ฮิปปี้คืออะไร ใครคือฮิปปี้ คุณอาจหาคำตอบได้จากเพลง E – San Reggae ของวง รินดาราส “มาเด้อ มาเด้อ มาร้องเพลงด้วยกัน ทั้งเธอและฉัน เราเป็นเผ่าพันธุ์เดียว มีภูเขาแม่น้ำและทุ่งหญ้าอีสานเขียว และเร็กเก้พันธุ์ข้าวเหนียว อีสานเขียวเร็กเก้ อีสานเร็กเก้ อีสานเร็กเก้ฯ” ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบเพลงเร็กเก้ และมีคนไทยจำนวนไม่เท่าไรที่รู้จักฮิปปี้ ยิ่งฮิปปี้ที่เป็นคนไทยด้วยกันยิ่งมีน้อยไปกันใหญ่ ภาพแรกที่ใครหลายคนนึกถึงคงเป็นภาพของกลุ่มคนที่ต่อต้านสังคม มีแนวคิดและการดำรงชีวิตเฉพาะตัว แต่งตัวประหลาดๆ ทำตัวประหลาดๆ ผมยาวรกรุงรังไร้รูปทรง หนวดเคราแน่นขนัด ที่สำคัญคือดูไม่มีแก่นสารสาระใดๆ ในชีวิต ล่องลอยประหนึ่งใช้ชีวิตกลางปุยนุ่น … แต่นั่นจริงหรือไม่ ไม่รอช้า ผมขอพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับฮิปปี้ตัวพ่อแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า อีสานเขียว จากปากคำของหนึ่งในผู้ก่อตั้งที่ให้นิยามแบบเรียบๆ ง่ายๆ แต่จับใจของคำว่าฮิปปี้ตามทัศนะของตัวเขาเองว่า “นักแสวงหาเรียนรู้ชีวิต ความรัก อิสระ เสรีภาพ ดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย” … ขอบอกว่า ‘เปลือก’ ที่เรามองเห็นและคิดว่าใช่แน่ๆ อาจไม่ใช่ตัวตนแท้ๆ ก็ได้ หวังว่าเมื่ออ่านบทสัมภาษณ์นี้จบลง คุณจะรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร ทำอะไรได้บ้าง และน่าจะเกิดคำถามต่อยอดในใจเล็กๆ ว่า แล้วคุณล่ะ ทำอะไรเพื่อตัวเองหรือใครแล้วบ้างหรือยัง KS : ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของอีสานเขียวให้ฟังหน่อยครับ รวมตัวกันได้อย่างไร “หลากหลายเผ่าพันธุ์ หลากหลายเรื่องราว หลากหลายการเดินทาง แต่จุดมุ่งหมายเดียวกัน นี่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีและเหมาะกับการเป็นจุดเริ่มต้นของเรา เพราะพวกเราทำงานกันหลากหลายอาชีพ บ้างก็ยังเรียนอยู่ แต่พวกเรามีนิสัยคล้ายกัน แต่งตัวคล้ายกัน ฟังเพลงแบบเดียวกัน ชอบท่องเที่ยวเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ตามธรรมชาติและงานดนตรี นี่แหละครับจุดเริ่มต้นของอีสานเขียว” KS : ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มเยอะไหมครับ “ปัจจุบันกลุ่มอีสานเขียวมีสมาชิก 30 คน สิ่งที่ทำร่วมกันส่วนมากจะเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม และงานดนตรีที่มีมาถึงปีที่ 5 แล้ว เพราะเป้าหมายหลักในการก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาก็เพื่อให้คนในกลุ่มได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน” KS : ทราบมาว่าเทศกาลดนตรีของกลุ่มอีสานเขียวได้รับกลิ่นอายมาจากเทศกาลดนตรีสุดดังระดับโลกอย่าง ‘Woodstock Music & Art Fair’ ขอทราบรายละเอียดครับ “จุดเริ่มต้นเกิดจากการเดินทางไปงานดนตรีหลายๆ ที่เลยเกิดแนวคิดว่าอยากจัดขึ้นมาบ้าง พอคิดได้ก็ชักชวนกันจัดงานดนตรีในรูปแบบที่เราชอบขึ้นมา จุดแรกๆ ที่เราเลือกคือที่ขอนแก่น เพราะส่วนหนึ่งมันสะดวกกับกลุ่มของพวกเราที่โดยส่วนใหญ่อยู่ในขอนแก่น กลุ่มคอเดียวกันส่วนใหญ่ที่เรารู้จักก็อยู่ที่นี่ เป็นพื้นที่ที่เราคุ้นเคย ที่สำคัญคือเราต้องการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดของเราด้วย” KS : ฟังดูน่าสนุกจังครับ “สนุกครับ เพราะหากถามว่าจุดประสงค์ของงานเทศกาลดนตรีนี้มีเพื่ออะไร แน่นอนว่าเพื่อความสนุก มันคือพื้นที่กว้างๆ ให้คนที่ชอบในแนวเดียวกันมารวมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสไตล์เฉพาะตัว ที่สำคัญคือเงินที่ได้จากการจัดงานเราจะเอามาทำบุญ สมทบทุนตามโครงการดีๆ ต่างๆอย่าง ‘โรงเรียนอีสานเขียว’ ที่พวกเราร่วมกันสร้างขึ้นมา เป็นอีกโครงการที่เราภูมิใจ ที่นี่ตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาต่างๆ ให้กับเด็กในพื้นที่ เช่น เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วิชาภาษาอังกฤษ การทำสบู่ วิชาศิลปะ และอีกหลากหลายวิชาตามแต่ครูที่อาสามาสอน KS : โรงเรียนอีสานเขียวคืออะไรครับ มีที่มาที่ไปอย่างไร “โรงเรียนอีสานเขียวก่อตั้งขึ้นมาเมื่อต้นปี 2559 ในตอนนั้นพวกเราไปเตรียมงานคอนเสิร์ต แล้วมีเด็กหลายคนเข้ามาเล่นคลุกคลีกับเราในช่วงที่ลงไปทำงานที่เกาะอีสานเขียว จึงเกิดความคิดอยากจะสร้างโรงเรียนขึ้นโดยใช้ทีมงานอีสานเขียวและครูที่มีจิตอาสาสอนวิชาต่างๆ เสริมให้กับเด็ก เราเล็งเห็นว่าการศึกษานั้นสำคัญกับเด็กๆ ในพื้นที่อย่างยิ่ง เพราะมีเด็กหลายคนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา โดยรูปแบบการสอนของที่นี่จะมีความพิเศษแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ จะเรียกว่าเป็นโรงเรียนแนวใหม่ เป็นทางเลือกใหม่ก็ได้ เพราะพวกเราจะสอนวิชาที่มีประโยชน์กับเด็กๆ เช่นเกมและนันทนาการที่สอดแทรกสาระความรู้ เสริมสร้างความสัมพันธ์ กระบวนการคิดวิเคราะห์ ส่งเสริมให้รักแผ่นดินบ้านเกิด และความสามัคคีของเด็กๆ นอกจากนี้พวกเรายังเน้นสอนการทำงานศิลปะจากวัสดุในท้องถิ่น ภาษาต่างประเทศ การอนุรักษ์และเห็นคุณค่าของธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัวอีกด้วย ซึ่งต้องบอกว่ากระแสตอบรับเป็นไปในทางที่ดี มีหลายองค์กรทั้งในและนอกพื้นที่ให้การสนับสนุนอย่างดี ชาวบ้านและผู้ปกครองหลายคนก็มาร่วมเรียนรู้กับเด็กๆ ที่โรงเรียนด้วย” KS : สุดท้ายนี้ อยากให้ฝากถึงคนในสังคมที่อาจจะยังไม่เข้าใจในกลุ่มอีสานเขียว “เราเป็นกลุ่มคนเล็กๆ เป็นคนธรรมดา พวกเราอาจแตกต่างในส่วนของการแต่งกาย ผมเผ้า รูปลักษณ์ภายนอกที่ผิดแปลกไปกว่าคนทั่วไป นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเราเป็นคนไม่ดี เรามีความรัก ความฝัน มีอิสรเสรีทางความคิด มีหัวใจที่รักดนตรี ศิลปะ และธรรมชาติ มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นและสังคม … อีสานเขียวพวกเราไม่มีกำแพง เราเปิดรับทุกคนที่มีหัวใจเดียวกันมาร่วมกันสร้างสรรค์แผ่นดินนี้ให้น่าอยู่ร่วมกันครับ” ————————————————————————– สัมภาษณ์ : จิรายุ แช่มพุฒทรา ถ่ายภาพ : อีสานเขียว เรียบเรียง : พลเชษฐ์ พันธ์พิทักษ์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market