ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทย มักจัดในช่วงเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปีก่อนลงมือทำนาเพื่อขอฝน ตามความเชื่อของชาวอีสานที่มีต่อตำนานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทางพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ Credit : Ubon Magic Photo ก่อนจะถึงวันงานหรือวันเอาบุญ ชาวบ้านก็จะช่วยกันเตรียมงานกันอย่างสามัคคี ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างปะรำ หรือ “ผาม” หรือ “ตูบบุญ ฝ่ายแม่ครัวก็เตรียมข้าวปลาอาหารไว้เลี้ยงแขกเลี้ยงคน ฝ่ายช่างฟ้อนก็เตรียมขบวนรำไว้สำหรับแห่บั้งไฟ ฝ่ายผู้ชายที่เป็นช่างฝีมือก็ช่วยกันทำบั้งไฟและตกแต่งให้สวยงาม งานบุญบั้งไฟส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีพิธีกรรมทางศาสนาเท่าใดนักแต่บางแห่งก็มีพิธีทำบุญเลี้ยงพระบ้าง Credit : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในวันโฮม ชาวบ้านจะมาตั้งขบวนเพื่อแห่บั้งไฟไปรอบๆ หมู่บ้าน เป็นงานบุญที่เน้นความสนุกสนานรื่นเริง ในขบวนจะมีการรำเซิ้งตามบั้งไฟ และบรรดาขี้เหล้าทั้งหลายก็จะร้องเพลงเซิ้งไปของเหล้าตามบ้านต่าง ๆ กาพย์เซิ้งอาจจะหยาบคายแต่ก็ไม่มีใครถือสากัน แต่กาพย์เซิ้งที่ใช้แห่ในขบวนมักจะเป็นประวัติและความเป็นมาของพิธีบุญบั้งไฟ Credit : เพจประเพณีบุญบั้งไฟ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด วันจุดบั้งไฟก็อาจจะจัดขึ้นอีกวันหนึ่ง โดยชาวบ้านจะเอาบั้งไฟของแต่ละคุ้มแต่ละหมู่บ้านมาจุดแข่งกัน ถ้าของใครทำมาดีจุดขึ้นได้สูงสุดก็จะชนะแต่ถ้าของใครแตกหรือซุก็ถือว่าแพ้ ต้องโดนลงโทษโดยการจับโยนลงโคลนหรือตมซึ่งเป็นที่สนุกสนานอย่างยิ่ง การจุดบั้งไฟเป็นการเสี่ยงทาย ถ้าบั้งไฟขึ้นสูง ก็ทำนายว่าฝนจะตกดี ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ Credit : Ubon Magic Photo โคราชบ้านเราก็มีงานบุญบั้งไฟจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ บ้านดอนยาว ต.ดอนยาวใหญ่ อ.โนนแดง อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อบูชาอารักษ์หลักเมืองและขอฝนจากพญาแถนเป็นประจำทุกปี หลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าโคราชบ้านเราจะมีประเพณีที่สวยงามและน่าสนใจเช่นนี้ให้ชื่นชมกันด้วย นับว่าเรื่องดีที่ปีหน้าชาวโคราชไม่ต้องดูประเพณีบั้งไฟที่ไหนไกลแล้ว Credit : ชีวิตเพื่อพ่อ หัวใจเพื่อแม่ (เพจสวัสดีโคราช) ด้วยความที่ประเพณีบุญบั้งไฟอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนอีสานมาอย่างยาวนาน ประเพณีนี้จึงมีความผูกพันกับคนอีสานอย่างเหนียวแน่น ทุกปีชาวอีสานจะจัดทำบุญบั้งไฟกันอย่างเอิกเกริก ยิ่งปีใดฝนแล้งจะต้องทำเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้ยังถือเป็นการทำบุญ ประกอบคุณงามความดีตามความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณกาล เช่น มีงานบวชนาค งานสรงน้ำพระพุทธรูป งานถือน้ำพิพัฒน์ต่อหน้าพระพุทธรูป กล่าวได้ว่าชาวอีสานใช้บั้งไฟเป็นสื่อในการให้ประชาชนทำบุญ เป็นสื่อในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับพญาแถน บั้งไฟจึงมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของคนอีสาน ในฐานะเป็นเครื่องมือของพิธีขอฝนเพื่อให้ตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนี้ประเพณีบุญบั้งไฟยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านจาก หมู่บ้านและตำบลต่างๆ ได้มาช่วยกันทำบุญบั้งไฟ มาร่วมกันสนุกสนานเป็นการรวมพลังประชาชนให้มาทำ กิจกรรมร่วมกัน ฝึกให้รักและสามัคคีกันได้เป็นอย่างดี แหล่งข้อมูล : kapook และ เพจสวัสดีโคราช ภาพประกอบ : เพจ Ubon Magic Photo, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ชีวิตเพื่อพ่อ หัวใจเพื่อแม่ (เพจสวัสดีโคราช)
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market