ความคืบหน้า “รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น” โปรเจ็กต์ความร่วมมือของสองมิตรประเทศมหาอำนาจด้านระบบรางแห่งเอเชีย ที่กำลังรุกหนักในยุค “รัฐบาล คสช.”

รื้อใหญ่รถไฟไทย-จีน

ล่าสุดมีความเป็นไปได้สูง โครงการอาจจะถูกแปลงร่างจากรถไฟความเร็วปานกลางวิ่งด้วยความเร็ว 160-180 กม./ชม. ขนทั้งผู้โดยสารและสินค้ามาเป็นรถไฟความเร็วสูง วิ่งด้วยความเร็ว 200-250 กม./ชม. ใช้ขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียว

หลัง “ไทย-จีน” หารือกันนอกรอบ อาจปรับเส้นทางจากเดิมกรุงเทพฯ-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กม. โดยหั่นค่าก่อสร้างช่วง “แก่งคอย-มาบตาพุด” ออกกว่า 1 แสนล้านบาท และปรับแบบช่วง “นครราชสีมา-หนองคาย” ระยะทาง 355 กม. จากทางคู่เป็นทางเดี่ยว สามารถลดค่าก่อสร้างได้กว่า 4-5 หมื่นล้านบาท โดยเร่งสร้างช่วง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ระยะทาง 271.5 กม.เป็นลำดับแรก

14550974711455097521l

ขณะเดียวกัน ปรับวัตถุประสงค์โครงการใหม่ เน้นขนส่งผู้โดยสาร ส่วนการขนส่งสินค้าจะใช้รถไฟทางคู่ราง 1 เมตร โดยขนส่งสินค้าจากลาวจะถูกมากองไว้ที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์สินค้า (CY) ที่สถานีนาทา มายังท่าเรือมาบตาพุดแทน

เพราะฉะนั้น เมื่อโครงการนี้ไม่ใช้ขนส่งสินค้า ก็สามารถปรับความเร็วได้ 250 กม./ชม.เท่ากับรถไฟความเร็วสูงได้

ฟื้นไฮสปีด กทม.-หนองคาย

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับแบบและเส้นทางล่าสุด มีความเป็นไปได้สูงที่รถไฟไทย-จีนจะกลับมาเป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทั้งไทยและจีนมีผลการศึกษาเดิมอยู่แล้ว

“ก่อนหน้านี้รัฐบาล คสช. นำโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายมาปรับเป็นรถไฟความเร็วปานกลางและเพิ่มเส้นทางช่วงแก่งคอย-มาบตาพุดล่าสุดเมื่อปรับแบบใหม่ก็กลับมาใช้ผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงเหมือนเดิมเพื่อให้โครงการได้เดินหน้าทันกำหนดที่2 รัฐบาลจะก่อสร้างเดือน พ.ค.นี้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลศึกษารถไฟความเร็วสูงเดิมที่จีนศึกษาให้เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายเมื่อหลายปีที่ผ่านมา มีระยะทาง 615 กม. สร้างตามแนวรถไฟเดิม รูปแบบก่อสร้างอยู่ระดับดินตลอดเส้นทาง ค่าก่อสร้าง 198,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 330 ล้านบาท/กม.

14550974711455097527l

เฟสแรกลงทุน 1.7 แสนล้าน

ขณะที่ผลศึกษารถไฟความเร็วสูงของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาแล้วเสร็จและส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วในช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กม. เงินลงทุน 176,598 ล้านบาท มีค่าเวนคืนกว่า 8,000 ล้านบาท ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. อยู่ระหว่างทำรายงานอีไอเอจะเสร็จเดือน ก.พ.นี้ ใช้เงินลงทุนกว่า 2.4 แสนล้านบาท มีค่าเวนคืน 5,000 ล้านบาท

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงช่วง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” หากไทย-จีนเคาะกลับมาใช้โมเดลรถไฟความเร็วสูง มีจุดเริ่มต้นที่สถานีบางซื่อผ่านดอนเมือง พระนครศรีอยุธยา มาถึงชุมทางบ้านภาชี แยกเข้าสู่เส้นทางรถไฟสายอีสาน จากบ้านภาชีมุ่งหน้าเข้าสู่ จ.สระบุรี ผ่านสถานีปากช่อง แล้วเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองไปยังสถานีปลายทางที่นครราชสีมา

ที่ตั้งสถานีถัดจากสถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง พระนครศรีอยุธยา ภาชี จะสร้างอยู่ที่เดิม มาถึงสระบุรีจะสร้างอยู่ที่ใหม่ ห่างสถานีรถไฟเดิม 3 กม. เยื้องศูนย์การค้าเซ็นทรัล สถานีปากช่องจะอยู่ที่ราชพัสดุหนองสาหร่าย ห่างสถานีเดิม 5 กม. และสถานีนครราชสีมาจะอยู่ที่เดิม มีเวนคืนที่ดิน 926 ไร่ ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคายมี 3 สถานี คือ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย เบื้องต้นตำแหน่งอยู่ที่สถานีรถไฟเดิม

ขณะที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า อยู่ระหว่างปรับรายละเอียดยังไม่ได้ข้อสรุป แต่หากจะเป็นไฮสปีดเทรนก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะจีนออกแบบรองรับความเร็ว 200-250กม./ชม.ไว้อยู่แล้ว

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2 ตั้งแ … …