วันที่ 27 กันยายน เวลา 11.30 น. ที่สะพานลำตะคอง หลักกิโลเมตรที่ 403+352 ริมถนนสุรนารายณ์ เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา นายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายก ทน. พร้อมช่างสุขาภิบาล ได้ติดตั้งเครื่องผลักน้ำเพื่อเร่งระบายมวลน้ำในลำตะคอง ช่วงเส้นทางน้ำไหลผ่านเขตเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นและการไหลค่อนข้างแรง นายบุญเหลือเปิดเผยว่า สาเหตุของน้ำท่วม ลักษณะน้ำฝนไหลหลากเอ่อท่วมพื้นผิวจราจรและไหลเข้าบ้านเรือนราษฎร ในพื้นที่รับผิดชอบ 37.5 ตารางกิโลเมตร เมื่อช่วงหัวค่ำวานนี้ ( 26 ก.ย.) มีสาเหตุจากฝนตกหนักและได้กระจายทั่วพื้นที่ โดยวัดปริมาณน้ำฝนได้ 75 มิลลิเมตร และโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ ทั้งอ่างเก็บน้ำเถลิงพล สวนน้ำบุ่งตาหลั่ว สระน้ำกองบิน 1 มีปริมาณน้ำรวมกว่า 2 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม) เต็มพื้นที่เก็บกักมาก่อนหน้านี้ แม้ได้พร่องน้ำออกไปบางส่วน แต่เมื่อฝนตกหนัก จึงไม่มีแก้มลิงชะลอไว้ น้ำจึงไหลออกจากช่องระบายน้ำล้นหรือสปิลเวย์เท่ากับปริมาณฝนที่ตกและมีอัตราไหลค่อนข้างเร็ว ประกอบกับมีเศษขยะมูลฝอย รวมทั้งวัชพืชอุดตันทางระบายน้ำทิ้ง จึงถือเป็นเหตุน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายปีของตลาดเซฟวัน ซึ่งมีระดับน้ำสูงเฉลี่ย 50 เซนติเมตร เอ่อท่วมบนถนนมิตรภาพ ทั้งทางคู่ขนานและเส้นทางหลัก และเต็มทั้งขาเข้า-ออกเมืองนครราชสีมา โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย ล่าสุด (เวลา 14.30 น.) บริเวณจุดระบายน้ำทิ้งรอบตลาดเซฟวัน ยังมีน้ำฝนไหลล้นออกจากสปิลเวย์อ่างเก็บน้ำเถลิงพลอย่างต่อเนื่อง แนวทางป้องกันได้ติดตั้งเครื่องผลักน้ำตามเส้นทางลำตะคองไหลผ่าน โดยมีสะพานทางเข้ามิตรภาพ ซอย 4 สะพานข้างโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา และสะพานลำตะคอง ข้างสถานีดับเพลิงสุรนารายณ์ พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เตรียมพร้อมหากมีฝนตกนานกว่า 20 นาที จะออกปฏิบัติการประจำจุดเป้าหมาย พื้นที่ลุ่มต่ำและมีปัญหาน้ำท่วมประจำรวม 13 จุด เพื่อจัดการสิ่งอุดตันบริเวณปากท่อระบายน้ำ เร่งให้น้ำฝนไหลเร็วที่สุด ด้านนายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์น้ำดิบในเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ว่าอิทธิผลจากร่องมรสุมเคลื่อนผ่าน ทำให้มีมวลน้ำจากพื้นที่ป่าต้นน้ำ ผืนป่ามรดกโลกแห่งที่ 5 ดงพญาเย็น เขาใหญ่ ลงในเขื่อนกว่า 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม) ล่าสุดมีปริมาณน้ำรวม 68.166 ล้าน ลบ.ม หรือ 21.66% ของพื้นที่เก็บกัก 314 ล้าน ลบ.ม. ยังเป็นปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นห้วงเวลาเข้าสู่ช่วงท้ายฤดูฝน จึงต้องควบคุมอย่างเข้มข้น เพื่อจัดสรรน้ำให้ประชาชนกว่า 4 แสนคน ในพื้นที่ 6 อำเภอ ตามมติของกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ลุ่มน้ำลำตะคอง จึงปิดประตูระบายน้ำท้ายเขื่อนฯ เพื่อกักเก็บน้ำดิบให้มากที่สุด และให้กลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด บริหารจัดการใช้น้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อน แทน “กายภาพของลำตะคองตอนล่าง ระยะทางผ่านเขตเศรษฐกิจ ความยาวประมาณ 15 กิโลเมตร มีลักษณะแบนราบ บางช่วงตื้นเขินจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวก แม้สภาพโดยรวมของคลองน้ำธรรมชาติ ยังเหลือพื้นที่รับน้ำอีกพอสมควร ชป.8 พร้อมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนครราชสีมา และ อปท.ในพื้นที่ ได้ร่วมพร่องน้ำออกจากคลองน้ำธรรมชาติและกำจัดสิ่งกีดขวาง ส่วนใหญ่เป็นผักตบชวาและขยะมูลฝอย พร้อมติดตั้งเครื่องผลักน้ำและยกบานประตูของเขื่อนที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง เพื่อเร่งระบายน้ำในลำตะคอง ลงแม่น้ำมูลให้เร็วที่สุด” แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ : มติชนออนไลน์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market