พระธรรมโสภณ หรือ หลวงพ่อใหญ่ เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา มิใช่พระเกจิผู้มีอิทธิฤทธิ์โดดเด่นโลดโผน แต่ด้วยคุณงามความดี กอปรความตั้งมั่นในจริยวัตรอันงดงาม ครองตนอยู่ในสมณเพศอย่างเคร่งครัดเกือบชั่วชีวิต ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวอีสานให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนสำหรับพระภิกษุ-สามเณรรุ่นหลัง รวมทั้งชาวพุทธทั้งหลายได้เจริญรอยตามอีกด้วย Credit : เว็บไซด์วัดสุทธจินดา เมื่อวันคล้ายวันเกิดของพระธรรมโสภณเวียนมาบรรจบ เป็นประจำทุกปีที่ทางวัดสุทธจินดานำโดยคณะสงฆ์จะร่วมจัดงานบุญขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมสร้างบุญสร้างกุศลเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต เช่นเดียวกับปีนี้ที่ทางวัดสุทธจินดาได้จัดงานขึ้นเพื่อศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้แสดงมุทิตาสักการะในงานบำเพ็ญกุศลอายุวัฒนมงคล 92 ปี พระเดชพระคุณธรรมโสภณ เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2559 โดยพร้อมเพรียงกัน Credit : kaentong อัตโนประวัติ พระธรรมโสภณ มีนามเดิมว่า โกศล โพธิ์งาม เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2467 ที่หมู่บ้านระเวียง จังหวัดสุรินทร์ โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายสอน และนางสงค์ โพธิ์งาม ครอบครัวประกอบอาชีพกสิกรรม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน ในวัยเด็ก ได้ศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล วัดธรรมวงศา บ้านระเวียง อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ.2481 เรียนจบชั้นประถมบริบรูณ์ และโยมบิดามารดาของท่านได้ให้บุตรชาย บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดธรรมวงศา บ้านระเวียง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2481 โดยมี พระอธิการที อินทปัญโญ วัดบ้านซาด เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2482 หลวงธรรมการ ซึ่งเป็นผู้ที่บุกเบิกนำประชาชนมาตั้งบ้านเรือนและวัดธรรมวงศา บ้านระเวียง ได้ถึงแก่กรรมลง ชาวบ้านบ้านระเวียง ได้ร่วมกันบำเพ็ญกุศลทำฌาปน กิจศพให้อย่างสมเกียรติ ซึ่งหนึ่งในหมู่พระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีนั้น มีพระมหาดี ญาณาสโย มีศักดิ์เป็นหลานของหลวงธรรมการ ได้เดินทางมาจากวัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา รวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง จึงได้เลือกสามเณรโกศล โพธิ์งาม และสามเณรศลี สุขประสงค์ ไปอยู่ที่วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมาด้วยกัน วันที่ 20 กรกฎาคม 2482 เวลา 19.45 น. ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร สังกัดวัดสุทธจินดา (ธรรมยุต) โดยมีพระโพธิวงศาจารย์ ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมฐิติญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พระอุโบสถวัดสุทธจินดา กระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2489 โดยมีพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาเป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาดี ญาณาสโย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระศีลธรรมวงศาจารย์ วัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ การศึกษาพระปริยัติธรรมและงานด้านการศึกษา พ.ศ. 2477 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนประชาบาลวัดธรรมวงศา บ้านระเวียง ตำบลเบิด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2483 สอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดสุทธจินดา พ.ศ. 2484 สอบได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดสุทธจินดา พ.ศ. 2485 สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดสุทธจินดา พ.ศ. 2486 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดสุทธจินดา พ.ศ. 2487 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค สำนักเรียนวัดสุทธจินดา พ.ศ. 2489 – พ.ศ. 2490 ได้ไปศึกษาอบรมนักเรียน ครูและนักเรียน การปกครองสำนักเรียนการปกครองตำแหน่งหน้าที่ทางคณะสงฆ์ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2494 เป็นครูสอนปริยัติธรรมและเป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง พ.ศ. 2495 เป็นเลขานุการคณะธรรมยุตจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2500 เป็นเจ้าคณะธรรมยุต อำเภอเมือง และอำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2503 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา พ.ศ. 2507 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธรรมยุต) พ.ศ. 2514 เป็นพระอุปัชฌาย์ คณะธรรมยุต พ.ศ. 2519 เป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาวรวิหาร พ.ศ. 2519 เป็นรองเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต) พ.ศ. 2528 เป็นรองเจ้าคณะภาค 11 (ธรรมยุต) พ.ศ. 2542 เป็นเจ้าคณะภาค 8 (ธรรมยุต) พ.ศ. 2547 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 8 (ธรรมยุต) ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 8 (ธรรมยุต) ดูแลคณะสงฆ์ 5 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย เลย สกลนคร และหนองบัวลำภู ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. 2487 เป็นพระมหาโกศล สิรินฺธโร ป.ธ. 4 พ.ศ. 2501 รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสุนทรธรรมโกศล พ.ศ. 2510 รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีธรรมวงศาจารย์ บริหารสีมาคณานุกิจ ธรรมิกคณิสสร พ.ศ. 2521 รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชพิศาลสุธี ศรีปริยัติคุณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พ.ศ. 2534 รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวราลังการ วิสุทธิญาณโสภิต ปริยัติกิจคุณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พ.ศ. 2539 รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโสภณ โกศลปริยัติกิจ โสภิตตรีปิฎกภาณ วิศาลสังฆการนุกร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี เกียรติคุณ พ.ศ. 2533 รางวัลเสาเสมาธรรมจักร ประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา สาขาการศึกษาพระปริญัติธรรม แผนกธรรม แผนกบาลี จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. 2546 ปริญญาศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิติกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้ให้ความสำคัญในการศึกษาพระปริยัติธรรมค่อนข้างมาก ย้อนกลับในยุคแรกเริ่ม เดิมทีวัดสุทธจินดา ยังไม่มีอาคารเรียนที่เป็นเอกเทศ ได้อาศัยร่มไม้ คือ ต้นไทรใหญ่ ซึ่งอยู่ในวัดสุทธจินดา บริเวณตึกสำนักงานโรงเรียนอนุบาลในปัจจุบันเป็นสถานที่เรียน พระธรรมโสภณ (โกศล) จึงได้สร้างตึกอนุสรณ์ 80 ปี เป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาโคราช เพื่อให้วัดสุทธจินดาได้จัดให้มีการเรียนการสอน ทั้งแผนกธรรมและบาลีเป็นแห่งแรกในภาคอีสาน โดยยึดระบบการเรียนการสอนทั้งหมด ถอดแบบมาจากสำนักเรียนบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ปัจจุบัน แผนกธรรม มีการเรียนการสอนตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี-เอก ธรรมศึกษาตรี-เอก แผนกบาลี มีการเรียนการสอนตั้งแต่ไวยากรณ์ จนถึงเปรียญธรรม 5 ประโยค สำหรับนักเรียนที่กำลังเรียน ป.ธ.6 ขึ้นไป แม้ที่วัดจะไม่มีการเรียนการสอน แต่ได้มีการสนับสนุนให้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง โดยมีอาจารย์คอยแนะแนวเท่านั้น หรือไม่ก็จะส่งตัวไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ หรือถ้ารูปใดไม่ประสงค์จะเข้าไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ถ้าสอบผ่าน เปรียญธรรม 5 ประโยค ก็สนับสนุนให้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาโคราช หรือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา ต่อไป Credit : เว็บไซด์วัดสุทธจินดา จากการที่พระเดชพระคุณได้ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้การศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลีของคณะสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถิติการสอบได้สูงขึ้นโดยลำดับ ในวัยย่างเข้า 92 พรรษา ถือได้ว่า พระธรรมโสภณ ได้ปฏิบัติตามหน้าที่พระสังฆาธิการ และปฏิบัติศาสนกิจในตำแหน่งหน้าที่ได้เป็นอย่างดียิ่ง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแห่งสาธุชนชาวอีสานยิ่งนัก สำหรับผู้ที่มีจิตศรัทธาสามารถติดต่อร่วมเป็นเจ้าภาพถวายจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรมทักษิณานุปทาน จำนวน 73 รูป, ตั้งโรงทานเพื่อต้อนรับศิษยานุศิษย์, พิมพ์หนังสืออนุสรณ์ หรือจัดทำตาลปัตรและย่าม ได้ที่สำนักงานสงฆ์วัดสุทธจินดา โทร.044-245 717, 081-2642980 และ 090-1826688 แหล่งข้อมูล : ส.ธรรมศิลาไชย และ วิกิพีเดีย ภาพประกอบ : เว็บไซด์วัดสุทธจินดา และ kaentong
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market