มิกส์ยูส โปรเจ็กต์ “เซ็นทรัลพลาซาโคราช” คว้ารางวัลต้นแบบประหยัดพลังงานระดับสูงสุด เป็นศูนย์การค้าฯขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ที่ออกแบบและเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อาคารลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ประหยัดพลังงานได้มากถึง 69.4% หรือ 7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี หลังจากเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561ที่ผ่านมา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน” กระทรวงพลังงาน ได้จัดงาน “มอบฉลากรับรองอาคาร BEC Awards 2018” เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน และเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชน เห็นความสำคัญของเกณฑ์รับรองมาตรฐานการออกแบบอาคารด้านพลังงาน Building Energy Code (BEC) และได้มอบฉลากรับรองอาคาร (BEC Awards) ระดับดีมากให้กับ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา สำหรับการออกแบบและเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อาคาร ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช ก็เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ผลการประหยัดพลังงาน 69.4% ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา สำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน นำคณะสื่อมวลชนศึกษาอาคารเซ็นทรัลโคราช ศูนย์การค้าฯขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ต้นแบบประหยัดพลังงาน แบบ “MIXED USE PROJECT” (มิกส์ยูส โปรเจ็กต์) ตามเกณฑ์มาตรฐาน BEC ระดับดีมาก ออกแบบอาคารตามหลักวิศกรรม-ภูมิสถาปัตย์ ทั้งติดตั้งอุปกรณ์ทำความเย็น-ส่องสว่าง โซลาร์รูฟท็อป 3,000 แผง เพิ่มประสิทธิภาพประหยัดพลังงานต่อพื้นที่ได้สูงถึง 69.4 % คุณโกมล บัวเกตุ ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า “พพ. ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารที่ได้รับการรับรองอาคารธุรกิจ ในระดับดีมาก ที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบด้านพลังงานเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code, BEC) ซึ่งเป็นที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ให้ความสำคัญในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบอาคาร การทำระบบส่องสว่าง และ การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ที่สามารถประหยัดพลังงานโดยรวมได้ถึง 69.4 % หรือประหยัดพลังงานในอาคาร ประมาณ 7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี จากเดิมที่มีการใช้พลังงานของอาคารคิดเป็น ประมาณ 23 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี” “การส่งเสริมให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะอาคารธุรกิจขนาดใหญ่มาให้ความสนใจในเรื่องการนำมาตรฐานของ BEC มาเป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ รวมทั้งการออกแบบ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ในด้านของต้นทุนพลังงานที่ลดลง” “ซึ่งที่ผ่านมา พพ. ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาคารศูนย์การค้า เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา เป็นอีกอาคารหนึ่งที่จะเป็นต้นแบบและแนวทางของการนำไปปรับใช้เพื่อการวางระบบอาคารธุรกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” คุณโกมลกล่าว ด้าน นายเสฏฐวุฒิ ทัตสุระ ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา กล่าวว่า “สำหรับการดำเนินการออกแบบอาคารเซ็นทรัลพลาซา อนุรักษ์พลังงานดังกล่าว ได้ออกแบบตามหลักวิศกรรมและภูมิสถาปัตย์ ที่เป็นโครงการมิกส์ยูส (Mixed-use) ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม โครงการที่อยู่อาศัย คอนโดมีเนียม และโรงแรม” “ดังนั้นปริมาณการใช้ไฟในแต่ละปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัทจึงได้มีการลงทุนในการวางระบบการบริหารจัดการด้านพลังงาน ประมาณ 3-5 % ของวงเงินลงทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ทำความเย็นภายในอาคารที่มีประสิทธิภาพ” นายเสฏฐวุฒิ กล่าวอีกว่า “ซึ่งการทำระบบส่องสว่างภายในอาคาร โดยเลือกติดตั้งกระจกโลว์อี และใช้ฟีชฟร็อป ที่มีคุณสมบัติให้แสงสว่างกันความร้อนและป้องกันรังสีเข้าภายในอาคาร รวมถึงการใช้หลอดไฟ LED ที่ใช้พลังงานต่ำ และยังได้ออกแบบด้านข้างอาคารเป็นลานจอดรถทั้งสองด้าน เพื่อสามารถเป็นฉนวนกันความร้อนเข้ามาภายในตัวอาคารอีกด้วย” “นอกจากนั้นบริษัทยังได้ลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อปขนาด 1 เมกะวัตต์ จำนวน 3,000 แผง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 4,000 หน่วย/วัน ซึ่งจะช่วยให้อาคารแห่งนี้สามารถลดใช้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าและเกิดการประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” “และเมื่อปลายปีที่แล้วเซ็นทรัลโคราชยังได้เปิด ChargeNow จุดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ Plug in Hybrid เพื่อให้บริการลูกค้าผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้บริการฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายโดย บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และพาร์ทเนอร์ “เซ็นทรัลกรุ๊ป” และ GLT Green เป็นผู้บุกเบิกโครงการ ChargeNow เครือข่ายการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แห่งแรก สำหรับ PHEVs & EVs สำหรับยานยนต์ทุกแบรนด์และทุกรุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับโลกอีกด้วย” นายเสฏฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้การตื่นตัวของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากฐานข้อมูลมีจำนวนอาคารกว่า 38 อาคาร ส่วนใหญ่เป็นอาคารสถานศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มีผลประหยัด 1.48 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี (ktoe/y) หรือคิดเป็น 60 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง พพ. มีเป้าหมายในการขยายผลการเข้าไปส่งเสริม ของอาคารธุรกิจอนุรักษ์พลังงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2562 ต่อเนื่อง โดยในส่วนของภาพรวมการดำเนินงานของโครงการ BEC ทั่วประเทศ พพ.ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่เริ่มปี 2553-2561 ที่ผ่านประมาณ 9 ปี มีแบบอาคารที่ส่งแบบเข้ามาตรวจรวมแล้ว 700 แห่ง มีผลประหยัด 40.57 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี (ktoe/y) หรือคิดเป็น 1,660 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้การดำเนินการการออกแบบอาคาร BEC ถือเป็นไปตามแผนการอนุรักษ์พลังงาน ของประเทศ หรือ EEP 2015 เพื่อให้ผลบังคับใช้ และมีผลการอนุรักษ์พลังงานทั้งระบบ ซึ่งในปีนี้จะมีการบังคับใช้กับอาคารที่ก่อสร้างใหม่ หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ สำนักงาน โรงแรม โรงพยาบาล ศูนย์การค้า โรงมหรสพ สถานบริการ อาคารชุมนุมคน อาคารชุด และสถานศึกษา โดยเริ่มบังคับใช้กับอาคารที่มีพื้นที่ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไป และบังคับใช้กับอาคารขนาด 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไปในปี 2563 และบังคับใช้กับอาคารตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรในปี 2564
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market