“ผู้ว่าโคราช” นำทีมบุกป่าเขาใหญ่ อ.ปากช่อง พบแหล่ง “น้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำอภิเษก” ใช้เวลาเดินเข้าจากปากทางกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อใช้ในพิธี “พลีกรรมตักน้ำ” เพื่อนำเข้าพิธีสมโภชน้ำอภิเษกใน “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ณ วัดกลางเมืองนครราชสีมา หรือวัดพระนารายณ์ฯ ที่กำลังปรับภูมิทัศน์ “โบสถ์กลางน้ำ” อายุ 363 ปีให้เสร็จทันพิธี

 

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เดินทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพื่อสำรวจแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเตรียมตักทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีนายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นายสุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ นายอำเภอปากช่อง พระสีหราชสมาจารมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร จังหวัดนครราชสีมา ผศ.ดร.ณัฐกิตติ์ อินทรสวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา นายสุรัตน์ บัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 นครราชสีมา พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ร่วมเดินเท้าจากเส้นทางหอส่องสัตว์หนองผักชี ไปยังจุดแหล่งต้นน้ำลำตะคอง คลองแม่เฒ่า (หรืออีเฒ่า ) ซึ่งอยู่ในป่าลึกที่ห่างจากชุมชน เป็นน้ำที่สะอาด เกิดจากธรรมชาติ ที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองนครราชสีมา

โดยการเดินเท้าเข้าไปลัดเลาะไปตามเส้นทางเดินเล็กๆ ทั้งข้ามคลอง ขึ้นเนินเขาระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเข้าไปเกือบ 3 ชั่วโมง ถึงจุดห่างจากหน่วยพิทักษ์คลองอีเฒ่าประมาณ 200 เมตร ซึ่งจะเป็นต้นน้ำที่ไหลซึมมาจากเขาฝ้าผ่า

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.62 คณะจังหวัดนครราชสีมา นำโดย นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการ จ.นครราชสีมา พร้อมด้วย พระสีหราชสมาจารมุนี รองเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร, นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา, วัฒนธรรมจังหวัดฯ, สำนักงานจังหวัด ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง และคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมสื่อมวลขน ได้ไปดูพื้นที่ๆใช้ตักน้ำศักดิ์สิทธิ์สถานที่จริงของ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” รัชกาลที่ 10 ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้ได้ออกสำรวจแหล่งน้ำ การเตรียมตักน้ำในแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทำน้ำอภิเษก ในการพระราชพิธี บรมราชาภิเษก จาก 108 แห่งทั่วประเทศ โดย จ.นครราชสีมา พบว่า ต้นน้ำลำตะคองถือเป็นแม่น้ำสำคัญ ที่มีจุดกำเนิดแม่น้ำมูล ก็คือน้ำจากบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ผืนป่ากว้างใหญ่ และมีตำนานเล่าขานกันมาอย่างยาวนาน และเป็นอุทยานแห่งแรกของประเทศไทย ส่วนด้านของ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีคลองต่างๆ หลายสาขาไหลมารวมกันที่จุด “คลองอีเฒ่า” ตรงจุดที่คณะสำรวจได้เลือก เนื่องจากต้นน้ำลำตะคอง จะไหลลงมายังน้ำตกเหวสุวัต แล้วไหลลงมาตามลำตะคอง ผ่าน อ.ปากช่อง ลงสู่เขื่อนลำตะคอง ผ่าน อ.สีคิ้ว สูงเนิน อ.เมือง แล้วลงสู่แม่น้ำมูล จึงเชื่อได้ว่าแหล่งน้ำแห่งน้ำเป็นแหล่งที่สมบูรณ์ สะอาด และศักดิ์สิทธิ์

“เพื่อนำน้ำมาประกอบพิธี ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รับมอบหมายให้วันที่ 6 เมษายน 2562 เป็นพิธีพลีกรรมตักน้ำทั่วประเทศ และทำพิธีอภิเษกบริเวณน้ำตกเหวสุวัต ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ส่วนในวันที่ 8 เมษายน พิธีเสกน้ำในวัดตามพื้นที่ต่างๆ และวันที่ 18 เมษายน พิธีอภิเษกน้ำ จะทำพิธีเสกน้ำ และพิธีอภิเษกน้ำ ทำพิธี ณ พระวิหารหลวง วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร จ.นครราชสีมา ซึ่งตามที่รัฐมนตรีว่าการ มท.ให้เตรียมพร้อมทำน้ำอภิเษก สำรวจ 76 จังหวัด พบ 107 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศไทย เพื่อทำน้ำประกอบพิธีน้ำอภิเษกตามโบราณราชประเพณี ในรัชกาลที่ 10 ส่วน จ.นครราชสีมา ได้สำรวจที่มาของต้นน้ำมูล คือจากคลองอีเฒ่า ลำผักชี บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นับว่าเป็นแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานคู่ผืนป่าเขาใหญ่ เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยง ชาว จ.นครราชสีมา”

“ซึ่งแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และทางเจ้าหน้าที่ อ.ปากช่อง ได้ไปดูและศึกษาและพัฒนาความเป็นมาของแหล่งน้ำแห่งนี้เรียบร้อยแล้ว และต้องปรับปรุงพื้นที่ใหม่เพราะต้องทำพิธีใหญ่ในการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์พิธีประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย”

“สำหรับบริเวณนี้จะเป็นสถานที่ตักน้ำ หรือ “พิธีพลีกรรมตักน้ำ” แล้วนำมาทำพิธีที่วัดพระนารายณ์มหาราช หรือวัดกลาง เมืองนครราชสีมา ส่วนวันตักน้ำต้องรอกำหนดการจากสำนักพระราชวังก่อนว่าเป็นวันไหน แต่คร่าวๆ จะเป็นต้นเดือนเมษายนนี้ งานพิธีนี้ชาวจังหวัดนครราชสีมาต้องร่วมกันแสดงถึงความจงรักภักดีอย่างยิ่งใหญ่ เพราะบริเวณตักน้ำศักดิ์สิทธิ์น่าจะมีประชาชนอยากมาร่วมพิธีจำนวนมาก เราต้องเตรียมการเรื่องนี้ด้วย” ผู้ว่าฯวิเชียร กล่าว

ขณะที่ “วัดพระนารายณ์มหาราช หรือวัดกลางนครโคราช” ถ.จอมพล อ.เมือง จ.นครราชสีมา การดำเนินโครงการบูรณะ “โบสถ์กลางน้ำ” อายุกว่า 363 ปี โดยสูบน้ำออกจากสระใช้รถขุดตักหรือรถแบ็คโฮขุดลอกดินโคลนออก ปรับระดับพื้นและสร้างผนังกั้นน้ำป้องกันตลิ่งทรุด จากนั้นจึงจะปรับภูมิทัศน์ตกแต่งตามแนวทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ที่มีกรมศิลปากรทำหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามการบูรณะโบราณสถานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

โดยการปรับภูมิทัศน์ “โบสถ์กลางน้ำ” คาดว่าจะทำการขุดลอกแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นจะปล่อยน้ำลงในสระพร้อมกับปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามเป็นสถานที่ออกกำลังกายมีลานวิ่ง และปฏิบัติธรรมของพี่น้องประชาชน ส่วนเมื่อบูรณสระน้ำโบราณแล้วเสร็จ ก่อนงานสมโภชน้ำอภิเษก ซึ่งต้องรอหมายกำหนดการจากสำนักพระราชวังอย่างเป็นทางการอีกครั้ง


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …