ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC กำลังเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก เพราะการลงทุนและโครงการอีกหลายๆ โครงการกำลังหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตนี้ เพื่อนำประเทศไทยขึ้นฮับเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างที่รัฐบาล คสช.ตั้งหน้าตั้งตาผลักดัน

ด้วยความที่รัฐบาลนี้ตั้งใจจะผลักดันเขตนี้ขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจ ความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการจัดการในทุกด้านจึงต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสัญจรและการขนส่งที่จำเป็นต้องมีความสะดวกสบาย และคล่องตัวมากขึ้น

ทำให้ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ที่นอกจากจะจัดทัพ 103 โครงการ ด้วยเม็ดเงินลงทุน 745,710.50 ล้านบาทแล้ว ล่าสุด กรมทางหลวง ก็กำลังเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่มาเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางและขนส่งสินค้าโซนตะวันออกให้สมบูรณ์มากขึ้น

เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางอยู่ในแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ประเทศไทยที่ทำเป็นพิมพ์เขียวแล้วก่อนหน้านี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของสายทาง “ชลบุรี-หนองคาย” กำหนดการสร้างจากช่วงท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ที่มีความสำคัญสูงในการรองรับการเดินทางของประชาชนและภาคการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 รวมระยะทางประมาณ 125 กม. ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา 3 จังหวัด 10 อำเภอ

ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ในพื้นที่ อ.บางละมุง อ.ศรีราชา อ.หนองใหญ่ อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง และ อ.เกาะจันทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ในพื้นที่ อ.แปลงยาว อ.สนามชัยเขต และ อ.พนมสารคาม และ จ.ปราจีนบุรี ในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ

ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ท่าเรือแหลมฉบัง-ทางหลวงหมายเลข 3340 ระยะทางประมาณ 63.4 กม. และทางหลวงหมายเลข 3340-ปราจีนบุรี ระยะทางประมาณ 60.6 กม. รูปแบบการก่อสร้างเป็นถนนขนาด 4-8 ช่องจราจร ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 6 แห่ง อยู่บริเวณทางแยกต่างระดับ บริเวณด่านศรีราชา บ่อวิน หนองใหญ่ บ่อทอง สนามชัยเขต และศรีมหาโพธิ

โดยโครงการนี้จะมีการออกแบบการก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบด้านการแบ่งแยกชุมชนที่คาดการณ์ว่าน่าจะเกิดขึ้นในต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางลอด ทางเชื่อมชุมชน และทางบริการ ซึ่งจะมีการเวนคืนที่ดินเพื่อการดำเนินการบางส่วน

ด้านการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการ พบว่ามีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 13.4% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 11,902.74 ล้านบาท และค่าอัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C ratio) เท่ากับ 1.2 ส่วนมูลค่าการลงทุนโครงการอยู่ที่ประมาณ 70,854.8 ล้านบาท

เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ จะช่วยให้การเดินทางและขนส่งสินค้าตามแนวเส้นทางดังกล่าวมีความสะดวกรวดเร็ว ช่วยในเรื่องของการลดอุบัติเหตุ และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรคับคั่ง บนมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี ช่วงทางแยกต่างระดับหนองขาม-ท่าเรือแหลมฉบัง และถนนสุขุมวิท ช่วงแยกต่างระดับแหลมฉบัง-คลองบางละมุง ที่จะมีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของประเทศในอนาคต

ที่สำคัญยังเป็นเส้นทางรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เชื่อมต่อการค้าการลงทุนและการเดินทางระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตด้วย

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ภาพประกอบ : หนุ่มเมืองใต้ (Pantip)


Comments are closed.

Check Also

เคลียร์แล้วปมรื้อสถานที่จัดงานเปิดการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนนายกเทศบาลต.สีมามงคลแจงชัดเจน

    สืบเนื่องกรณีที่มีผู้โพสต์ภาพและข้อความใน … …