ซินโครตรอน ย้ำชัด! น้ำดื่มไทยปลอดภัยต่อการบริโภค หลังทั่วโลกผวาพบไมโครพลาสติกจำนวนมาก ปนเปื้อนในน้ำดื่มทุกยี่ห้อดัง

วันที่ 26 เม.ย. ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสมชาย ตันชรากรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการหลายแห่งทั้งในยุโรป และอเมริกา ได้ให้ความสนใจในเรื่องไมโครพลาสติกในน้ำดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากห้องปฏิบัติหนึ่งในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวดจำนวน 250 ขวดจาก 11 ยี่ห้อที่มีจำหน่ายใน 9 ประเทศ พบว่าตัวอย่างจำนวน 93% ปนเปื้อนไมโครพลาสติก โดยมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 11 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร ดังนั้นเพื่อเป็นการพิสูจน์ในเรื่องความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวดของประเทศไทย ทางทีมของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำดื่ม จำนวน 24 ขวดจาก 12 ยี่ห้อที่วางขายในร้านสะดวกซื้อทั่วไป มาทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด (FTIR-Microspectroscopy) พบว่ามีเพียง 41% ของจำนวนทั้งหมดที่พบไมโครพลาสติกปนเปื้อน และมีปริมาณโดยเฉลี่ย 2 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อยมาก จนเชื่อได้ว่าปลอดภัยต่อการบริโภค

นายสมชาย กล่าวอีกว่า สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำดื่มนั้น ระบบกรองสามารถดักจับอนุภาคที่มีขนาดเล็กในระดับ 4 – 6 ไมโครเมตร หรือประมาณ 1 ใน 20 เท่า ของขนาดเส้นผมมนุษย์ได้ ดังนั้นอนุภาคส่วนใหญ่ รวมถึงไมโครพลาสติกจะถูกกรองในระบบก่อนการบรรจุขวด การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในน้ำดื่มอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น บรรจุภัณฑ์ คือ ขวดพลาสติก หรือฝาปิดเอง นอกจากนั้น ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สามารถระบุสิ่งที่ตรวจพบได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทางสถาบันตรวจพบเส้นใยธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เส้นใยฝ้าย กระดาษ เซลลูโลส และอนุภาคที่เป็นสารอินทรีย์ เป็นต้น ในน้ำดื่มทุกยี่ห้อ มีปริมาณเฉลี่ย 5 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร การปนเปื้อนนี้อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นผงที่เบาบางล่องลอยอยู่ในอากาศ มีที่มาจากหลายแหล่ง เช่น เสื้อผ้า กระดาษ ฯลฯ แล้วปนเปื้อนระหว่างขั้นตอนการบรรจุนั่นเอง

นายสมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในฐานะที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล เรามีหน้าที่สร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องโดยใช้ความรู้และเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง เพื่อพิสูจน์ความจริง และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย งานวิจัยนี้ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันในความปลอดภัยของน้ำดื่มไทย”

สำหรับพลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ทางเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน และกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่แปรงสีฟัน ขวดแชมพู เสื้อผ้า ถุงพลาสติก ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์ต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ มีรายงานระบุว่าในปี พ.ศ. 2555 มีการผลิตพลาสติกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถึง 299 ล้านตัน และมีแนวโน้มจะผลิตมากขึ้นทุกปี

โดยพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาชิ้นแรกของโลกเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้วยังคงย่อยสลายไม่หมดไปจากโลกนี้ ด้วยสมบัติพิเศษของพลาสติกที่ไม่ถูกย่อยสลายได้โดยธรรมชาติทำให้พลาสติกกลายเป็นที่นิยมเนื่องจากความคงทน แต่ความพิเศษนี้ก็ส่งผลเสียเช่นกัน เมื่อมีการค้นพบการแพร่กระจายของชิ้นส่วนพลาสติกทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กในมหาสมุทร และแหล่งน้ำจืดต่างๆ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งพลาสติกบางส่วนถูกย่อยด้วยแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์จนกลายเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” (ขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร) และพบการแพร่กระจายทั้งบนผิวน้ำ ชายหาด และก้นทะเล ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของสัตว์น้ำหลายต่อหลายครั้ง และเมื่อไมโครพลาสติกถูกสะสมในสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น แพลงตอน กุ้ง ปู ปลา เป็นต้น และในที่สุดไมโครพลาสติกก็เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และมาถึงเราในฐานะผู้บริโภคในปัจจุบัน

 

แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

รีวิว Be With You (2018) | ภาพยนตร์รีเมคจากประเทศญี่ปุ่นเอากลับมาทำใหม่ในสไตล์เกาหลี เรียกน้ำตาผู้ชมได้แทบทั้งโรง

Be With You : ปาฏิหาริย์ สัญญารัก ฤดูฝน   เหมือนกั … …