“อาคม”เผย ผลหารือรถไฟไทย-จีน เห็นตรงกัน ลดขนาดโครงการ ก่อสร้างช่วงกรุงเทพ-แก่งคอย-โคราชก่อน ส่วน โคราช-หนองคาย สร้างเป็นทางเดี่ยว ขณะที่ชะลอก่อสร้างแก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด จนกว่าปริมาณสินค้าจะมากพอ ระบุจีนยื่นเงื่อนเพิ่มสัดส่วนลงทุนเป็น 60% ตั้งบริษัทร่วมทุน SPV แลก ขอสิทธิ์พัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางและรายได้จากพัฒนาสถานี คาดสรุปทางการประชุมครั้งที่ 10 ปลายก.พ.นี้ที่ปักกิ่ง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากที่ได้เดินทางไปประเทศจีนพร้อมกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเจรจาอย่างไม่เป็นในโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตรและเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตรตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ใน 3 ประเด็นคือ ให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยจีน 60 : ไทย 40 ซึ่งจีนได้รับข้อเสนอไว้พิจารณาและจะให้คำตอบไทยอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้เป็นผลจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีนในประเด็นมูลค่าการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นภาระทางการเงินของไทย จึงต้องการให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุน
ส่วนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน(Special Purpose Vehicle-SPV หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ)เพื่อดำเนินโครงการจะขยายการลงทุนจากเดิมร่วมทุนในส่วนของงาน O$M ระบบการเดินรถ ครอบคลุมไปถึงการก่อสร้างบางส่วนเช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งบริษัทร่วมทุนจะลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้าง,เดินรถ.บำรุงรักษา โดยทางจีนเห็นด้วยในการเร่งรัดให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยให้ไทยเสนอรูปแบบของบริษัทร่วมทุนภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีนครั้งที่ 10 ปลายเดือนก.พ.นี้
สำหรับมูลค่าโครงการที่ค่อนข้างสูงนั้น จีนได้เสนอแบ่งการก่อสร้างเป็นเฟส จาก 4 ตอน 1. กรุงเทพฯ (บางซื่อ)- แก่งคอย 2. แก่งคอย –มาบตาพุด 3. แก่งคอย-นครราชสีมา 4. นครราชสีมา – หนองคาย เพื่อลดภาระต้นทุนโครงการโดยจะก่อสร้างระยะแรก ในตอนที่ 1 กรุงเทพฯ- แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา เป็นระบบทางคู่ และตอนที่ 4 นครราชสีมา – หนองคาย ก่อสร้างเป็นทางเดี่ยวก่อนเพื่อลดค่าก่อสร้างลงโดยจะมีการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าที่หนองคาย และใช้ระบบทางคู่ ขนาดราง 1 เมตรลงไปยังท่าเรือแหมฉบัง ส่วนตอนที่ 2 แก่งคอย –มาบตาพุด จะก่อสร้างในระยะต่อไป เมื่อมีความต้องการของปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นและยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาแนวเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบังในการขนส่งสินค้าได้
“ไทยและจีนเห็นชอบการปรับลดต้นทุนค่าก่อสร้างและปรับลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยจากการออกแบบ และการใช้วัสดุภายในประเทศให้มากที่สุดตามนโยบายรัฐบาล ลดความซ้ำซ้อนกันรถไฟทางคู่ที่มีอยู่ และดำเนินการก่อสร้างช่วงที่มีความพร้อมก่อน ซึ่งจีนจะสรุปตัวเลขหลังปรับแผนใหม่ ภายใน 2 สัปดาห์ ถือเป็นทางออกที่จะทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้”นายอาคมกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับลดขนาดโครงการเพื่อลดการลงทุนแต่การเชื่อมจากจีนผ่านลาวมาไทยยังเป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ จีนยังยื่นเงื่อนไขกรณีที่ลงทุนมากขึ้น 2 ข้อ ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่ลาวให้จีน 6 ข้อ คือ 1. สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทาง 2. รายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการโครงการนี้ ไทยนำมาสนับสนุนได้หรือไม่ ซึ่งลาวนั้นให้สิทธิ์ในการพัฒนาเหมือง 5 แห่ง ทั้งนี้ประเด็นที่ลาวให้จีนนั้นส่วนหนึ่งเพราะลาวลงทุนเองไม่ไหว ดังนั้น ในส่วนของไทยจีนมองว่า ควรได้สิทธิ์ในการพัฒนาสถานีรถไฟไทย-จีน ผ่านเพราะเมืองจะพัฒนา กระทรวงคลังจะเก็บภาษีได้เพิ่ม สามารถนำรายได้ส่วนนี้มาลงใน SPV ได้หรือไม่ ซึ่งกระทรวงคลังจะต้องพิจารณาในข้อเสนอเหล่านี้
cr: manager online