โลกวันนี้ไม่ใช่ใบเดิมที่เราเคยคิดเคยเชื่ออีกต่อไปแล้ว โลกวันนี้มีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นทุกวันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล อนาคตพุ่งเข้ามาหาเราด้วยความเร็วของการเปลี่ยนแปลง ความคิดความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าดีว่าเหมาะ อาจไม่เหมาะกับโลกวันนี้ และอนาคตอีกต่อไป ตลาดงาน และอาชีพในภาคธุรกิจ ก็ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

คนเจนใหม่ในรุ่นต่อจากเจนวาย คือคนที่อยู่ในวัยกำลังศึกษาหาความรู้ พวกเขาคือมวลชนที่จะเติบโตขึ้นด้วยแรงปะทะของอนาคตที่เปลี่ยนไปเร็วขึ้น กระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมศักยภาพทางปัญญา นำไปใช้เป็นพลัง และอาวุธ สำหรับการดำรงชีวิตในภายภาคหน้าจำต้องเปลี่ยนไป

อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อธิบายเกี่ยวกับระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยว่า ในสังคมไทยถือเอาว่าเป็นระดับการศึกษาขั้นสูงในชั้นแรกก่อนจะเริ่มต้นชีวิตการทำงาน กรอบความคิดดั้งเดิม 2 เรื่อง คือ ต้องสอบเอ็นทรานซ์ และแอดมิสชั่นส์ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยรัฐ กับค่านิยมที่มองว่าปริญญาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เรียนอะไรก็ได้ให้จบปริญญา ยังครอบงำพ่อแม่ ผู้ปกครอง และส่งต่อกรอบคิดเช่นนั้นสู่คนรุ่นลูก ระบบการศึกษาของไทยจึงย่ำอยู่กับที่

“คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเดินตามรอยเท้าคนในอดีต” หมายถึงปัจจุบันมีทางเลือกในการเรียนรู้มากมาย หลายรูปแบบ หลายเส้นทาง ถ้าปลดล็อกกรอบความคิดดั้งเดิม 2 เรื่องที่กล่าวมา ระบบการศึกษาไทยจะก้าวไปไกลกว่านี้

“ระบบการศึกษาไทยต้องฝึกให้เด็กคิดเองให้เป็น ให้รู้จักคิดนอกกรอบ กล้าเดินในทางที่ไม่มีใครเดินมาก่อน ผมคิดว่า เราต้องมีอนาคตเป็นตัวตั้ง ซึ่งหมายถึง ควรคิดให้ได้ก่อนว่าชีวิตนี้คุณอยากเป็นอะไร อยากทำอาชีพแบบไหน แล้วหาว่าต้องเรียนอะไรจึงจะไปทำอาชีพนั้นได้ แล้วสิ่งที่อยากเรียนนั้น มีที่ไหน มหาวิทยาลัยไหนตอบโจทย์ตรงนี้ได้ คุณก็ไปตรงนั้น แต่ถ้ายังติดอยู่กับชื่อมหาวิทยาลัย ติดอยู่กับการเรียนเพื่อมุ่งเป้าที่ใบปริญญา คุณอาจไม่ได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน แต่เรียนเพื่อคนอื่น เพื่อพ่อแม่ เพื่อสังคม จบออกมาก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพื่อหาว่าจริงๆ แล้วคุณอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร” อาจารย์เพชร กล่าว

ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ คือมีบัณฑิตจบใหม่ปีละกว่า 3 แสนคน และมากกว่าครึ่งคือคนว่างงาน สาเหตุสำคัญมาจากสาขาที่เรียนไม่ตรงกับตลาดงาน ทักษะการทำงานของบัณฑิตใหม่ยังไม่ถึงมาตรฐานงานในสนามงานจริง เพราะการเรียนรู้ 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ได้บ่มเพาะ ฝึกฝนฝีมือด้วยการเรียนรู้แบบลงมือทำ รวมทั้ง ขาดการฝึกทักษะจำเป็นเพื่อนำไปใช้ในการทำงาน นักศึกษายังเรียนอยู่ในห้องเลคเชอร์ ทำรายงานด้วยวัฒนธรรมคัดลอก และจัดวาง ยังคิดว่าเกรดจบในใบปริญญา คือตัวตัดสินการได้งานทำ

ปัจจุบันโลกเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นทุกวันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล กรอบความคิดเก่าๆ การเรียนรู้แบบเดิมๆ จึงต้องเปลี่ยนแล้ว อยากทำงานอะไรให้มุ่งเรียนเพื่อสิ่งนั้น อย่าไปติดอยู่กับชื่อเสียงว่าจะต้องเรียนมหาวิทยาลัยรัฐ ต้องเรียนคณะนี้ของที่นั่นที่นี่ ถึงเวลาแล้วที่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทยต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนไปอย่างไร กลไกไหนบ้างที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ภาคตลาดงาน ธุรกิจ และสังคมอาจช่วยหาคำตอบให้ได้ การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดที่สุดของมหาวิทยาลัย เพื่อยังคงทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมคุณภาพคนรุ่นใหม่ที่ก้าวทันโลกความเปลี่ยนแปลง

อย่างน้อยที่สุดมี 4 ประเด็นที่มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนอย่างจริงจัง คือ 1.เปลี่ยนหลักสูตรให้ทันสมัย อย่าไปติดว่าอะไรเดิมๆ ที่ดีอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยน หลักสูตรนี่เองคือเส้นทางสร้างโอกาสงานยุคใหม่ เช่น คณะนิเทศศาสตร์ที่มีหลักสูตรนานาชาติเรียนรู้เรื่องการผลิตสื่อนวัตกรรม ย่อมตอบโจทย์งานนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัลมากกว่าเรียนนิเทศศาสตร์ในหลักสูตรเก่า หรือคณะบริหารธุรกิจที่มีหลักสูตรนักวางแผนการเงิน ตอบโจทย์ธุรกิจในแวดวงการเงินการลงทุนได้ทันที เป็นต้น

2.เปลี่ยนอุปกรณ์การเรียนให้ทันสมัย และมากพอ เพื่อให้นักศึกษาฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างชำนาญได้ เช่น การเรียนเพื่อเป็นนักออกแบบเกม คอมพิวเตอร์ทันสมัยต้องมีจำนวนพอกับนักศึกษา หรือเรียนสาขาการผลิตภาพยนตร์ ห้องเรียนของนักศึกษาคือโรงถ่ายสตูดิโอ ใช้กล้องระดับมืออาชีพ มีห้องตัดต่อดิจิทัลแลบ เป็นต้น 3.เปลี่ยนการสอนเป็นการเรียนรู้ พูดคุยระดมความคิด ถกเถียงกันมากกว่าให้ฝ่ายหนึ่งพูดอีกฝ่ายหนึ่งฟังไปเงียบๆ และจดจำ เปลี่ยนให้คณาจารย์ทำหน้าที่ “โค้ช” ชี้นำนักศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ สิ่งใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่จะเกิดขึ้นได้ และ 4.สร้างโอกาส และเครือข่ายงาน โดยเน้นการเรียนผ่านการลงมือทำตั้งแต่เข้ามาเรียนปี 1 ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องมี ecosystem ที่แข็งแกร่ง มีพันธมิตรทางการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อมีส่วนสร้างเครือข่ายงาน สถานที่ฝึก และทำงานจริงให้นักศึกษา

อันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ภาพที่ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดงานยุคใหม่ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ว่า โลกเปลี่ยนเร็ว ตลาดงานอาชีพก็เปลี่ยนตาม เดิมคนไทยชื่นชมงานราชการ รัฐวิสาหกิจ งานธนาคาร หรือไม่ก็อาชีพที่อยู่ในความนิยมอย่างแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และวิศวกร แต่ปัจจุบัน มีอาชีพยุคใหม่เกิดขึ้นมากมาย และกลายเป็นงานในฝันของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งมีข้อมูลที่ชี้ว่าตลาดงานยังขาดแคลนบุคลากรสำหรับอาชีพยุคใหม่ราว 85% ทั้งๆ ที่รายได้สูงกว่าอาชีพทั่วไปถึง 61% อาชีพที่ว่า เช่น นักการตลาดดิจิทัล นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น นักสร้างสรรค์แอนิเมชั่น กราฟฟิคดีไซเนอร์ เกมดีไซเนอร์ ยูทูบเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญการผลิตคอนเท้นต์ ฯลฯ

ยังมีชื่อตำแหน่งงานอีกมากที่อาจไม่คุ้นหูพ่อแม่ ผู้ปกครอง แต่อยู่ในความนิยมของนักเรียน นักศึกษา รวมทั้ง การเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่ทำได้เองด้วยตัวคนเดียว ส่งผลให้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวตามตลาดงาน เพื่อผลิตบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ และวิถีสังคมที่เปลี่ยนไป

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์

 


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …