กระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดรางมาตรฐาน (รถไฟความเร็วปานกลาง-สูง) ที่โคราช เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 59 เวลา 09.30 น. ณ ห้องสุรนารีบอลรูม โรงแรมดุสิต ปริ้นเซส จังหวัดนครราชสีมา นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดรางมาตรฐาน ครั้งที่ 4 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งจังหวัดสำคัญในแนวเส้นทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน จึงได้มีการจัดงานสัมมนาขึ้น เพื่อรวบรวมข้อคิดความเห็นจากทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาโครงการให้สอดคล้องและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและท้องถิ่นอย่างแท้จริง นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในขณะที่นานาประเทศ กำลังเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพและสามารถเชื่อมต่อสู่ประเทศอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้าให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ก็นับเป็นโอกาสของประเทศไทย ซึ่งมีทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการขนส่งของภูมิภาคด้วยการคมนาคมขนส่งหลากหลายรูปแบบ กระทรวงคมนาคมมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะระบบรางซึ่งเป็นรูปแบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถขนส่งผู้คนและสินค้าได้ในปริมาณมาก ด้วยราคาต่อหน่วยที่ถูกกว่าระบบอื่นๆ โดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี จากปัจจุบันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจากร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 5 ลดความสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มปริมาณผู้โดยสารทางรถไฟจาก 45 ล้านคน-เที่ยว/ปี เป็น 75 ล้านคน-เที่ยว/ปี ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในระยะ 8 ปี (พ.ศ. 2558-2565) ได้เร่งรัดพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีแผนการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดทาง 1 เมตร ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร ซึ่งจะเริ่มทยอยก่อสร้างในปีนี้ไปจนถึงปี 2564 หลังจากนั้นจะพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดทาง 1 เมตร ระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 1,500 กิโลเมตรเมตร รวมทั้งจะมีการพัฒนาทางรถไฟสายใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการและเชื่อมต่อโครงข่ายกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 3 เส้นทาง ระยะทาง 688 กิโลเมตร รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาแนวเส้นทางรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor) อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ผ่านจังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครพนม รวมระยะทางประมาณ 910 กิโลเมตร และ 2) เส้นทางกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทางรวม 484 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการพัฒนาระบบราง โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยดีกันมาครบ 40 ปีในปีนี้ และยังเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีระบบคมนาคมขนส่งทางรางของโลกที่พร้อมจะถ่ายทอดและให้ความช่วยเหลือแก่ไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาระบบรางได้ด้วยตนเองในอนาคต ประเทศจีนมียุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสร้างเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งใกล้และไกล โดยมีเป้าหมายจะเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย และนับเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงการเส้นทางรถไฟ ตามกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทางประมาณ 845 กิโลเมตร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้นเป็นผู้ลงนามของฝ่ายรัฐบาลไทย และผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติเป็นผู้ลงนามของฝ่ายรัฐบาลจีน ณ ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 เส้นทางนี้ไม่เพียงทำให้ไทยเชื่อมโยงระบบรางเข้ากับประเทศจีนได้โดยตรง โดยผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจะช่วยยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญในการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคตลอดแนวเส้นทางที่รถไฟพาดผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทุกจังหวัดในแนวเส้นทางมีแผนการพัฒนารองรับเส้นทางรถไฟสายนี้ได้อย่างสอดรับกับบทบาทและศักยภาพของพื้นที่อย่างแท้จริง ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน (แผนพัฒนาฉบับที่ 11) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพและบทบาทเป็นฐานการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทนของประเทศ เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเอทานอล เป็นประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่อินโดจีน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี อารยธรรมขอม วัฒนธรรมประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศ ดังนั้น จังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ที่มีวิสัยทัศน์ในการเป็น “เมืองหลวงแห่งภาคอีสาน” การจัดสัมมนาที่จังหวัดนครราชสีมาในวันนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่จะได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ถึงประเด็นของโครงการรถไฟไทย-จีน ว่าจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและท้องถิ่นอย่างถ้วนหน้าได้อย่างไร ที่มาข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market