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และต้องจัดทะเบียนในรูปแบบบริษัทครับ”

pracharat15086889_10153968342872050_1372813360_n-20161121-135339KS : ในฐานะที่คุณมนตรีเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ คุณมีหลักการคัดเลือกสินค้า ธุรกิจ หรือชุมชนเพื่อให้คำปรึกษาพัฒนาต่อยอดอย่างไรบ้างครับ

“ต้องบอกก่อนครับว่าด้วยงบประมาณขั้นต้นที่มีจำกัด ดังนั้น ขั้นต้นธุรกิจที่เราเลือกจะไม่ใช่ธุรกิจที่เริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์ แต่เป็นลักษณะต่อยอดในสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม และถ้าจะว่ากันถึงการคัดเลือกธุรกิจชุมชน เรามีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ ต้องเป็นชุมชนที่มีความแข็งแกร่งพร้อมจะช่วยกันทำงาน ต้องเป็นชุมชนซึ่งมีความชัดเจนว่าต้องการความช่วยเหลือ และสุดท้ายคือสินค้าหรือบริการนั้นๆ ต้องมีความโดดเด่นมากพอ แต่ผมต้องเรียนก่อนว่า ชุมชนนั้นๆ ก็ควรเข้ามาแสดงเจตจำนงกับทางบริษัทด้วยนะครับว่ามีความประสงค์จะเข้าร่วมหรืออยากให้ทางเราพิจารณา เปรียบได้ก็เหมือนนางสาวไทย ถ้าคุณเป็นผู้หญิงดี ผู้หญิงสวย คุณสมบัติครบ คุณก็ควรเข้ามาสมัครเอง นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณมีความตั้งใจและต้องการจอยงานกับเรา เพราะถ้าเผื่อเราไปเชิญมา แต่เขาไม่อยาก อยากนอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็จบ มันขับเคลื่อนไปต่อไม่ได้”

KS : คือทางชุมชนหรือเจ้าของสินค้าก็ต้องเข้ามาแสดงเจตจำนงกับทางบริษัทฯด้วยว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งด้วยใช่ไหมครับ

“ใช่ครับ ก็ตามที่ได้เรียนเอาไว้ข้างต้น บริษัทประชารัฐรักสามัคคีคือวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งต้องประกอบด้วยรัฐสนับสนุน เอกชนขับเคลื่อน วิชาการให้องค์ความรู้ ประชาสังคมสร้างความเข้มแข็ง และสำคัญที่สุดคือประชาชนลงมือทำ และเมื่อคุณเข้ามายื่นใบสมัคร ทางเราก็จะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติโอเคที่สุด เหมาะจะพัฒนาต่อที่สุดมาเข้าร่วมโครงการตามลำดับ โดยจังหวัดนครราชสีมามีดีกว่าคนอื่น อันดับแรกคือเป็นจังหวัดที่ใหญ่ ทรัพยากรต่างๆ มีมากมายหลากหลาย ประชากรเยอะมาก ถ้าไม่นับกรุงเทพฯคือมากที่สุดในประเทศไทย อันดับที่สองคือมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้มแข็งและเป็นนักพัฒนาพร้อมซัพพอร์ตทุกอย่าง มีท่านประธานฯซึ่งมีคอนเน็กชั่น ประสบการณ์ และความรู้อย่างยิ่งยวดในการทำธุรกิจ ประสบความสำเร็จมากมาย และมีมหาวิทยาลัย 3 แห่งหลักๆ ซึ่งมีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งด้านการเกษตร การตลาด การแปรรูป หรือการบริหารจัดการ เป็นต้น ที่ประสงค์จะช่วยสนับสนุนเรา ตรงนี้ผมว่าตอบโจทย์ที่สุด”

15151133_10153968368922050_1188703984_n

KS : ความคาดหวังในอนาคต

“เรามีรูปแบบของ ‘บ้านไร่ธีระวงศ์’ เป็นโมเดล เป็นต้นแบบ เมล่อนเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษของที่นี่คุณภาพสูง ขายได้ราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดมาก ขายสดก็ได้ราคาดี คัดไปแปรรูปก็เป็นที่นิยมในท้องตลาด แถมยังสามารถเปิดไร่ให้เป็นที่ท่องเที่ยวทางการเกษตรได้อีกด้วย ตรงนี้คือแนวทาง เราอยากเห็นทุกๆ ชุมชนในจังหวัดมีลักษณะนี้ มีผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ขายได้ราคาสูง สามารถนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า และต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากที่เราจะมีโมเดลเป็นบ้านไร่ธีระวงศ์ซึ่งเราได้เรียนเชิญเป็นที่ปรึกษาแล้ว วันก่อนที่ผมและทีมงานได้ไปอบรมสัมมนาเกี่ยวกับผู้บริหารของประชารัฐฯ เขาได้ให้แนวทางแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการจากการอบรมมากมาย ที่สำคัญคือเราได้พันธมิตรเยอะมากจากหลายจังหวัด ยกตัวอย่างจังหวัดภูเก็ตหรือพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว โรงแรมเค้ามากมาย กำลังซื้อสินค้ามีมาก เรารู้เลยเขาต้องการผักสดอาหารสดมากๆ เพราะเขาผลิตเองไม่ได้ ต้องซื้อ ตรงนี้เราเห็นโอกาส ถ้าแต่ละจังหวัดมาจอยกัน เขาแจ้งเรามาว่าต้องการอะไร เราผลิตสินค้าคุณภาพซึ่งเป็นชนิดและปริมาณมากพอที่เขาต้องการ เขาก็ซื้อ เป็นวันสต๊อปเซอร์วิส ทั้งสองจังหวัดก็วิน-วิน เขาได้สินค้าดี เกษตรกรของเราก็มีรายได้เพิ่มขึ้นและไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ออก เพราะเราไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง เราเป็นแค่คนกลางเพื่อจัดการและเอื้อประโยชน์ให้ชุมชนมากที่สุด เพราะฉะนั้นตรงนี้ล่ะที่จะช่วยให้ประเทศชาติของเราให้อยู่ได้อย่างมั่งคั่งมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน”


แหล่งที่มา : นิตยสารหอการค้า NCC Business Korat ฉบับที่ 12 เดือนตุลาคม 2559
ภาพประกอบ : ธนนันต์ อัจฉริยวรกุล


Comments are closed.

Check Also

THE GROWTH MUST GO ON | เจาะประเด็นพิเศษ เมกะโปรเจ็กต์ ‘โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ – สายไฟลงดิน’ กับ นายมงคล ตรีกิจจานนท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา

พาดหัวแบบนี้เชื่อแน่ว่าหลายคนคงต้องห่อปากกู่ร้องส่งเสีย … …