เมื่อเวลา 17.20 น. วันที่ 26 ต.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ คุณพลอยไพลิน เจนเซน คุณสิริกิติยา เจนเซน ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พ.ต.จิทัศ ศรสงคราม เฝ้ารับเสด็จ จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นพระที่นั่งทรงธรรม ประทับพระราชอาสน์ตรงหน้าอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพทรงธรรมที่พระเมรุมาศ ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 แล้ว พระสงฆ์ 50 รูป สวดศราทธพรต จบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตร สมเด็จพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนาและพระสงฆ์ 50 รูป ที่สวดศราทธพรตสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชอาสน์ที่มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ขบวนผู้แทนจิตอาสาเชิญพานดอกไม้จันทน์ จำนวน 9 พาน เดินเข้ามณฑลพิธี ในหลวง ร.10-พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ขึ้นพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ เวลา 18.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งทรงธรรมไปขึ้นพระเมรุมาศ ทรงวางเครื่องราชสักการะพระบรมศพ ทรงจุดธูปเทียนดอกไม้จันทน์ ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร กองเกียรติยศทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และยิงปืนเล็กยาว 9 นัด พร้อมกันกับทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ถวายพระเกียรติ 21 นัด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระเมรุมาศไปประทับ ณ มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศ์ พระประมุข ประมุข พระราชวงศ์และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ผู้นำศาสนา ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพตามลำดับ หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับพระประมุข ประมุข พระราชวงศ์และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ในหลวง ร.10 มีพระราชปฏิสันถารกับพระประมุข และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ภายหลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ มีพระราชปฏิสันถารกับพระประมุข พระราชวงศ์ และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ‘องค์จิกมี’ ทรงติดเข็มกลัดเลข ๙ แนบพระอุระร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งภูฏาน เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก ทรงร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงติดเข็มกลัดรูปเลข ๙ อันเป็นเลขรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระอุระด้วย สมพระเกียรติยิ่งใหญ่ โขนหน้าไฟ-มหรสพ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังมีการจัดแสดงมหรสพทั้งหมด 3 เวทีหลักจัดแสดง ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันที่ 26 ต.ค.จนถึงเวลา 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ถือเป็นสุดยอดการแสดงที่รวมศิลปินหลากหลาย ตั้งแต่ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน เพื่อให้งานครั้งนี้มีความสมบูรณ์ ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติอย่างสูงสุด โดยกรมศิลปากรเตรียมการจัดการแสดงมหรสพ เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพใน 3 เวทีหลัก ใช้ศิลปิน นักแสดงรวมกว่า 3,084 คน ประกอบด้วย 1.การแสดงโขน หน้าพระที่นั่งทรงธรรม หรือโขนหน้าไฟ หน้าพระเมรุมาศกำหนดจัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร–ยกรบ–รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้แสดงคือ นาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ 12 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 2.การแสดงมหรสพ ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือมี 3 เวที ทุกเวทีกำหนดเวลา เริ่มแสดง 18.00 น. ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจนถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยการแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ ประกอบด้วยเวทีการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระและโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยนาฏศิลปินของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมด้วยครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป 12 แห่ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ การแสดงมี 3 ส่วน ได้แก่ การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ ผู้แสดงจะเป็นครูอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมกับครูอาวุโส สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกรและชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร เป็นการแสดงของกรมศิลปากร การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทาน (มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ) ส่วนเวทีการแสดงละคร หุ่นหลวง และหุ่นกระบอก ประกอบด้วย ละครเรื่องพระมหาชนก การแสดงหุ่นหลวง ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครใน เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาชมศาล–อิเหนาตัดดอกไม้–ฉายกริช–ท้าวดาหาบวงสรวง และละคร เรื่องมโนห์รา ผู้แสดง บรรเลง ขับร้อง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 322 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้น 422 คน ขณะที่เวทีที่ 3 คือเวทีการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัยและบทเพลง โดยผู้บรรเลง ขับร้องและผู้แสดงจาก สำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้การแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ ถือเป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งโบราณ โดยมีจุดประสงค์ให้ประชาชนชม และถือว่าเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน ในหลวง พระราชทานหนังสือ “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน” ที่ระลึกในพระราชพิธีถวายพระเพลิง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์หนังสือ “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน” พระราชทานในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ตัวแทนจิตอาสาเชิญพานดอกไม้จันทน์หน้าพระบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตอาสาเฉพาะกิจงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 33 คน จากทั่วประเทศ ทุกภูมิภาคทั่วโลก ทุกเพศทุกวัย เป็นตัวแทนประชาชนชาวไทย และคนไทยในต่างแดนเป็นผู้เชิญพานดอกไม้จันทน์ 33 พาน ให้แขกมาทูลเกล้าฯ ถวายที่เบื้องหน้าพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง โดยทั้ง 33 คน เป็นตัวแทนจิตอาสาเฉพาะกิจฯ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาต ให้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการรวมพลังความรักอันมีค่า รวมพลังน้ำใจ ของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่จะน้อมถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก่อนเสด็จสู่สวรรคาลัย โดยได้เปิดรับสมัครประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลกไปเมื่อวันที่ 1-30 ก.ย.60 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 4,006,825 คน ซึ่งจิตอาสาเฉพาะกิจทั้ง 33 คน นี้มีทุกเพศ ทุกวัย และจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย จิตอาสาเฉพาะกิจฯ ที่อายุน้อยที่สุดคือ อายุ 1 ขวบ 6 เดือน และอายุมากที่สุด 93 ปี น.ส.อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ หรือ แนท มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2015 ซึ่งมีโอกาสเป็น 1 ใน 33 ของตัวแทนประชาชนจิตอาสากล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในตัวแทนประชาชนได้มาทำหน้าที่ถือพานในฐานะคนไทยทั้งประเทศนำดอกไม้จันทน์ถวายพระบรมศพ ซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญในชีวิต ก่อนหน้านี้แม้เคยมาเข้าคิวสักการะพระบรมศพตั้งแต่ตี 3 กับพี่สาว แต่พี่สาวกลับเป็นลมชัก ทำให้หมดโอกาส วันนี้ถือได้ว่าเป็นที่สุดของชีวิต ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้สมัครเป็นจิตอาสาเฉพาะกิจ ด้านบริการประชาชน เพราะอยากจะทำความดีเพื่อพระองค์ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ทำอะไรมากนัก แต่ 1 ปีที่ผ่านมาก็ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาที่ท้องสนามหลวงอยู่หลายครั้ง แจกอาหาร เก็บขยะ ที่เต๊นท์ต่างๆ นอกจากนี้เพราะเรียนด้านสังคมสงเคราะห์ และได้ฝึกงานที่บ้านพักคนชรา จึงได้ช่วยเหลือโครงการด้านผู้สูงอายุและสตรี พาผู้สูงอายุไปออกกำลังกาย ร้องเพลง เข้าวัดวิปัสสนา “แนทคิดว่าการทำดีไม่ใช่เรื่องยาก ทุกอย่างสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน แม้จะไม่ได้มีเวลามากนัก แค่เก็บขยะ ก็ถือเป็นการทำความดีได้โดยง่ายแล้ว การช่วยเหลือคนเล็กๆน้อยๆ ยิ่งได้เห็นคนทำความดีเป็นแบบอย่างก็ยิ่งทำให้แนทมีแรงใจทำความดีต่อไป ดั่งเช่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ถือได้ว่าเป็นองค์ต้นแบบของการทำความดี” แนท อนิพรณ์ กล่าว ขณะที่ นายพศุตม์ บานแย้ม หรือ อาร์ต ชาว จ.สมุทรสาคร อายุ 35 ปี อาชีพดารานักแสดง จิตอาสาบริการรับส่งประชาชนบริเวณท้องสนามหลวงโดยไม่คิดค่าบริการ กล่าวว่า ปฏิบัติงานจิตอาสามาตลอด 1 ปี ตั้งใจอำนวยความสะดวกประชาชนประชาชนตั้งแต่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนถวายบังคมพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 จนถึงวันที่ปิดเข้ากราบพระบรมศพ และในช่วงสุดท้ายวันที่ 24 และ 25 ต.ค. ก่อนพระราชพิธีถวายพระเพลิง ตนขับจักรยานยนต์อำนวยความสะดวกประชาชนในช่วงเวลา 18.00 น. ถึง 02.00 น. ส่วนใหญ่รับส่งจากสนามหลวงไปจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญ ไกลสุดไปเขตอ่อนนุช เคยเติมน้ำมันรถ 150 ซีซี เต็มถัง 2 ครั้ง รวมระยะทางไม่ต่ำกว่า 170 กิโลเมตรต่อวัน ภาคภูมิใจที่ได้เป็น 1 ใน 33 จิตอาสาพระราชทานทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวม และจะมุ่งมั่นทำความดีต่อไป ตนสำนึกอยู่เสมอว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบของการทำความดีและมีพระเมตตา และจะดำเนินรอยตามสมเด็จพระเจ้าอยู่พระกษัตริย์ผู้ทรงมีระเบียบวินัยยิ่ง สวีเดนเชิญ “พระราชลัญจกร” รัชกาลที่ 9 ประดิษฐานยังโบสถ์ที่ฝังพระศพพระราชวงศ์ วันที่ 26 ต.ค. ทางการสวีเดน จัดพิธีอัญเชิญพระราชลัญจกร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากพระราชวังกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ไปประดิษฐานที่โบสถ์รีดดาร์โฮล์ม อันเป็นสถานที่ฝังพระบรมศพราชวงศ์สวีเดนหลายพระองค์ ในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสวีเดน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2493 พิธีเริ่มเวลา 11.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยกองทหารเกียรติยศจะอัญเชิญพระราชลัญจกรพิเศษ (ตราพระครุฑพ่าห์) จากพระราชวังกรุงสตอกโฮล์มไปโบสถ์รีดดาโฮล์ม และในระหว่างเวลา 12.00-13.00 น. จะมีพิธีตีระฆังแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งนี้ ธรรมเนียมดังกล่าว เป็นพิธีที่ประเทศสวีเดนจัดขึ้นเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุด แด่ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว ในวันเดียวกับพระราชพิธีพระบรมศพ แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market