เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา เร่งแก้ปัญหาขยะล้น ล่าสุด ขอใช้พื้นที่กองทัพบก 16 ไร่ ฝังกลบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนระยะยาวเล็งโรงงานกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่หนองแขม กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบ ประสิทธิภาพจัดการขยะ 500 ตันต่อวัน มูลค่าลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท เตรียมนำเข้าที่ประชุมเพื่อหาข้อสรุป ระหว่างนี้จึงมีนโยบายให้หน่วยงานราชการในพื้นที่คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างจริงจังและตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้คุ้มค่า

 

วันที่ 12 กรกฎาคม เมื่อเวลา 10.00 น. ภายหลังจากการจัดกิจกรรมบิ๊ก คลีนนิ่งเดย์ที่ตลาดเทศบาล 5 (ประตูไชยณรงค์) เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาขยะค้างที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมาว่า ขณะนี้มีขยะที่นำมากำจัดและฝังกลบ มีปริมาณเต็มบ่อแล้ว เนื่องจากเทศบาลนครฯ ต้องรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่ง เบื้องต้นได้บรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ของกองทัพบก จำนวน 16 ไร่ ส่วนระยะยาว คณะทำงานได้เดินทางไปศึกษาดูงานโรงงานกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ซึ่งมีประสิทธิภาพจัดการขยะ 500 ตันต่อวัน มูลค่าลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท

 

จากนั้นคณะทำงานจะนำเข้าที่ประชุมเพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปัญหาขยะเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไขอย่างจริงจัง จึงมีนโยบายให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ จัดกิจกรรมรณรงค์งดใช้โฟม พลาสติก และคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง เป็นประจำทุกวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ได้จัดประกวดสถานที่ราชการสะอาดเรียบร้อย เพื่อมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ สร้างแรงจูงใจร่วมกันรักษาความสะอาดอย่างจริงจังและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน

 

n20141116123320_28568

 

เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนี้ มีปริมาณขยะถูกนำมากำจัดวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 500 ตัน โดยแบ่งเป็นขยะในพื้นที่ของเทศบาลฯเฉลี่ย 230 ตัน และขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.เมือง อ.ขามทะเลสอ อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.โชคชัย บางส่วนรวมทั้งสิ้น 38 แห่ง ถูกนำมาทิ้งกว่า 300 ตัน แต่ระบบที่มีอยู่ตอนนี้สามารถกำจัดขยะเพื่อแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานไฟฟ้าเป็นผลผลิตไม่เกิน 200 ตัน/วันเท่านั้น จึงส่งผลให้มีขยะมูลฝอยตกค้างที่ไม่สามารถกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเฉลี่ยกว่า 200 ตัน/วัน นำมาสู่ปัญหาขยะล้นล้นเมือง ส่งกลิ่นเหม็นและทำให้น้ำเน่าเสียอย่างทุกวันนี้ แต่เทศบาลฯก็มิได้นิ่งเฉย พร้อมเร่งได้ออกแบบศึกษาความเหมาะสม เพื่อดำเนินโครงการเฟส 2 สามารถรองรับขยะให้ได้มากกว่า 600 ตัน ส่วนการบรรเทาปัญหาขยะล้นบ่อ อยู่ระหว่างเจรจาขอใช้พื้นที่เปิดบ่อขยะฝังกลบ

 

พร้อมกันนี้ ยังขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำขยะมาทิ้งร่วมกัน ให้ตระหนักและส่งเสริมกิจกรรมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างจริงจัง หรือใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้คุ้มค่า เพื่อลดขยะต้นทางให้ได้แห่งละ 10% หากไม่มีผลปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เทศบาลฯอาจกำหนดปริมาณการนำขยะทิ้งตามความเหมาะสม ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากกองขยะไหลเข้าหมู่บ้าน เทศบาลฯได้ออกแบบรางน้ำพร้อมสร้างคันกั้นไม่ให้น้ำเสียไหลทะลักออกมา ส่วนกลิ่นเหม็นได้นำปูนขาวและสารอีเอ็มมาโรย จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง

 

แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …