โคราชเตรียมจัดงานประเพณีสงกรานต์ยิ่งใหญ่ “แห่พระ คันธารราษฎร์” พระคู่บ้านคู่เมืองอายุกว่า 300 ปี เตรียมร่วมกันฟื้นประเพณีโบราณกลับมาใหม่เป็นปีที่ 3 ในพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์” หรือ “พระขอฝน” แห่ลอดซุ้มประตูเมือง ในวันสงกรานต์ 13-15 เมษายน 2562 และถือเป็นปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายในพิธีแห่พระขอฝนจากวัดพระนารายณ์ลอดประตูชุมพล เมื่อปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ฝนถล่มกลางพิธี

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 62 ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา – เทศบาลนคร นครราชสีมา – วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา และองค์กรต่างๆร่วมกับ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร โดย นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีการแถลงข่าวงานสืบสานประเพณี “แห่พระลอดซุ้มประตูเมือง มหาสงกรานต์โคราช” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2562 ณ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร และบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

ประเพณี “แห่พระ คันธารราษฎร์” มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอดประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามในท้องถิ่นของจังหวัดนครราชสีมาให้คงอยู่สืบไป เพื่อยกระดับงานประเพณี ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนจังหวัดนครราชสีมา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของ จังหวัดนครราชสีมาให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย และ เพื่อรักษาศิลปะวัฒนธรรมไทย ตลอดจนส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจอย่างถูกต้อง

นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “สำหรับความเป็นมาและความสําคัญของการจัดงานประเพณีแห่พระลอดประตูเมืองในวันสงกรานต์ เนื่องด้วย “พระ คันธารราษฎร์” เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวโคราชมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช อายุมากกว่า 300 ปี ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถของวัดพระนารายณ์”

“ใจความสําคัญในการแห่พระคันธารราษฎร์นั้นเพื่อเป็นการขอให้เมืองโคราชมีฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งประเพณีนี้ได้ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน และหายไปในช่วงหนึ่ง จนปันจุบันได้กลับมามีประเพณีนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในปี 2562 นี้ถือ ได้ว่าเป็นปีที่ 3 แล้วที่จะมีการจัดขบวนและแห่ลอดซุ้มประตูชุมพล และนอกเหนือจากการแห่พระลอดซุ้มประตูเมือง”

“นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม อาทิเช่น การก่อเจดีย์ทราย, สรงน้ำพระ, ไหว้พระขอพร, การแสดงแสงสีเสียง จากศิลปินพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีบูธสาธิต และร้านค้าตลาดวัฒนธรรม โดยจะเป็นการสาธิตและจําหน่ายผลิตภัณฑ์ ท้องถิ่นของจังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย”

โดยพิธีประเพณีมหาสงกรานต์โคราช “แห่พระคันธารราษฎร์ลอดซุ้มประตูชุมพล” หรือ “แห่พระขอฝน” เป็นพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์ หรือ “พระปางขอฝน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของ “วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร” ประดิษฐานสู่ราชรถพร้อมการรำบวงสรวง หลังจากนั้นชาวโคราชและประชาชนจะร่วมขบวนแห่เดินจากวัดพระนารายณ์ ไปที่ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อทำพิธีทางศาสนาและให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำพระคันธารราษฎร์

สำหรับประวัติความเป็นมา “พระคันธารราษฎร์” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร สร้างเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2464 โดย “พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี)” เจ้าเมืองนครราชสีมา คนที่ 11 เป็นผู้สร้าง มีขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว สูงประมาณ 1 เมตร 30 เซนติเมตร ครั้งเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี) เจ้าเมืองนครราชสีมาขณะนั้น ได้ริเริ่มประกอบพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล” เนื่องในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวโคราชเรื่อยมาจนถึงปี 2522 พิธีกรรมดังกล่าวได้หยุดไป

กระทั่งเมื่อ วัดพระนารายณ์ ได้บูรณะสังขรณ์ปิดทอง พระทศพลญาณประทานบารมี หรือหลวงพ่อใหญ่ และขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ใต้ฐานพระประธาน ทางวัดจึงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นพิธีอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพลขึ้นมา ซึ่งการลอดประตูชุมพล เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช

สำหรับ “พระคันธารราษฎร์” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา เป็นกิริยารับน้ำ ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ โดยลงยาสีเหมือนจริง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางเรียว พระกรรณยาว เกือบจดพระอังสา ขมวดพระเกศา ทำเป็นรูปก้นหอยเรียง ตลอดถึงพระเมาลี พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา มีริ้วผ้าที่ด้านหน้าองค์พระพุทธรูป รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ทั้งนี้ ประชาชนนิยมกราบไหว้พระคันธารราษฎร์ เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเรียกชื่ออีกอย่างว่า “พระขอฝน”


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …