มะพร้าวน้ำหอมของไทยได้รับการยอมรับว่า มีรสชาติที่หอมหวาน เต็มไปด้วยคุณภาพเหนือประเทศคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่ในเอเชีย ทำให้ “บรรพต เคลียพวงทิพย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคโค่ อีซี่ จำกัด ซึ่งถือเป็นศิษย์เก่าวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รุ่น 1 ได้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมเผาขึ้นมา

แต่ทั้งนี้ ก็ได้มองเห็นปัญหาที่ว่า มะพร้าวเป็นผลไม้ที่มีขั้นตอนยุ่งยากในการปอกเปลือก เพราะเป็นผลไม้เปลือกหนา หากสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ก็น่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าในตลาดโลกได้ เป็นที่มาของการคิดค้นนวัตกรรมมะพร้าวเผาติดฝาพร้อมดื่ม ภายใต้แบรนด์ Coco Easy

 

 

จุดเริ่มต้นของการทำ Coco Easy

เดิมทีผมเป็นวิศวกรเกี่ยวกับระบบสื่อสารดาวเทียม ไม่ได้อยู่ในสายงานอาหารเลย แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบทานน้ำมะพร้าวเผามาก ถ้าเจอที่ไหนจะต้องซื้อกิน เพราะรู้สึกว่าเป็นเครื่องดื่มที่ให้ทั้งพลังงานและความสดชื่น ถึงขนาดเคยซื้อมาแช่ตู้เย็นไว้ที่บ้าน แต่ปรากฎว่าเปิดกินเองไม่ได้ เพราะเปลือกมันหนามาก ใช้มีดก็ไม่เป็น เฉาะจนน้ำมะพร้าวกระจายออกมาหมด เวลาจะกินก็คือต้องให้แม่ค้าเขาเฉาะมาให้ หรือซื้อแบบที่ใส่ถุงเอาไว้แล้วเท่านั้น ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าสดหรือเปล่า เรามองว่าการจะกินมะพร้าวนี่มันยุ่งยาก น่าจะมีใครคิดค้นวิธีเปิดลูกมะพร้าวที่มันง่ายกว่านี้ พอมีเวลาว่างจากการทำงาน ก็จะคิดหาเครื่องไม้เครื่องมือในการนำมาเปิดลูกมะพร้าว

      

2013102161439
Credit : siamzone

 

ธุรกิจที่ใครๆ ก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้?

พอเขียนแบบออกมาได้แล้ว ก็ลองมาคำนวณค่าใช้จ่ายในการผลิต ก็พบว่ามันมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากกว่าที่คิดไว้ เราก็เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ได้มีเงินเพื่อการลงทุนอะไรมากมาย ก็เลยลองไปชวนเพื่อนๆ ให้มาเข้าหุ้นทำดู ก็ไม่มีเพื่อนคนไหนสนใจ เพราะคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้

เคยถึงขนาดเอาไอเดียไปเสนอให้คนอื่นทำ เขายังไม่ทำ บางคนหัวเราะผมด้วยซ้ำ เพราะไม่คิดว่ามันจะทำได้ หรือไม่ก็มองว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำ ตอนนั้นก็เริ่มคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ไอเดียที่คิดขึ้นมา คงไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเราไม่ลงมือทำด้วยตัวเอง

เราก็เริ่มต้นจากการซื้อเครื่องจักรตัวเล็กๆ มาปรับปรุงให้มันทำงานได้ แต่ก่อนที่จะซื้อ ก็ได้มีการไปปรึกษากับผู้รู้หลายๆ ท่าน ทั้งในส่วนของการผลิต และทางด้านการตลาด เก็บข้อมูลให้ไ้ด้มากที่สุดแล้วนำมาดีไซน์ จนเรามีความมั่นใจกว่า 80% ว่ามันเป็นไปได้จริง ถึงได้ยอมควักตังค์ซื้อเครื่องจักร เพราะมันก็มีราคาที่สูง แต่ถ้าเราถือมะพร้าวไปให้ร้านเลเซอร์ทำให้ แล้วบอกผมอยากได้แบบนี้ เผลอๆ เดินยังไม่ถึงบ้านเลยเขาอาจประดิษฐ์ออกมาแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น พอเราประดิษฐ์ออกมาได้แล้ว เราก็ยื่นจดสิทธิบัตรทันที”

นั่นคือตอนที่คุณบรรพตย้ำตลอดเวลาว่าสำคัญ คือคิดประดิษฐ์ให้ลงตัวเงียบๆ เก็บทรัพย์สินทางปัญญาให้ดีๆ เมื่อสำเร็จให้รีบจดสิทธิบัตร แล้วยื่นขอความคุ้มครองตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือว่า PCT ซึ่งจะช่วยคุ้มครองสิทธิในการทำงานของเราไปมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก

  

Screen Shot 2016-07-22 at 10.21.41 AM
Credit : SMEs TeeRak (Youtube)

 

อุปสรรคในการทำ Coco Easy    

กว่าจะมาเป็นมะพร้าวเผาติดฝาพร้อมเสิร์ฟได้นั้น ต้องผ่านการลองผิดลองถูกหลายอย่าง เพราะการใช้เลเซอร์เจาะลงไปบนตัวมะพร้าวนั้น ต้องใช้ความชำนาญสูง หากยิงเลเซอร์แรงจนเกินไปก็อาจจะทะลุ ส่งผลให้ลูกมะพร้าวเสียหาย หรือหากยิงเลเซอร์เบาเกินไปก็จะทำให้ดึงฝาไม่ออก

“เทคนิคการเจาะมะพร้าวน้ำหอมเผาให้กินง่าย กว่าจะสำเร็จก็ต้องลงทุนไปกับเครื่องเลเซอร์หลายแสนบาท ยังไม่นับรวมมะพร้าวอีกหลายร้อยลูกในการลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้ระดับเลเซอร์กับรอยเปิดที่เหมาะสม จากนั้นจึงติดฝาห่วงแบบ Easy Open ไว้บนลูกมะพร้าวอีกทีหนึ่ง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำและเนื้อมะพร้าวที่อยู่ด้านใน

 

Screen Shot 2016-07-22 at 10.22.34 AM
Credit : SMEs TeeRak (Youtube)

ปัญหาแรกๆ ที่พบเมื่อสินค้าออกสู่ตลาด

สินค้าล็อตแรกออกวางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2556 เราเริ่มต้นจากการเข้าไปนำเสนอที่ฟู้ดแลนด์ และห้างสรรพสินค้าแม็กซ์แวลู่ ซึ่งทั้ง 2 ที่ก็ให้ความสนใจ ให้เอาสินค้าเข้าไปวางขายได้เลย

แต่ในช่วงนั้น เนื่องจากเรามีเครื่องจักรแค่ตัวเดียว กำลังการผลิตจึงน้อย ได้แค่ไม่กี่ร้อยลูกต่อวัน รวมๆ แล้วน่าจะผลิตได้แค่ 800 ลูกต่ออาทิตย์เท่านั้นเอง ที่จริงแล้วทางห้างต้องการมากกว่านี้ เพราะสินค้ามันขายดี แต่เราทำให้ไม่ไหว เพราะช่วงนั้นเรายังทำงานประจำอยู่ด้วย พอเลิกงานก็ต้องมาทำตรงนี้ต่อ ก็ช่วยกันทำกับแฟน 2 คนที่บ้าน ต้องขับรถส่งออกเองด้วย ตี 3 ตี 4 ก็ยังขับรถส่งของอยู่ มันหนักมากขนาดที่ว่าพอเจอปั๊มต้องจอดนอนแป๊ปนึง แล้วค่อยไปต่อ พอเจอปั๊มข้างหน้าก็จอดนอนอีก เพราะร่างกายมันไม่ไหว

พอดีกับช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว มะพร้าวขาดตลาดทั้งประเทศ ทางห้างเขาก็รู้ว่ามันไม่มีวัตถุดิบ ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งให้ได้ ก็เลยบอกทางห้างไปว่าขอหยุดส่งสินค้าไว้ก่อน เพราะนอกจากปัญหาการขาดวัตถุดิบแล้ว เราเองยังขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน อยากจะกลับมาพัฒนาปรับปรุงเรื่องการผลิตให้มันดีขึ้น เร็วขึ้นกว่านี้ก่อน”

ทั้งนี้ ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่นั้น ต้องมีการลงทุนทางด้านเครื่องจักรเพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ ในอนาคตก็จะมีปัญหาอีก หากต้องส่งสินค้าเข้าห้างที่มีความต้องการซื้อสินค้าในปริมาณมาก

 

Screen Shot 2016-07-22 at 10.46.59 AM
Credit : SMEs TeeRak (Youtube)

      

เปลี่ยนจุดขายจากห้างที่ต้องการสินค้าปริมาณมากๆ เป็นสนามกอล์ฟที่ต้องการสินค้าน้อยๆ แต่ผ่านตานักลงทุน

“สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ การหาทุนมาเพิ่ม ก็ไปเอาชื่อเพื่อนมาลงทุนเปิดเป็นรูปแบบบริษัทร่วมกัน แต่ก็มีผมทำคนเดียวเหมือนเดิมนี่แหละ ตอนนั้นเรามองไปที่การหาคนเข้ามาลงทุน จะไม่ลงทุนเอง เลยเปลี่ยนตลาดจากการนำสินค้าเข้าห้าง มาเป็นเอาสินค้าเข้าสนามกอล์ฟแทน เพราะต้องการมองหานักลงทุน อีกทั้งคนที่มาเล่นกอล์ฟ เป็นคนที่มีกำลังซื้อ สามารถตั้งราคาสินค้าได้สูงกว่าการขายในห้าง และไม่ต้องผลิตในปริมาณที่เยอะมากเหมือนเวลาส่งสินค้าเข้าห้างอีกด้วย

หลังจากนั้นก็ได้รับการติดต่อเข้ามาจากนักลงทุนเยอะมาก ใจผมตอนนั้นอยากจะหาใครสักคนเข้ามาลงทุน หรืออาจจะเข้ามาซื้อกิจการไปเลยก็ได้ แล้วผมก็จะกลับไปทำงานประจำเหมือนเดิม แต่ทีนี้นักลงทุนที่สนใจ และติดต่อเข้ามา ก็คุยกันไม่ลงตัวในเรื่องของผลประโยชน์

ในระหว่างนั้นเราก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม คือ พอเสร็จจากงานประจำ ก็วิ่งส่งของเข้าสนามกอล์ฟใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เลือกเอาสนามกอล์ฟที่อยู่ใกล้บ้าน หรือไม่ก็ใกล้ที่ทำงานเป็นหลัก เพื่อความสะดวกในการวิ่งส่งของ ช่วงนั้นก็เริ่มมีส่งออกไปฮ่องกงบ้างแล้ว ก็เป็นลูกค้านี่แหละที่ส่งไปขาย เขามารับสินค้าถึงที่บ้านเลย ความต้องการสินค้ามันเยอะ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องอายุการจัดเก็บ ทำให้ต้องส่งแบบรวดเร็วด้วยระบบขนส่งทางอากาศ ซึ่งก็ไม่คุ้มกับต้นทุน แต่ในท้ายที่สุด บรรพตก็ได้พบกับนักลงทุนที่เหมาะสม จึงตัดสินใจขายหุ้นบริษัทให้ และให้สิทธิในการเข้ามาดูแล และบริหารงาน ให้มีความเป็นระบบมากขึ้น

 

Desktop41
Credit : khajochi

      

แก้ไขข้อจำกัดของสินค้า

ส่วนปัญหาในเรื่องอายุการจัดเก็บ ก็ได้ไปขอคำปรึกษาจาก ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และดร.เอกพงษ์ ชีวิตโสภณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ได้รับคำแนะนำให้เลือกใช้กระบวนการแช่เยือกแข็งโดยใช้ไนโตรเจนเหลว ซึ่งจะช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น โดยที่ลักษณะเนื้อสัมผัส และรสชาติไม่แตกต่างจากมะพร้าวเผาที่จำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด

ในขณะนี้อายุของสินค้าจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าวางอยู่ข้างนอก อากาศบ้านเรามันร้อนก็อาจจะได้แค่วันเดียว แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นที่เปิดๆ ปิดๆ อยู่ตลอด ก็จะได้ซักอาทิตย์หนึ่ง แต่ถ้าขนส่งใส่ตู้คอนเทนเนอร์ที่ปิดสนิท ควบคุมความเย็น ความแห้ง และสะอาดก็จะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ขึ้นอยู่กับการจัดเก็บเป็นหลัก

 

Screen Shot 2016-07-22 at 10.47.42 AM
Credit : SMEs TeeRak (Youtube)

 

ตอนนี้ Coco Easy ส่งออกให้กับประเทศอะไรบ้าง

ตอนนี้เลยสามารถส่งออกไปยังประเทศใกล้ๆ เท่านั้นอย่างออสเตรเลีย ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดหลักกว่า 95% ที่เหลือจะมีวางขายในไทยบ้างตามสนามกอล์ฟ และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ซึ่งที่จริงแล้วตอนนี้มีออเดอร์เข้ามาจากทั่วโลก แต่เรายังติดปัญหาอยู่ 2 เรื่องหลักๆ ที่ทำให้ยังส่งสินค้าไปไม่ได้

เรื่องแรกเลย ก็คือ การยืดอายุสินค้า ที่จริงแล้วมีโซลูชั่นการแช่แข็งอยู่ตัวหนึ่ง เป็นของทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบังเป็นการแช่แข็งมะพร้าวทั้งลูก ที่จะช่วยคงสภาพสินค้าให้เหมือนเดิมได้ 1 ปี แต่เราต้องเอามาพัฒนาต่อเอง ซึ่งต้องใช้เงินในการลงทุนเยอะมาก พอดีว่าเราได้รับเงินทุนจากนักลงทุนคนหนึ่งเพิ่ม จึงสามารถนำมาพัฒนากระบวนการแช่แข็งตัวนี้ได้ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนาโซลูชั่นอยู่

เรื่องต่อมา คือ การผลิต ตอนนี้เราย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมรังสิต และเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมวันละไม่กี่ร้อยลูก เป็นวันละ 1,000 ลูก และจะขยับไปเรื่อยๆ จนถึงหลักหมื่นต่อวัน ตอนนี้กำลังการผลิตของเราพร้อมแล้ว แต่ยังติดตรงเรื่องการขอมาตรฐานการผลิตต่างๆ ในการส่งออกสินค้า เนื่องจากเราวางเป้าหมายไว้ว่าจะส่งสินค้าไปขายทั่วโลก จึงต้องใช้เวลาสักระยะ เพราะแต่ละประเทศก็มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไป รวมถึงในเรื่องของการจดสิทธิบัตรทั่วโลกด้วย เพราะตอนนี้เราจดสิทธิบัตรแค่ในไทยเท่านั้น ถ้าทั้ง 2 เรื่องหลักนี้สำเร็จเมื่อไร ก็จะสามารถส่งออกสินค้าไปได้ทั่วโลกทันที เพราะตอนนี้ก็มีออเดอร์เข้ามารออยู่แล้ว

ก็วางแผนไว้ว่าจะเริ่มต้นขยายตลาดจากประเทศใกล้ๆ ก่อน เพื่อรอดูว่าผลตอบรับดีไหม หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นจะได้แก้ไขได้ทัน แล้วค่อยๆ ขยายโซนออกไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมทั่วโลก เพราะถ้าลงสินค้าพร้อมกันเลยทีเดียวทุกโซน แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา มันจะแก้ไขไม่ทัน”

 

Screen Shot 2016-07-22 at 10.47.15 AM
Credit : SMEs TeeRak (Youtube)

      

ต้นทุนการผลิตก็สูง แถมผลิตได้น้อยอีก แล้วแบบนี้วิธีการตั้งราคาขายอย่างไร?

สำหรับเรื่องราคาขายนั้น ขึ้นอยู่กับลูกค้าในแต่ละประเทศจะเป็นคนตั้งราคา เพราะแต่ละประเทศก็จะมีต้นทุนในการขนส่งที่แตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับสถานที่ในการวางจำหน่ายด้วย

อย่างในประเทศไทย ถ้าวางขายในห้างสรรพสินค้า ก็จะตั้งราคาอยู่ที่ 50-55 บาท แต่ถ้าเป็นในภัตตาคาร หรือในโรงแรมก็สามารถตั้งราคาขายได้สูงถึง 100-120 บาท ส่วนในเมืองนอกก็จะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทถึงแม้จะโฟกัสไปที่ตลาดส่งออกเป็นหลักกว่า 95% แต่คุณบรรพตก็ไม่ได้ทิ้งตลาดในประเทศ แต่มองว่าจะต้องเป็นกลุ่มเป้าหมายในระดับบน อย่างเช่นตามภัตตาคาร,โรงแรม, รีสอร์ท, ห้างหรู รวมถึงในสนามกอล์ฟ

 

Screen Shot 2016-07-22 at 10.25.31 AM
Credit : SMEs TeeRak (Youtube)

      

มะพร้าวน้ำหอมเผาติดฝาภายใต้แบรนด์ Coco Easy นับว่าเป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีในท้องตลาด จุดเด่นอยู่ที่ความสะดวกในการเปิดรับประทาน ตอบโจทย์เรื่องประหยัดเวลา เข้ากันได้ดีกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่คุณบรรพตทุ่มเทศึกษาวิธีการผลิต หาตลาด และแหล่งเงินทุน โคโค่ อีซี่ เปิดตัวอย่างจริงจังและมีบริษัทและโรงงานเป็นเรื่องเป็นราวมาประมาณ 3 ปี แต่ทำมะพร้าวให้ทานง่ายมาแล้วหลายแสนลูก งานนี้คงเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า ความชอบหรือความหลงใหลในบางสิ่งเมื่อนำมารวมกับความรู้ ความตั้งใจ ก็สามารถเป็นนวัตกรรมขึ้นมาได้ ไม่แน่ว่าคนต่อไปที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลกใบนี้อาจเป็นท่านผู้อ่านก็ได้

 

แหล่งข้อมูล : นิตยสาร SMEs Plus และ SMEs TeeRak (Youtube)
ภาพประกอบ : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศsiamzonekhajochi และ SMEs TeeRak (Youtube) 

 


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …