เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ห้องประชุมศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จ.นครราชสีมา รศ.ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา พร้อมคณะทำงานซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จัดประชุม “การศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับศักยภาพของรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีล้อยาง กรณีศึกษาเมืองนครราชสีมา” รวมถึงขั้นตอนวิธีการวิจัยภายใต้กรอบนโยบายของการพัฒนาขนส่งระบบรางเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ส่งเสริมการท่องเที่ยวการพัฒนา อุตสาหกรรม ลดความต้องการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมือง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนทุนดำเนินการศึกษาโครงการนำร่องสู่การสร้างต้นแบบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า

ในที่ประชุมมีนายอัสนีย์ เชาวว์วาทิน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนนคราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา นายศิระ บุญธรรมกุล ขนส่ง จังหวัดนครราชสีมา พ.ต.อ บุญเลิศ ว่องวัจนะรอง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา ในฐานะดูแลรับผิดชอบจราจร นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทนส่วนราชการ ภาคเอกชนและผู้นำชุมชน เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงผลการศึกษาเบื้องต้นแนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งโดยสารสาธารณะ เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ระหว่างสถานีรถไฟนครราชสีมา – สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา 1 และ 2 รวมระยะทาง 3.4 กิโลเมตร งบการดำเนินการ 145 ล้านบาท

จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัย ส่วนใหญ่ท้วงติงถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากในอนาคตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่รถโดยสารโทรลลีล้อยางต้องใช้พลังงานไฟฟ้าบนเสาส่งที่เป็นหนวดกุ้ง รวมทั้งอาจขัดแย้งกับผลการศึกษาวิจัยรถ LRT ที่สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งใช้งบดำเนินการศึกษาแล้ว 60 ล้านบาท เกรงจะสูญงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

รศ.ดร.ธนัตชัยเผยว่า การนำรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีล้อย่าง ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทั้งระบบสายส่งและแบตเตอรี่ มาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงและความแออัดของการจราจรในเขตเมือง รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยมุ่งเป้าการศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรของรถโดยสารไฟฟ้าในเมืองหลักของประเทศไทย ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, เชียงใหม่, พิษณุโลก และเมืองพัทยา

“ขณะนี้เป็นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเป็นการศึกษาเชิงนโยบาย ยังไม่มีข้อสรุป โดยมีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ในการศึกษาหาข้อมูลเส้นทางและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปรียบเทียบกับรูปแบบการขนส่งรถโดยสารสาธารณะอื่นๆ จึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม” รศ.ดร.ธนัตชัยกล่าว

 

แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน


Comments are closed.

Check Also

รีวิว Be With You (2018) | ภาพยนตร์รีเมคจากประเทศญี่ปุ่นเอากลับมาทำใหม่ในสไตล์เกาหลี เรียกน้ำตาผู้ชมได้แทบทั้งโรง

Be With You : ปาฏิหาริย์ สัญญารัก ฤดูฝน   เหมือนกั … …