นับเป็นข่าวดีที่ “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” กำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 แน่นอนว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายภูมิภาค รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรจะค่อยๆ ทุเลาความรุนแรงลงไปด้วย ทว่า ช่วงครึ่งปีหลังประเทศไทยจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ “ลานีญา” เต็มรูปแบบ นั่นหมายความว่ามีแนวโน้มสูงที่จะต้องเผชิญกับฝนตกหนักรุนแรงได้ Credit : Jugkapun Rakmit (ภาพที่ 1), chaoprayanews.com (ภาพที่ 2) และ theatlantic.com (ภาพที่ 3) ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” เสมือนเป็นคู่ตรงข้ามของปรากฏการณ์ “ลานีญา” โดยเอลนีโญจะทำให้อุณหภูมิของผิวมหาสมุทรแปซิฟิคบริเวณเส้นศูนย์สูตรร้อนขึ้น ทำให้พื้นที่หนึ่งเกิดภัยแล้งหนัก ขณะที่ลานีญาจะทำให้เย็นลง ทำให้พื้นที่นั้นเกิดภัยน้ำท่วมจากฝนตกหนักได้ เช่นเดียวกับวิกฤติอุทกภัยเมื่อปี 2554 อันมีปรากฏการณ์ลานีญาเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ฝนตกหนักและยาวนานผิดปกติ น้ำจึงไหลบ่าทางจังหวัดภาคเหนือ ก่อนที่มวลน้ำจะไหลท่วมขังในกรุงเทพ (กทม.) เป็นเวลาหลายสัปดาห์ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่า 1.425 แสนล้านบาท สายพานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยได้รับความเสียหายข้ามปี Credit : ไทยรัฐออนไลน์ ในขณะที่ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2558 ก็ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันไม่ว่าจะเป็น ข้าว ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ทำให้จีดีพีประเทศไทยในปีที่แล้วไม่เติบโตนัก เมื่อมองทั้ง 2 เหตุการณ์ของสภาพอากาศที่ต่างสุดขั้ว จะพบว่าการบริหารจัดการดูจะเป็นปัญหาหลักพอๆ กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นก็ว่าได้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในปีนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการรับมือกับปรากฏการณ์ลานีญาอย่างไร ในเมื่อการพยากรณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญานั้นสามารถทำได้กันข้ามปี โดยมีองค์กรนานาประเทศที่ได้รับความเชื่อถือสูงเผยแพร่ข่าวสารการพยากรณ์เป็นประจำ เช่น National Oceanic and Atmospheric Administration ของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือที่รู้จักกันในนาม “โนอา” และ Australian Bureau of Meteorology ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปรากฏการณ์ลานีญาที่จะเกิดในกลางปี 2559 นี้ มีการเผยแพร่ข่าวสารการพยากรณ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจึงเป็นเครื่องย้ำเตือนอย่างดีให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทยต้องตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อประมาณ 40% ของประชากรทั้งหมดเป็นเกษตรกร (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร) ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ จึงอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในวงกว้าง ซ้ำยังทำให้ปัญหาความยากจนเลวร้ายขึ้นจากการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร ประเทศไทยเองก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีด้านการพยากรณ์ภูมิอากาศก้าวหน้าเช่นนี้ การเตรียมรับมือยิ่งเป็นไปได้มากขึ้นอยู่ที่ว่าจะให้ความสนใจหรือไม่เท่านั้น แหล่งข้อมูล : greennewstv.com
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market