รัตนไชย สราธิวัฒน์ประไพ ประธานกรรมการ บริษัทตลาดเซฟวัน “ตลาดที่ไม่ใช่ตลาด” เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัว ก็จะตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับเครื่องพิมพ์ดีด เซฟวันมีที่มาอย่างไร มาจาก ห้างเซฟวัน ซึ่งเปิดในบริการเมื่อปี พ.ศ. 2537 ดำเนินการเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ่งปี 2540 เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ธุรกิจขาดสภาพคล่องเป็นผลในพนักงานตกงานจำนวนมาก ผมเองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ล้มในยุคนั้นเมื่อเงินขาดมือก็ต้องดิ้นรนหารายได้ประทังชีวิต ก็ได้เล็งเห็นโครงการเปิดท้ายขายของที่ลานจอดรถนอริสซิตี้มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมากจนพื้นที่รองรับไม่พอ ผมจึงตัดสินใจมองหาทำเลเพื่อทำธุรกิจให้เช่าพื้นที่ “เปิดท้ายขายของ” เป็นการชั่วคราวไปก่อน เพราะเห็นศักยภาพของพื้นที่การเคหะและหมู่บ้านจำนวนมากจึงเลือกทำเลบริเวณแห่งนี้ ตอนนั้นไม่ได้มองว่าจะสามารถดำเนินกิจการมาจนถึงจุดนี้ คิดแต่เพียงหารายได้เลี้ยงครอบครัวเท่านั้น . จุดเด่นของ “เซฟวัน” คืออะไร จุดขายยุคแรกคือ “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” เนื่องจากตลาดเซฟวันเกิดในยุคฟองสบู่เศรษฐกิจแตกช่วง 1-5 ปีแรก บิลบอร์ดด้านหน้าตลาดติดถนนมิตรภาพ มีคำกลอนเขียนจูงใจให้ผู้คนมาค้าขายกันว่า “เศรษฐกิจถดถอย อย่ารอคอยโชคชะตา นำสิ่งของมีค่าออกมาซื้อขายกัน” ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบในยุคนั้น มักจะเป็นผู้ที่มีรายได้ดี หรือเป็นคนชั้นกลางที่ตกงาน ดังนั้น จุดขายในยุคแรกจึงเป็น “ของมือสองราคาถูก” เรียกว่ามาจากบ้านไม่ได้ซื้อแต่มาขายโดยผู้คนที่อยากระบายสิ่งของต่างๆ เพื่อหารายได้พิเศษเพิ่ม จึงนำสิ่งของที่สะสมเหล่านั้นมา “เปิดท้ายขายของ” แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดระยะสั้นกัน ราคาขายก็สามารถจับต้องได้ ภายหลังเปิดได้ 2-3 ปี เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัว ของเก่าตามบ้านเริ่มหมด ไม่ค่อยมีคนนำของมือสองจากบ้านออกมาขาย อาจเนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้น ผู้ค้าบางคนของหมดก็ออกไปหางานทำตามบริษัท บางคนปรับตัวเป็นผู้ประกอบการต่อ นำสินค้ามือสองจากตลาดโรงเกลือมาขายแทน จุดขายในยุคที่สองช่วง “เติมเต็ม” 6-15 ปี เนื่องจากเซฟวันตลาดกลางคืนที่ลูกค้า 70-80% คือคนเดิมๆ ที่อยู่ในละแวกเซฟวันหรือในเมือง จึงต้องพยายามหาบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวันมาเติมเต็ม มีธนาคารสาขาพิเศษเปิดถึง 2 ทุ่ม เพิ่มร้านสะดวกซื้อ, ไปรษณีย์, โซนสัตว์เลี้ยงฯ นั่นคือจุดขายที่เปลี่ยนจาก “ของมือสอง” มาเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะขยายหรือมีทิศทางการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า จุดขายยุคที่สาม ปีที่ 16-ปัจจุบัน คือ “ตลาดที่ไม่ใช่ตลาด” เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวก็จะตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับ เครื่องพิมพ์ดีด เมื่อเทคดนโลยีอินเตอร์เน็ตที่กำลังมา 5G เร็วกว่า 4G ถึง 1,000 เท่า และทุกอย่างกำลังเข้าสู่อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet Of Things) มาตรฐาน FIN TECH กำลังถูกพัฒนามาแทนที่ระบบชำระเงินให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โลกโซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อกระแสหลักแทนสื่อสารมวลชนทีวีวิทยุในอดีต ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป พวกเราต้องปรับตัว สร้างจุดขายให้ โดยทำให้ตลาดเซฟวันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว การมาเซฟวันไม่จำเป็นต้องมาซื้อสินค้าและบริการ หรือรับประทานอาหารเท่านั้น แต่เป็นการ “ได้มาแล้ว” เราจะต้องทำให้นักท่องเที่ยวคิดเหมือนกันว่ามาเที่ยวโคราช “กลางวันจะไปที่ไหนก็ได้ แต่กลางคืนต้องมาเซฟวัน” . ปัญหาสินค้าซ้ำกัน นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับผมอยู่ เพราะคนที่มาตลาดเราไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่คนที่มาเดินตลาดเราเขาเกิดและเติบโตมากับที่นี่ มีแต่คนเดิมๆ ชุมชนเดิมๆ เราจึงต้องเอาของแปลกๆ มาลงมากขึ้น ทุกอย่างเริ่มมีคู่แข่ง ใครไม่ปรับก็เกิดปัญหาเองตามธรรมชาติ อยากขายก็ต้องปล่อยให้เขาขายต่อไป ลูกค้าจะเป็นคนเลือกเองส่วนหนึ่ง เมื่อเรารู้ว่าเราขาดเสน่ห์ไปเยอะ ผมก็เริ่มสร้างจุดขาย พื้นที่บางส่วนต้องตัดออก บางส่วนต้องปรับให้มี Concept มีพื้นที่ Hang out บ้าง มีพื้นที่ Outdoor สำหรับนั่งเล่นบ้าง เพื่อให้คนที่มารู้สึกว่าเป็นตลาดที่ไม่ใช่ตลาด แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรกับผู้อ่าน ขอขอบคุณชาวโคราชทุกท่านที่อุปการคุณกับ “ตลาดเซฟวัน” ด้วยดีตลอดมา หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง พวกเราทีมบริหารตลากฯขอน้อมรับและจะนำมาปรับปรุงให้ดียิ่งๆ ขึ้น พวกเราขอสัญญาว่านอกจากจะพัฒนาตลาดเซฟวันให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวหลานย่าโมด้วยกันแล้ว เราจะพัฒนาตลาดเป็นแหล่งท่องเที่ยว สำหรับแขกต่างบ้านต่างเมืองให้รู้จักทั่วประเทศและประชาคมอาเซียนต่อไปในอนาคต…ขอบคุณครับ แหล่งข้อมูล : นิตยสารหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ฉบับที่ 6
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market