เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา พร้อมคณะทำงานซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันนำเสนอข้อมูลการศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับศักยภาพของรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีล้อยาง กรณีการศึกษาเมืองนครราชสีมา รวมถึงขั้นตอนวิธีการวิจัยภายใต้กรอบนโยบายของการพัฒนาขนส่งระบบราง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ส่งเสริมการท่องเที่ยวการพัฒนา อุตสาหกรรม ลดความต้องการการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมือง

โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนทุนดำเนินการศึกษาสนับสนุนให้เป็นโครงการนำร่องสู่การสร้างต้นแบบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า

ในการประชุมมีนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครราชสีมา พร้อม พล.ต.ต.วัชรินทร์ บุญคง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา นายศิระ บุญธรรมกุล ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาและผู้แทนชุมชนในเขตเมือง ร่วมรับฟังพร้อมแสดงความคิดเห็นและซักถาม บรรยากาศค่อนข้างชื่นมื่น ส่วนใหญ่ให้ความสนใจการนำรถโทรลลี ซึ่งมีความเป็นได้สูง เนื่องจากใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 200-300 ล้านบาท ที่สำคัญไม่ต้องก่อสร้างราง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นผิวจราจรในเขตเมืองที่มีปัญหาความคับแคบ และแออัดจากปริมาณยานพาหนะ หากมีการปรับแนวเส้นทางที่ยังไม่ครอบคลุมสถานที่สำคัญจะสามารถตอบโจทย์ได้ทันที

รศ.ดร.ธนัดชัย กล่าวว่า แนวทางการศึกษา รถโดยสารไฟฟ้าโทรลลี ถือเป็นยานพาหนะพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดกับลักษณะทางกายภาพของเมืองนครราชสีมา โดยรถโทรลลีใช้พลังงานไฟฟ้าส่งผ่านสายไฟฟ้าจากด้านบนตัวรถ เมื่อเปรียบเทียบกับระบบขนส่งรูปแบบระบบราง LRT หรือ ระบบแบตเตอรี่บัสที่มีข้อเสียต้องลงทุนใช้งบค่อนข้างสูง เครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่โครงการรถไฟฟ้าโทรลลีใช้เทคโนโลยีวัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศ สามารถลดต้นทุนได้มาก

“แนวทางศึกษาเส้นทางและการให้บริการกำหนดระยะทางประมาณ 3-4 กิโลเมตร เส้นทางที่ 1 เชื่อมต่อเส้นทางสายหลัก 2 เส้นทาง คือ สายสีม่วง และ สายสีเขียว, เส้นทางที่ 2 เชื่อมต่อถนนในเขตเมือง เชื่อมต่อสถานีรถไฟความเร็วสูง และ เส้นทางที่ 3 เชื่อมต่อท่าอากาศยานนครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ ฯ เพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางในเมืองหลัก เหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกกลุ่มในสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” รศ.ดร.ธนัดชัย

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …