แนวโน้มการขยายตัวของการจราจรทางอากาศนับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สายการบินต่าง ๆ ยังสั่งซื้อเครื่องบินและเพิ่มเที่ยวบินในการให้บริการมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการนักบินยิ่งสูงมากขึ้นด้วย

โดยทางสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ภายใน 20 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการนักบินถึง 6.17 แสนคน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความต้องการสูงที่สุดถึง 2.48 แสนคน

“นาวาอากาศโทปิยะ ตรีกาลนนท์” ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (บีเอซี) บอกว่า ปัจจุบันบีเอซีมีกำลังผลิตนักบินปีละ 200-300 คน มีมาตรฐานและความพร้อมในทุกด้าน ทั้งพื้นที่การฝึกเครื่องบินและบุคลากรการบินที่ได้ลงนามร่วมกับกองทัพอากาศเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบัน “บีเอซี” มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในประเทศ และยังมีแผนขยายตัวไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย

นอกเหนือจากความพร้อมในการผลิตนักบินพาณิชย์เข้าสู่อุตสาหกรรมการบินแล้ว ยังลงทุนในการเสริมหลักสูตรนักบินตามโจทย์ของสายการบินต่าง ๆ ที่เน้นย้ำให้ศิษย์การบินมีประสบการณ์ที่กว้างและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งด้านการฝึกวินัย บุคลิกภาพ และลักษณะพึงประสงค์ของนักบิน การศึกษาดูงานที่สนามบินต่าง ๆ และวิทยุการบิน การนำเสนอไฟนอลโปรเจ็กต์ที่ให้ศิษย์การบินได้รวบรวมความรู้ด้านการบินที่ได้เรียนมาใช้ตอบโจทย์ในกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง

รวมถึงการฝึกในไฟลต์ซิมูเลเตอร์ แอร์บัส เอ320 ไทป์ VI ถึง 20 ชั่วโมงก่อนจบหลักสูตร ซึ่งจะทำให้นักบินมีความพร้อมมากที่สุดก่อนปฏิบัติงานจริงกับสายการบิน

“บีเอซี” ได้ผลิตนักบินพาณิชย์ให้กับสายการบินระดับชาติหลายสายการบิน เช่น ไทยแอร์เอเชีย การบินไทย และไทยสมายล์ อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าสังกัดมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนการบินจนถึงปัจจุบัน บีเอซีได้ผลิตนักบินพาณิชย์ตรี (CPL) จบไปแล้ว 939 คน และอยู่ระหว่างการฝึก 498 คน

โดยบีเอซีวางเป้าหมายในการเป็นสถาบันอันดับหนึ่งในการผลิตนักบินไทยสู่ตลาดโลก เพื่อเพิ่มดุลการค้าให้กับประเทศไทย เนื่องจากนักบินในต่างประเทศจะมีรายได้ที่สูงมาก อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาทต่อคนต่อปี

“หากนักบินไทยสามารถบุกตลาดในวิชาชีพนักบินได้ในระดับสากล โดยเข้าไปมีส่วนแบ่งของตลาดนักบินทั่วโลกเพียง 10% จากความต้องการนักบินใหม่ถึง 4.6 แสนคน ภายในปี 2031 หรือราว 4.6 หมื่นคน ประเทศเราจะมีรายได้จากนักบินไทยเหล่านี้ถึงปีละ 2.7 แสนล้านบาทเลยทีเดียว”

และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการฝึกนักบินให้เหมาะสมกับความต้องการนักบินที่มีเพิ่มขึ้น บีเอซีจึงมีแผนการสร้างโครงการ “บีเอซี อะคาเดมี่” ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยโรงเรียนตั้งอยู่บนเนื้อที่ 13 ไร่ อยู่ห่างสนามบินนครราชสีมาประมาณ 5 กิโลเมตร ทำให้สะดวกในการเดินทางระหว่างสนามบินและแคมปัส

โดยภายในแคมปัสจะประกอบด้วยห้องเรียน หอพัก ห้องประชุม ศูนย์กีฬา และพื้นที่สันทนาการที่มีความทันสมัย

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้บีเอซีตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่จังหวัดนครราชสีมานั้น เนื่องจากสนามบินนครราชสีมาถือเป็นสนามบินที่ใกล้ที่สุด เมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ โครงสร้างพื้นฐานของสนามบินนครราชสีมาถือว่ามีความพร้อมมาก ห่างจากอะคาเดมีเพียง 5 กิโลเมตร มีพื้นที่มากถึง 4,625 ไร่ มีรันเวย์ยาว 2,100 เมตร ความกว้าง 45 เมตร และทางขับ (แท็กซี่-เวย์) 2 เส้น ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากล สามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่ลงได้ และที่สำคัญคือเครื่องช่วยเดินอากาศมีความพร้อมอย่างมาก

โดยบีเอซีวางแผนการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่เพื่อใช้ในการฝึกเพิ่มเป็น 60 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 37 ลำ และสร้างลานจอดโรงซ่อมบำรุงเครื่องบินขนาด 8 ลำ โดยส่วนนี้จะอยู่ในสนามบินนครราชสีมา ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเช่าพื้นที่

ขณะนี้ได้มีการปรับพื้นที่ในส่วนของอะคาเดมีเรียบร้อย และเริ่มตอกเสาเข็มแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี

จากนั้นจะเปิดการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักบินออกสู่ตลาด โดยสามารถผลิตนักบินได้เต็มความสามารถปีละประมาณ 450 คน ถือเป็นโรงเรียนการบินแห่งใหญ่ที่สุดในโลก เบื้องต้นในปีแรกจะผลิตให้ได้ 250-300 คน โดยมีเป้าหมายขยายตลาดการฝึกนักบินต่างชาติเป็นหลักด้วย ขณะนี้กำลังทำตลาดกับจีน เพื่อผลิตนักบินจีนป้อนตลาดการบิน

โครงการนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากบีเอซีมุ่งเน้นการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาฝีมือช่างซ่อมอากาศยาน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัดในการส่งนักศึกษาเข้ามาเป็นช่างซ่อมบำรุง

โดยบีเอซีต้องการทีมช่างมากกว่า 150 คน เพื่อรองรับการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องบินจำนวน 40-60 ลำและหวังว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์ความต้องการนักบินจากสายการบินที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ยกเลิกธงแดง และหวังว่าจะเป็นแกนหลักในการผลิตนักบินคุณภาพทั้งในประเทศและระดับนานาชาติต่อไป

 


อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

Muuji Festival 2024 เทศกาลดนตรีแบบฉบับญี่ปุ่น ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ฉีกไอเดีย Festival แนวใหม่ Vibes ญี่ปุ่นจัดเต็ม ท่ามกลางเขาใหญ่

พร้อมเข้าสู่ปีที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่! Muuji Festival 2024 … …