โคราช…ดินแดนแห่งที่ราบสูงซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ถักทอจนกลายเป็นเรื่องราวความทรงจำที่ประทับไว้ตามสถานที่ต่างๆ มากมาย แต่ด้วยพื้นที่ที่มีมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย จึงไม่แปลกเลยที่แม้แต่ชาวโคราชเองก็ยังไม่มีโอกาสได้ล่วงรู้หรือสัมผัสคุณค่าที่ซุกซ่อนอยู่ในโคราชได้อย่างทั่วถึง เฉกเช่นเรื่องเล่าและของเก่ากุที่ “บ้านโป่งแดง” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเล็กๆ ในอำเภอขามทะเลสอ แต่เดิมบริเวณแห่งนี้จะเป็นสถานที่ที่สัตว์อาศัยอยู่กันอย่างชุกชุม เนื่องจากอุดมด้วยดินโป่งสีแดงเหนียวเป็นจำนวนมาก ในแต่ละวันพวกสัตว์จึงมักนิยมลงมากินกันเป็นประจำ ที่นี่จึงได้ชื่อว่า “บ้านโป่งแดง” นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผนวกกับสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงมีน้ำสายลำตะคองและคลองซอยมากมายไหลผ่าน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนี้จึงยึดอาชีพทำนากันมาเป็นเวลาช้านาน โดยใช้ที่ดินโดยรอบหมู่บ้านเป็นนาข้าว แต่ก็ใช่ว่าที่นาของชาวบ้านทุกคนจะอยู่ติดถนน ชาวบ้านจึงต่อสะพานเพื่อทอดไปยังที่นาของตน เพื่อขนข้าวจากนาและเดินทางในช่วงหน้าฝนเป็นหลัก เล่ากันว่ามีอยู่หลายสะพาน บางสะพานสามารถเชื่อมกับละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง และสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินตัดนาถึงบ้านลมละหม้อ แถมยังสามารถข้ามคลองลำะคองเพื่อเข้ามายังตัวเมืองขามทะเลสอได้อีกด้วย นอกจากสะพานที่ต้องอาศัยทักษะการทรงตัวขั้นสุดยอดแล้ว บ้านโป่งแดงยังมีร่องรอยของการตั้งรกรากของชาวลาว ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสถาปัตยกรรมอันแปลกตาของวัดวาอารามและหมู่บ้านซึ่งถูกธรรมชาติบดบังเอาไว้ จนกระทั่งผู้คนจากที่อื่นเข้ามาแผ้วถางเพื่ออพยพเข้ามาอยู่อาศัย จึงได้พบกับอาคารสิ่งก่อสร้างซึ่งถูกต้นไม้ขึ้นปกคลุมและชอนไชจนพังเสียหาย นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปหลวงพ่อแก่นจันทร์ถูกเสาทับอยู่ ปัจจุบันจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดสามัคคีสโมสรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากใครได้มีโอกาสไปสักการะบูชาจะพบว่าพระพุทธรูปมีลักษณะที่สำคัญคือ พระกรรณ (หู) มีเบ้าพระกรรณขนาดใหญ่ ติ่งพระกรรณห้อยยาวโค้งออกจากลำคอ คาดเป็นศิลปะแบบล้านช้างซึ่งได้รับอิทธิพลจากสมัยอยุธยา สังเกตได้จากฐานที่ค่อนข้างสูง ผ้าทิพย์ และไรพระศก ส่วนวัดที่เราเห็นกันอยู่ตรงนี้ คือ วัดอุดมสามัคคี หรือวัดลาว บ้างก็เรียกวัดใน หรือวัดโป่งเหนือ สร้างขึ้นเมื่อปี 2392 ในรัชสมัยรัชการที่ 3 หรือราวๆ 167 ปี เคยเป็นโบสถ์เก่าทำด้วยไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาด 3 ห้อง ด้านหน้าและด้านหลังเป็นโถงระเบียง ช่องหน้าต่างมีซี่ลูกกรงไม้ด้านล่างชวนให้รู้สึกแปลกตา พระประธานเป็นศิลปะแบบล้านช้าง ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานได้จากขอบสบงมีสองขอบเริ่มมีตอนสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อผู้คนเริ่มทยอยมาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ในปี 2460 จึงได้สร้างวัดขึ้นทางทิศตะวันออกชื่อ วัดโป่งแดงบูรพาราม ส่วนภาพที่เราเห็นอยู่นี่จะเป็นโบสถ์ซึ่งมีลูกระนาดเตี้ยๆ ที่หน้าต่าง และมีพระประธานก็เป็นศิลปะแบบล้านช้างเช่นกัน ต่อมาในปี 2462 ได้มีการสร้างวัดสุริยาเย็น หรือ วัดโป่งใต้ขึ้น หน้าบันทางทิศตะวันออกเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ทิศตะวันตกเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ต่างจากปราสาทหินที่พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณจะอยู่ในทิศตะวันออกเพราะเป็นเทพประจำทิศ ภายในมีพระพุทธรูปองค์ประธาน ขนาบทั้งซ้ายขวาด้วยพระโมคคัลลาและพระสารีบุตร ด้านหลังพระประธานบรรจุอัฐิพระครูอินทรีย์สังวรณ์ เจ้าอาวาสองค์แรกและเจ้าคณะแขวงสูงเนิน ต่อมาปี 2513 ได้รวมวัดอุดมสามัคคีหรือวัดโป่งเหนือ และวัดสุริยาเย็นหรือวัดโป่งใต้ ซึ่งอยู่ติดกันให้เป็นวัดเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “วัดสามัคคีสโมสร” นอกจากนี้ บ้านโป่งแดงยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งคือ “วัดน้ำฉ่า” เป็นโบสถ์ที่คาดว่าสร้างทับอโรคยาศาลอีกด้วย ก่อนที่จะจากกันไป ขอตบท้ายด้วยภาพแกะสลักสมัยขอม ซึ่งปัจจุบันถูกนำไปประดับไว้หลังโบสถ์ ประกอบด้วยภาพเทพและยักษ์กวนเกษียรสมุทร ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ … ทับหลังทิศตะวันออก ซึ่งอยู่บนบนเส้นทางลำตะคอง อาจไปยังเมืองโคราช – ปราสาทเมืองแขก เมืองเสมา หรือแหล่งหินตัดที่สีคิ้ว หรืออาจย้อนไปถึงยุคทวาราวดีที่ใช้หินตั่งก็อาจเป็นได้ แหล่งข้อมูล : tuk-tuk@korat (Bloggang) ภาพประกอบ : tuk-tuk@korat (Bloggang) และ เพจเรื่องเล่าชาวโป่งแดง
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market