สำหรับคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทายาทธุรกิจแล้ว แน่นอนว่า หน้าที่สืบทอดกิจการให้คงอยู่ถือเป็นโจทย์หนึ่งที่สำคัญในการพิสูจน์ตัวเองบนโลกธุรกิจ หากแต่บางคนไม่ยอมหยุดหน้าที่ของตัวเองไว้แค่นั้น คิดหาสิ่งใหม่มาต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมให้เติบโต เหมือนกับที่คุณเบียร์ อิศเรศ ธีระวงศ์ นักธุรกิจหนุ่มที่ยอมผันตัวเองจากงานด้านวิศวกรรมมาสานต่อธุรกิจการเกษตรของครอบครัวแบบเต็มตัว กับการสร้างแบรนด์ ‘บ้านไร่ธีระวงศ์’ ให้เป็นที่รู้จัก … เขาคนนี้มีวิธีคิดและแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างไร Interview ฉบับนี้จะพาไปพบคำตอบ สานต่อธุรกิจครอบครัว คุณเบียร์ อิศเรศ ธีระวงศ์ “แม้ตัวผมเองจะเรียนจบมาทางด้านวิศวะฯ และเลือกทำงานที่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา แต่ด้วยความที่ครอบครัวธีระวงศ์ของเราทำธุรกิจการเกษตรมาโดยตลอด เลยทำให้ได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับธุรกิจด้านนี้ ตอนเรียนจบก็มีเข้ามาช่วยงานของทางบ้านบ้างเป็นครั้งคราว ประกอบกับมีความชอบเป็นทุนเดิมอยู่ด้วย พอจังหวะชีวิตมันได้ ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่แล้วมาสานต่อธุรกิจของครอบครัวแบบเต็มตัว” แนวคิดในการทำธุรกิจ “ด้วยความที่ผมเองเป็นคนรุ่นใหม่ และมีโอกาสได้ไปเรียนต่อต่างประเทศค่อนข้างนาน ได้ไปเห็นอะไรที่คิดว่าพอจะเพิ่มมูลค่าเข้ามาในธุรกิจการเกษตรได้ ประกอบกับตัวอย่างดีๆ ในธุรกิจใกล้เคียงอย่าง ฟาร์มโชคชัย จิมทอมป์สัน สวนนงนุช เราก็พยายามเรียนรู้จากตัวอย่างเหล่านั้น มองความเป็นไปได้ เอาข้อดีมาปรับใช้ จนเกิดไอเดียในเรื่องการทำธุรกิจเกษตรที่สามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างได้อย่างแท้จริงโดยที่เราเป็นคนกำหนดกลยุทธ์การทำตลาดของสินค้าและโครงสร้างราคาขึ้นมาเอง เพราะโดยทั่วไปแล้ว เวลาเราทำการเกษตรจะต้องมานั่งคิดว่า ขายให้ใคร ส่งให้ใคร พ่อค้าคนกลางที่รับไปก็ไปทำกำไรต่อ แต่วันนี้เราอยากเริ่มต้นธุรกิจจากต้นน้ำไปปลายน้ำ จึงเป็นที่มาของการคิดทำฟาร์มเมล่อนญี่ปุ่นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ “การที่ผมเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ผมพยายามจะรักษาทั้งจุดแข็งเรื่องการเกษตรกรรมของไทยและความเป็นท้องถิ่นของเรา เพราะมีหลายสิ่งหลายที่สามารถเอามาต่อยอดและพัฒนาได้ ส่วนตัวมองว่ามันคือโอกาสที่เราจะได้แสดงสิ่งเหล่านี้ออกไปให้โลกภายนอกได้เห็น ซึ่งโจทย์ก็คือการทำให้สินค้าและบริการเข้าสมัย สร้างความต้องการในแบบใหม่ๆ และอีกอย่าง เราไม่ได้คิดว่าจะไปแข่งขันกับใคร ไม่ทำสินค้าเพื่อมาตั้งราคาแข่งกับใคร ขายถูกกว่าใคร เรียกว่าออกจากโลกของการแข่งขันไปเลย เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจเราคือเรื่องคุณภาพ กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มคนที่เขาชอบในแบบที่เราเป็น และนอกจากเรื่องคุณภาพที่หยิบมาเป็นจุดขายแล้ว การนำเสนอก็ต้องแตกต่างและร่วมสมัย บอกเลยว่าเวลาที่คิดตัวโปรดักส์ เราคิดไปถึง 10 ปีข้างหน้า คิดไปเลยว่าในอนาคตโลกนี้ประเทศนี้ต้องการโปรดักส์แบบไหน” ตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่ “คนรุ่นใหม่มักจะมองว่าธุรกิจนี้ไม่ค่อยน่าสนใจ เป็นธุรกิจที่ลำบาก อีกอย่างเกษตรกรรุ่นหลังมักจะชอบส่งลูกหลานไปเรียนสูงๆ เพื่อที่ว่าพวกเขาเรียนจบมาจะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยลืมไปว่าการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่เป็นเสมือนรากเหง้าและจุดแข็งของประเทศ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าเราจะนำเสนอในรูปแบบที่มันแตกต่าง หรือทำให้มันน่าสนใจกว่าได้อย่างไร ในขณะที่เราก็ต้องไม่ลืมตัวตนของความเป็นประเทศกสิกรรม หรือว่าจะทำยังไงให้มันเติมเต็มในสิ่งที่ยังขาดอยู่ ผมว่าเรื่องการเกษตรในบ้านเราบางครั้งหน่วยงานภาครัฐเองก็ไม่ได้จัดการให้ไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเราจะเห็นปัญหาของสินค้าล้นตลาดบ่อยๆ สาเหตุก็เพราะการขายกับการผลิตมันไม่ไปด้วยกัน หรือแม้แต่เรื่ององค์ความรู้ที่เกษตรกรบ้านเรายังขาดอยู่อีกเยอะ ซึ่ง ณ ตอนนี้บ้านไร่ธีระวงศ์เองก็อยากจะเป็นตัวอย่างของเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นทุกอย่างใหม่บนจุดแข็งของประเทศที่มีอยู่แล้ว แต่ใส่องค์ความรู้ใหม่ๆ เข้าไป แล้วนำเสนอในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย” กว่าจะเป็นเมล่อน ‘บ้านไร่ธีระวงศ์’ “แรงบันดาลใจในการทำฟาร์มเมล่อนนั้นมาจากคุณยาย เพราะท่านชอบทานเมล่อนมาก ในครอบครัวก็มาคุยกันว่าจะทดลองปลูกดูก่อน แต่เพราะบ้านเราเป็นประเภทที่ว่าทำอะไรแล้วก็จะทำแบบจริงจัง ก็เริ่มต้นที่ 30 โรงเรือนเลย กลายเป็นว่าสถานการณ์บังคับให้ขึ้นหลังเสือจะลงก็ไม่ได้แล้ว จนต้องทำทุกวิถีทางให้มันออกมาเป็นผลผลิตฟให้ได้ แรกๆ ประสบปัญหาค่อนข้างมาก เรียกว่าเป็นเจ้าแห่งการลองผิดลองถูกเลยก็ว่าได้ ความรู้ในการเลือกสายพันธุ์เมล่อนก็ไม่มี ไม่มีใครมาบอกว่าต้องทำยังไง ก็ทดลองทำกันเองมาเรื่อยๆ ล้มเหลวมาก็เยอะ แต่สุดท้ายเราก็ทำมาจนสำเร็จ คุณแม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิการผลิตเมล่อนของชาติจากกระทรวงเกษตรโดยกรมวิชาการเกษตร และฟาร์มของเราก็ได้เป็น 1 ใน 3 ฟาร์มที่มีส่วนกำหนดมาตรฐานเมล่อนของชาติ คุณภาพต้องมาก่อน “ที่บ้านไร่ธีระวงศ์เราอยากทำให้ทุกอย่างมันออกมาดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค เพราะผมเชื่อว่าผู้บริโภคเขาจะสามารถรับรู้ได้เอง ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นของคุณภาพจริง หรือเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ บางทีเมล่อนทั้งโรงเรือนได้ผลผลิตแค่ 5 ต้นจาก 300-400 ต้น ซึ่งเป็นจำนวนต่ำที่สุดที่เราเคยได้ จนตอนนี้สูงสุดเก็บผลผลิตได้สูงสุดประมาณ 55% ต่อโรงเรือน ประเด็นสำคัญคือเราไม่ใช้สารเคมีเลย” ต่อยอดสู่ธุรกิจท่องเที่ยว “เป้าหมายปลายทางของเราคือทำให้บ้านไร่ธีระวงศ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสวนสวยแนวใหม่ของโคราชและภาคอีสานซึ่งตอนนี้เรากำลังปรับปรุงพื้นที่ภายในฟาร์ม เพราะที่เราทำไม่ได้มีแค่สวนเกษตรอย่างเดียว แต่จะมีสวนไม้ดอกไม้ประดับด้วย รวมถึงมีร้านอาหาร ร้านขายของฝากที่จะเน้นไปที่โปรดักส์ของทางไร่เป็นหลัก หรือถ้าเป็นสินค้าจากแหล่งอื่นเข้ามา เราก็จะเลือกร้านที่ผลิตสินค้าคุณภาพสูงที่นักท่องเที่ยวยังไม่มีโอกาสได้รู้จักหรือร้านที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก โดยในส่วนนี้เราวางแผนไว้ว่าจะเปิดให้เข้าชมเป็นซีซั่น ปีละ 3 ครั้ง คือต้นปี กลางปี ปลายปี และจะทำการพักสวนในช่วงปลายปี 1 เดือนเพื่อให้ต้นไม้ดอกไม้ต่างๆ ได้ฟื้นตัว” บ้านไร่ธีระวงศ์ในอนาคต “ทุกอย่างที่เราทำมามันเป็นไปตามสเต็ปนะ โมเดลแรกเริ่มจากการทำฟาร์มซึ่งถือเป็นจุดคิกออฟ ตามมาด้วยธุรกิจท่องเที่ยว และโมเดลต่อไปผมวางแผนไว้ว่าอยากจะรวมกลุ่มฟาร์มมาร์เก็ตที่เกษตรกรเป็นคนทำเองจริงๆ ไม่ใช่นักธุรกิจที่มองเห็นโอกาสแล้วมาทำ เพราะผมอยากให้ตรงนี้เป็นเหมือนตัวแทนธุรกิจดีๆ ของโคราช จากนั้นก็คงเป็นเรื่องของการขยายร้านนี้ (Teerawong Farm Cafe’) เข้าสู่ตลาดอื่น ซึ่งเราจะยกไปทั้งยูนิตเลย ก็คือมีทั้งอาหาร คาเฟ่ และผลผลิตจากฟาร์ม โมเดลสุดท้ายที่วางไว้ตอนนี้คือธุรกิจโรงแรม อันนี้คือเราต่อยอดมาจากธุรกิจท่องเที่ยว หลายคนถามว่าทำไมไม่ทำโรงแรมก่อน ผมบอกเลยว่าการสร้างตึกมันใช้เวลาไม่นาน แต่การสร้างบรรยากาศต้องใช้เวลาและความละเอียดอ่อน ก็อาศัยว่าพอเราสร้างบรรยากาศให้สมบูรณ์พร้อมอย่างน้อยก็สามารถเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวก่อนได้ แล้วค่อยตามมาด้วยเรื่องที่พัก ซึ่งโรงแรมที่จะทำ เราอยากอัพเกรดโรงแรมในโคราชให้ไปสู่มาตรฐานสากลอีกก้าวหนึ่งและเป็นโรงแรมที่เน้นไปในเรื่องของบรรยากาศการพักผ่อนอย่างแท้จริง เหมือนเช่นที่ เขาใหญ่ พัทยา หรือเชียงใหม่ ก็อย่างที่บอก ทุกอย่างที่ทำ ผมไม่ได้เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ ผมพูดไม่ได้จริงๆ ว่าโมเดลที่วางไว้ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร หรือไปถึงจุดไหน แต่ถ้าได้ทำแล้วผมจริงจังกับมันจริงๆ” ฝากถึงนักธุรกิจรุ่นน้อง “ในการทำธุรกิจผมว่าอย่างแรกที่ต้องมีคือการรู้จักตัวเอง ว่าชอบอะไร อยากทำอะไร เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ทำตามกันหมด โดยที่ไม่รู้ตัวว่าเราอาจจะทำได้ดีกว่าหรือมากกว่าคนอื่นๆ ในสิ่งที่ต่างออกไป ที่สำคัญ ต้องมั่นใจว่าความชอบของเรา แตกต่างและสามารถขายได้ แล้วบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆให้ดีด้วยการวางแผน ที่สำคัญคือคิดแล้วต้องลงมือทำ มากไปกว่านั้น เราต้องรู้ว่าธุรกิจของเราต่างจากคนอื่นตรงไหน มีตลาดสำหรับเราไหม อย่าคิดแค่ว่าทำๆ ไปก่อน ยังไงเขาก็ต้องมาซื้อ มันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป ไม่อย่างนั้นคงไม่เห็นธุรกิจที่ล้มเหลวในวันนี้” ——————————————————————– Cr. Moremove magazine เล่ม 105
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market