หากกล่าวถึงธุรกิจท้องถิ่นของคนโคราชที่มีศักยภาพและเติบโตอย่างรวดเร็วจนเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากในขณะนี้ คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “Class Cafe’” ร้านกาแฟสุดชิคที่สามารถแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปทั้งในเขตเมืองและต่างอำเภอได้ไม่ต่ำกว่า 6 สาขา ภายในระยะเวลา 3 ปี และล่าสุด! ก็กำลังจะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเดอะมอลล์โคราชโฉมใหม่ที่พร้อมเปิดให้บริการในปลายปีนี้อีกด้วย ซึ่งเบื้องหลังโลโก้เรียบๆ ที่เราเห็นจะมีอะไรซ่อนอยู่นั้น วันนี้ Korat Startup ขออาสาพาผู้อ่านทุกท่านมาพูดคุยกับ คุณกอล์ฟ มารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้ง Class Cafe’ แบบสุด Exclusive ซึ่งคุณกอล์ฟจะมีอะไรดีๆ มาแชร์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่บ้างนั้น…ไปติดตามชมกันเลย! Q : ที่ผ่านมา Class Cafe’ มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดของเมืองโคราชอย่างไร A : สำหรับตัว Class เองนั้น เราวางภาพให้ตัวเราเองเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ มันจึงค่อนข้างยืดหยุ่นและสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับไลฟ์สไตล์ของคนโคราช Credit : Class Cafe’ (facebook) Q : เพราะเหตุนี้เอง เราจึงเห็น Class มีสินค้าและบริการใหม่ๆ มานำเสนอตลอดเวลา A : ใช่ครับ อย่าง Class 24 ชั่วโมง ที่เราเปิดให้บริการเมื่อเร็วๆ นี้ ที่สาขาไนท์วัดบูรพ์ เราก็ไม่ได้มองให้ธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนหรือเปิดแล้วเราจะขายกาแฟได้มากขึ้น แต่เรามองเห็นปัญหาว่าทุกวันนี้ในเมืองโคราชไม่มีพื้นที่ให้น้องๆ นักเรียนนักศึกษาได้อ่านหนังสือช่วงดึกๆ เลย จะทำงานกลุ่มหรือนัดติวหนังสือทีก็ต้องนัดเจอกันที่หอเพื่อน ซึ่งการอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ มันไม่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดงานหรืออ่านหนังสือเท่ากับการได้ออกมาเปิดหูเปิดตา ได้เห็นผู้คนที่กำลังพยายามเหมือนกับเรา มันก็เป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจมากขึ้น มันจึงเป็นเรื่องสนุกและท้าทายที่จะสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งดีๆ โดยการสร้างบรรยากาศครึกครื้นให้คนมานั่งอ่านหนังสือเยอะๆ เพราะเดี๋ยวนี้ที่บ้านเรามีที่เที่ยวที่ดื่มมากกว่าที่อ่านหนังสือเสียอีก แล้วอนาคตลูกหลานเราจะเป็นอย่างไรหากไม่มีใครลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่การเรียนรู้หรือทำงานให้แก่พวกเขา Credit : Class Cafe’ (facebook) Q : เหมือนเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในโคราช A : ส่วนใหญ่ Class จะทำหน้าที่คล้ายๆ กันครับ ไม่ว่าเราไปเปิดสาขาที่ไหนก็ตามจะสังเกตได้ว่า สังคมที่อยู่โดยรอบจะเริ่มมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงาน เริ่มใช้ Class เป็นสถานที่คุยงานมากกว่าจะไปคุยที่ออฟฟิศ เพราะที่นี่ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลายมากกว่า ลูกค้าเราจึงมีตั้งแต่สถาปนิก ตีไซน์เนอร์ ไปจนถึงเซลล์ขายรถ ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ Class จึงมีลักษณะเติบโตไปพร้อมๆ กับวัฒนธรรม และสิ่งที่ Class ทำ “ต้องให้ต่อสังคม โดยไม่คาดหวังว่าจะได้อะไรกลับคืนมา” อย่างที่เราทำ Class 24 ชั่วโมงขึ้นมา ธุรกิจต่างๆ ก็มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น อย่างคลินิคเสริมความงามมาแจกครีมบำรุงผิว โรงพิมพ์มาแจกกระดาษรีไซเคิลให้น้องๆ ไปใช้ สิ่งเหล่านี้มันทำให้รู้สึกว่า Class ไม่ใช่ของเราเท่านั้น แต่เป็นของทุกๆ คน…และทุกคนก็มีส่วนที่จะทำให้ Class เป็นในสิ่งที่ทุกคนอยากให้เป็น Credit : Class Cafe’ (facebook) Q : ก้าวต่อไปของ Class จากที่เคยเป็นร้านแบบ Stand alone สู่การเป็นส่วนหนึ่งของเดอะมอลล์สาขานครราชสีมาโฉมใหม่ที่เต็มไปด้วยแบรนด์ระดับโลก เกิดขึ้นได้อย่างไร A : การกระโดดเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการแข่งขันของเดอะมอลล์ เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะอนาคตเราไม่ได้มีแค่เดอะมอลล์เพียงที่เดียว แต่เรามี Terminal21 และ Central Praza เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดกันอย่างดุเดือดด้วย ในฐานะที่ Class เป็นแบรนด์ท้องถิ่น เราก็ต้องปรับตัวและเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ลึกๆ แล้วเราก็อยากจะเติบโตไปพร้อมๆ กับคนที่ให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่น ซึ่งเดอะมอลล์เองก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและจริงใจในการเข้ามาพูดคุย ทำให้เรามีความกล้าที่จะเดินไปร่วมในศึกครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายก็สูง คู่แข่งก็มีแต่แบรนด์ระดับโลกทั้งนั้น ในตอนนั้นเองเราก็ไปรู้สึกคลิกกับโปรเจ็กต์หนึ่งที่น้องๆ ทีม Secondfloor Architects ทำก็คืองานออกแบบร้าน Yellow Submarine Coffee Tank ที่เขาใหญ่ ซึ่งสิ่งที่น้องๆ ทำมันแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำอะไรที่แปลกใหม่ กล้าฉีกกฏ มีความรั้นนิดๆ เหมือนกับที่เราเป็น จึงดึงน้องๆ มาช่วยทำโปรเจ็กต์เดอะมอลล์ Credit : Jiroje Sinthusiri (facebook) Q : หลายคนลุ้นมากว่า Class สาขาเดอะมอลล์จะออกมาในรูปแบบไหน A : มันเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากๆ เพราะ Class เองมีวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งใช้เวลาสร้างมาประมาณ 3 ปี ในการทำให้ตัวเองดูแตกต่างออกมาจากคนอื่น และชาวโคราชในฐานะที่เป็นคนใช้บริการและเป็นคนเล่าเรื่องของ Class ก็ทำให้เรามั่นใจว่าเราอยู่ใกล้ชิดกับคนโคราชค่อนข้างมาก พอมาเจอทีมสถาปนิกรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เราจึงต้องทำการบ้านอย่างหนักในฐานะลูกค้าเพื่อคิดโจทย์ไปให้น้องๆ เขาสกัดไอเดียออกมาให้มากที่สุด โดยไม่ปิดกั้นความคิดเขาว่ามันจะต้องออกมาในรูปแบบไหน เพราะเราเปิดสาขาใหม่ทุกๆ 6 เดือน เราจึงต้องการความคิดที่สดใหม่ตลอดเวลา Credit : Class Cafe’ (facebook) Q : มีการวางคอนเซ็ปต์ Class สาขาเดอะมอลล์ไว้อย่างไรบ้างครับ A : ในการดำเนินการครั้งนี้ต้องบอกก่อนว่าไม่ได้มีแค่สาขาเดอะมอลล์เพียงที่เดียว แต่เรามองภาพรวมของ Class ทุกๆ สาขารวมกัน ทุกสาขาจะมีการปรับปรุงอย่างละนิดอย่างละหน่อย ไปพร้อมๆ กับการออกแบบ Class สาขาเดอะมอลล์ เพราะฉะนั้น รูปร่างของมันอาจจะยังไม่ชัดเจนในตอนนี้ แต่คอนเซ็ปต์คร่าวๆ ที่เราวางไว้ คืออยากให้ Class สาขาเดอะมอลล์สามารถเล่าเรื่อง Class ในทุกๆ สาขาได้ เพื่อให้คนที่มาได้รู้จัก Class ในภาพรวม ฟังดูแล้วอาจรู้สึกเฉยๆ แต่มันท้าทายตรงที่น้องๆ เขาจะนำเสนออกมาอย่างไรในน่าสนใจ ฉะนั้น รูปแบบจะเป็นอย่างไรคงต้องค่อยตามกันต่อไป เพราะในส่วนรายละเอียดของร้านจะมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก บางสาขามีแฮมเบอร์เกอร์ มี Class 24 ชม. กลายเป็นการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเราไปโดยปริยาย จากแค่คนมาซื้อกาแฟแล้ว กลับไป กลายเป็นมาใช้ชีวิตและนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่นี่ทั้งวันทั้งคืน พอมองย้อนกลับไปเราจะพบว่าตนเองเดินทางมาไกลเหมือนกัน ทั้งเรื่องรสชาติกาแฟที่เราให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก แต่คนจดจำเราในสิ่งที่เราพัฒนาและให้คุณค่า ทุกๆ บาททุกๆ สตางค์ที่เราได้มาก็คืนกลับสู่สังคมเท่าที่เราจะทำได้ นั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเรามีความเชื่อมโยงกับคนในชุมชนและเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว Credit : Class Cafe’ (facebook) Q : เห็น Class สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วถึงเพียงนี้ ทราบมาว่าที่ผ่านมา Class ก็พบปัญหาในการดำเนินธุรกิจเหมือนกัน ไม่ทราบว่ามีวิธีการรับมืออย่างไร A : ปัญหาที่เราเจอ หลักๆ เลยก็คือเรื่องรสชาติของกาแฟที่ลูกค้าจะติติงค่อนข้างมาก เราก็นำคำติชมมาปรับปรุงในวันรุ่งขึ้นทันที ชงร้อยแก้วมีพลาดสามแก้วถือว่าน้อยมาก แต่กาแฟเราจะเพอร์เฟ็คหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับการน้อมรับคำติชมและพร้อมปรับปรุงอยู่เสมอ แต่ถ้าแก้แล้วยังเป็นเหมือนเดิม แสดงว่าเกิดจากเมล็ดกาแฟ เนื่องจากกาแฟเราวางคาเร็คเตอร์เป็นกาแฟคั่วอ่อน-คั่วกลาง กาแฟจึงมีรสชาติออกเปรี้ยวของผลไม้ที่เวลาดื่มน้ำตามแล้วจะช่วยให้รู้สึกชุ่มคอแต่ลูกค้ายังไม่เข้าใจ ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของลูกค้าเลยแต่เป็นความผิดความบาริสต้าที่ไม่สามารถนำเสนอคุณค่าของสินค้าไปยังลูกค้าได้ ภาพเมล็ดกาแฟจากฟาร์มออร์แกนิค ในประเทศรวันด้า Credit : Class Cafe’ (facebook) เราจึงเกณฑ์น้องๆ ทีม Secondfloor มาร่วมทัพ ช่วยให้เรารู้สึกทำงานสนุกขึ้นเพราะมีคนมาช่วยคิดอะไรสนุกๆ เราก็ปล่อยให้เขาคิดให้เขาทำอย่างเต็มที่ ถ้ามันไม่ขัดกับแนวทางของ Class ก็แล้วไป แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรานำเสนอไอเดียเพียวๆ ของน้องๆ ออกไปโดยไม่ถูกหักล้างด้วยความต้องการของลูกค้าก่อน งานจะออกมาแข็งกระด้างแล้วผลที่ตามมาคือ ลูกค้าจะโยนไอเดียเรากลับคืนมาหมด สุดท้ายเมื่อน้องๆ เริ่มทำความคุ้นเคยกับ Class มากขึ้น ก็จะพบว่า เราซีเรียสกับการทำกาแฟค่อนข้างมาก น้องๆ เขาจึงแบ่งส่วนของงานที่เขาทำเป็นด้านสถาปัตยกรรมเพื่อรีโนเวต Class แต่ละสาขา เพราะเมื่อเวลาผ่านไปได้ซักประมาณ 1-2 ปี รูปแบบดีไซน์ของร้านก็เริ่มเก่าเริ่มล้าสมัย แต่ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัด เราจึงต้องใช้ความรอบคอบในการเลือกสรรวัสดุค่อนข้างมาก เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับ Class ซึ่งมันอาจจะดีขึ้นหรือเสมอตัว แต่อย่างน้อยเราก็ทำอะไรอะไรใหม่ๆ ด้วยความที่เราเป็นวิศวกรไม่ใช่สถาปนิก เราก็ตกแต่งไปโดยที่ไม่รู้หรอกว่าฟังค์ชั่นนี้จะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค รู้แค่มันตอบโจทย์การใช้งานแค่นั้น Credit : Class Cafe’ (facebook) Q : อะไรคือจุดที่บาริสต้าต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญ A : อย่างที่เราบอกว่าเราซีเรียสกับรสชาติกับกาแฟค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น บาริสต้าต้องรู้จักการยืนอยู่บนบาร์ที่วางอยู่ในฟังก์ชั่น แล้วก็จำส่วนผสมทุกอย่างได้ พร้อมทำและเสิร์ฟด้วยความเร็วเพื่อรักษารสชาติที่ดีของกาแฟ Credit : Class Cafe’ (facebook) Q : ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจมา อะไรคือความภาคภูมิใจของ Class A : จริงๆ โคราชมีกำลังซื้อเยอะ มี GDP เป็นอันดับ 2 ของประเทศ แต่แบรนด์ใหญ่ๆ มักจะมองข้าม เมื่อพูดถึงโคราช คนนอกพื้นที่มักมองว่าโคราชเป็นเมืองธุรกิจ-อุตสาหกรรม โคราชเลยขาดสิ่งที่เรียกว่าดีไซน์ไป Class เลยเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มเติมในเรื่องของแรงบันดาลใจ เป็นที่ที่ให้คนได้มานั่งคิดงาน นี่คือสิ่งที่เราภูมิใจเพราะด้วยแบรนด์เราไม่ได้มีจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้มีเม็ดเงินมหาศาล เราแค่ตั้งหน้าตั้งตาทำในสิ่งที่เราตั้งใจทุกวันจนเวลาผ่านไป 3 ปี มีร้านกาแฟเกิดขึ้นใหม่มากมาย ส่วนตัวเราไม่ได้มองเขาเป็นคู่แข่ง แต่เรากลับรู้สึกดีเสียอีกที่ทุกคนเข้ามาร่วมกันทำให้โคราชมีสไตล์มากขึ้น Credit : Class Cafe’ (facebook) นอกเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เราทำยังสร้างงานสร้างอาชีพให้กับน้องๆ นักศึกษากว่า 70-80 ชีวิต ได้มีงานทำ มีเงินไปใช้จ่ายส่วนตัว จ่ายค่าเล่าเรียนโดยไม่ต้องขอเงินพ่อกับแม่ใช้ เราก็ภูมิใจที่ธุรกิจเราสามารถเดินไปตามทางที่เราอยากให้เป็น แทนที่เขาจะเอาเวลาว่างไปเที่ยวเล่น เขากลับใช้เวลาส่วนนั้นมาฝึกความรับผิดชอบด้วยการทำงานหาเงินด้วยตัวเอง เจอประสบการณ์จริง เจอลูกค้าเหวี่ยงใส่จริงๆ เขาต้องอดทนและจัดการกับปัญหาตรงหน้าให้ได้ ต้องไม่อายที่จะเปิดประตูให้กับลูกค้า ผมเป็นเจ้าของร้านผมเองก็ต้องเปิดประตูให้ลูกค้าเหมือนเด็กเสิร์ฟทุกคนในร้าน เพราะฉะนั้น น้องๆ ทุกคน ต้องปรับตัวให้ได้ ต้องไม่อายที่จำคำนับลูกค้า ของหล่นต้องตะโกน “ขอโทษนะครับ/ค่ะ” เสียงดังฟังชัดแล้วไปทำงานต่อ ลูกค้าเดินออกจากร้านต้องบอก “ขอบคุณครับ/ค่ะ” ซึ่งไม่ได้ทำเพราะโดนบังคับ แต่ต้องทำด้วยความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรเราอย่างแท้จริง คือ ไม่อายไม่เขินที่จะทำสิ่งดีๆ Credit : Class Cafe’ (facebook) Q : หลังจากทำสาขาเดอะมอลล์เรียบร้อยแล้ว มองอนาคตขอ Class ไว้อย่างไรบ้าง A : เรามองว่าโคราชเป็นเมืองที่มีใหญ่มาก ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เราไปไ่ม่ถึง แต่ยังดีที่เรามี Food Truck เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อไปสำรวจพื้นที่ต่างๆ ที่เรายังไม่เคยไป วัตถุประสงค์ไม่ใช่ไปเพื่อขายกาแฟเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการไปเพื่อนำแบรนด์ของเราไปเสนอให้คนในพื้นที่ได้รู้จัก Class มากขึ้น นั่นคือหน้าที่หลักของ Class คือการทำให้คนรู้จักเรามากที่สุด เมื่อเขารู้จักเราแล้วเดี๋ยวเขาก็มาหาเราเอง ลักษณะการเจริญเติบโตอย่างเราจึงค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากพื้นที่ในท้องถิ่นก่อน แล้วอาศัยการสำรวจและขยับขยายสาขาออกไปเรื่อยๆ ในอนาคตเราอาจเห็น Class ครอบคลุมทั่วภูมิภาคอีสานเลยก็เป็นได้ ต้องคอยติดตามกันต่อไป… ภาพประกอบ : แฟนเพจ Class Cafe’
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market