พลันที่ “รัฐบาลทหาร” กดปุ่มถมคันดินก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช สายแรกของประเทศไทย ที่เชื่อมการเดินทาง 5 จังหวัดภาคอีสาน ด้วยระยะทาง 253 กม. ไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ทำให้โมเดลเมืองใหม่ถูกพูดถึงอีกครั้ง

หลัง “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เจ้ากระทรวงคมนาคม ออกมาตอกย้ำการพัฒนารถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนมาก อย่าดูแค่รายได้กำไรจากรถไฟ ต้องดูที่ประโยชน์ทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นตลอดแนวเส้นทาง ทั้งการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีและเมืองใหม่ จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งสำคัญสุดคือ connectivity ด้านกายภาพที่จะเกิดขึ้นในประเทศ

จะว่าไป “โมเดลเมืองใหม่ไฮสปีดเทรน” เคยมีการศึกษาร่วมกันระหว่าง “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” กับ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” เมื่อครั้งที่รัฐบาลเพื่อไทยดันโครงการ 2 ล้านล้านในปี 2556

ในขณะนั้นศึกษาครบถ้วน 4 เส้นทาง 4 ภาค มี 17 สถานี ทั้งพัฒนาสถานีเดิมและเปิดพื้นที่ใหม่ มีเมือง 3 ขนาด คือ S-M-L (ดูแผนที่) พื้นที่ตั้งแต่ 2,000-5,000 ไร่ ในรัศมี 5-10 กม.รอบสถานีมีโมเดลญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางให้เกิดมูลค่าเพิ่ม นอกจากเพื่อการเดินรถแล้ว จะต้องวางกรอบการพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ สถานีเพื่อสร้างรายได้

 

ทั้ง 17 สถานี จำแนกเป็นสายอีสาน “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สระบุรี 3,000 ไร่ ห่างจากสถานีเดิม 4 กม. อยู่ถนนวงแหวนรอบนอกตรงข้ามกับศูนย์การค้าโรบินสัน ติดกับอ่างเก็บน้ำคลองเพียว 2.ปากช่อง 3,000 ไร่ ห่างสถานีรถไฟเดิม 5 กม. เป็นที่ดินกรมธนารักษ์ และ 3.นครราชสีมาพัฒนาสถานีเดิม 7,000 ไร่

สายเหนือ “กรุงเทพฯ-พิษณุโลก” มี 5 แห่ง ได้แก่ 1.พระนครศรีอยุธยา 5,000 ไร่ อยู่สถานีเดิม ใกล้เมืองอยุธยาและใกล้แหล่งท่องเที่ยว 2.ลพบุรี 5,000 ไร่ อยู่สถานีรถไฟบ้านป่าหวาย ต.ป่าตาล อ.เมืองลพบุรี ห่างสถานีรถไฟลพบุรี 5 กม. 3.นครสวรรค์ 5,000 ไร่ อยู่สถานีรถไฟเดิม ต.หนองปลิง อ.เมือง ห่างศูนย์กลางเมือง 6 กม. 4.พิจิตร เปิดพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิม 2 กม. จำนวน 5,000 ไร่ และ 5.พิษณุโลกอยู่สถานีเดิม 5,000 ไร่ การพัฒนาจะไม่กระทบต่อตลาดและชุมชนโดยรอบ

สายใต้ “กรุงเทพฯ-หัวหิน” มี 4 แห่ง ได้แก่ 1.นครปฐม 3,000-4,000 ไร่ อยู่สถานีเดิม 2.ราชบุรี 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิม 3 กม. 3.เพชรบุรี 3,000-4,000 ไร่ บนพื้นที่ใหม่ ห่างจากในเมือง 2 กม. และ 4.หัวหิน 5,000 ไร่ บนพื้นที่ใหม่ ตรงข้ามสนามบินหัวหิน บริเวณบ่อฝ้าย-ห้วยจิก ห่างจากหัวหิน 6 กม.และชะอำ 17 กม.

และสายตะวันออก “กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง” ปัจจุบันถูกแปลงร่างกลายเป็นไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มี 5 แห่งได้แก่ 1.ฉะเชิงเทรา เปิดพื้นที่ใหม่ 2,500 ไร่ ตั้งอยู่ ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา 2.ชลบุรี อยู่สถานีเดิม 3,000-4,000 ไร่ 3.ศรีราชา มี 2 ทางเลือก คือ สถานีเดิม 400 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิมมาด้านใต้ 3-4 กม. ขนาด 7,000 ไร่ 4.เมืองพัทยา 5,000-6,000 ไร่ มี 3 ทางเลือก คือ สถานีเดิม 5,000 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิมขึ้นไปทางเหนือ 5 กม. และห่างจากสถานีเดิมมาด้านใต้ 8 กม. และ 5.ระยอง 4,000-5,000 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟมาบตาพุดขึ้นไปทางตัวเมืองระยอง 8 กม.

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า สำหรับการกำหนดที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำหนดในทีโออาร์ให้เอกชนที่สนใจร่วมลงทุน PPP กำหนดตำแหน่งสถานีได้เอง แต่จะต้องมีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เอง เหมือนกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่กลุ่มบีทีเอสยื่นข้อเสนอ

ด้าน “มณฑล สุดประเสริฐ” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การวางกรอบพัฒนาเมืองใหม่รองรับรถไฟความเร็วสูงยังคงเดินหน้าตามคอนเซ็ปต์เดิมที่กรมเคยศึกษาเบื้องต้นไว้ 17 สถานี การพัฒนามี 2 รูปแบบ คือ 1) จัดวางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะ ภายในจะกำหนดโซนนิ่ง อาทิ โซนที่อยู่อาศัย โซนสาธารณูปโภค เช่น ถนน สวนสาธารณะ โซนพาณิชยกรรม มีศูนย์การค้า ใช้เวลาประมาณ 1 ปี

2) การจัดรูปที่ดิน จะใช้เวลาดำเนินการนาน จะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และจัดแบ่งเฟสที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ แนวทางนี้กรมจะร่วมกับหน่วยงานของรัฐตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมารองรับ หรืออาจจะให้รัฐและเอกชนร่วมกันลงทุนรูปแบบ PPP

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ขนาดของเมือง และวิธีดำเนินการ เช่น ถ้าใช้วิธีการจัดรูปที่ดิน จะแชร์ที่ดินจากเอกชนมาพัฒนาร่วมกัน การลงทุนจะถูกประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อแห่ง หากลงทุนทั้งค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน จะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

ดูเหมือนทุกอย่างพร้อมรอ “รัฐบาล คสช.” หยิบมาสานต่อเท่านั้นเอง


อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

Muuji Festival 2024 เทศกาลดนตรีแบบฉบับญี่ปุ่น ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ฉีกไอเดีย Festival แนวใหม่ Vibes ญี่ปุ่นจัดเต็ม ท่ามกลางเขาใหญ่

พร้อมเข้าสู่ปีที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่! Muuji Festival 2024 … …