นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อติดตามผลและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาจราจร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปสาระสำคัญผลการประชุม ได้ ประกอบด้วย 1. แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคณะกรรมการฯ ได้รับทราบสถานะการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าตามแผนการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ เดือนมิถุนายน 2560 โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 โครงการ ระยะทางรวม 119.5 กิโลเมตร 2. ผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง คค. รฟม. และ กทม. ที่ได้เห็นชอบในหลักการให้ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ และลงทุนส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และได้มอบหมายให้ คค. กทม.และกระทรวงการคลัง หารือในรายละเอียดร่วมกันในการลงทุน และการโอนหนี้สินและทรัพย์สินต่อไป 3. การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต) ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษา ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต) ซึ่ง สนข. ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 โดยรูปแบบจะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือTramway) มูลค่าโครงการในระยะแรกช่วงจากท่าอากาศยานภูเก็ตถึงห้าแยกฉลอง อยู่ที่ 30,154 ล้านบาท ระยะทางรวม 41.7 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งระดับดิน ยกเว้นบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จะเป็นสถานียกระดับและมีทางลอดสำหรับ ระบบรถไฟฟ้า จำนวน 3 ทางลอด ตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง (บนถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลองประมาณ 200 เมตร) ทั้งนี้ โครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ได้ถูกบรรจุไว้ในโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 ของกระทรวงคมนาคม โดย รฟม. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินโครงการแบบ PPP ต่อไป 4. ความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค (จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา และเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา) ที่ประชุมได้รับทราบผลความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา และเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีรายละเอียดดังนี้ 4.1 จังหวัดขอนแก่น สำนักงานนโยบายและแผนการส่งขนและจราจร (สนข. )อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางสายแนวเหนือ-ใต้ (สำราญ-ท่าพระ) ระยะทางประมาณ22.8 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาเป็นโครงการนำร่อง โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT) 4.2 จังหวัดเชียงใหม่ สนข. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดเชียงใหม่ โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางในเขตเมืองระหว่างโครงข่ายทางเลือกแบบใช้ทางวิ่งบนดิน และใต้ดินร่วมกันกับแบบที่ใช้ทางวิ่งบนดินทั้งหมด จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 36 กิโลเมตร จำนวนสถานี 35 สถานี การศึกษามีความคืบหน้า 90%จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560 4.3 จังหวัดนครราชสีมา สนข. อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดนครราชสีมา โดยกำหนดแนวเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะไว้ 3เส้นทาง โดยจะเร่งรัดการศึกษาให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2560 /4.4 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เป็นผู้ดำเนินการศึกษา โดยเส้นทางที่เหมาะสมคือสายคลองหวะ-สถานีรถตู้ เป็นรูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Mono Rail) ระยะทาง 12.54 กม มีสถานีทั้งหมด 12 สถานี มูลค่าการลงทุน 16,100 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแก้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามความเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) /5.โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุนของโครงการ ประมาณ 6,220 ล้านบาท ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร แนวทางการลงทุนรูปแบบ PPP ซึ่งจะทำให้โครงข่ายถนน และทางพิเศษสามารถเชื่อมต่อกันได้เป็นระบบบรรเทาปัญหาการจราจรของพื้นที่เขตเมืองในกรุงเทพมหานคร เป็นการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักในกรุงเทพมหานครให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นทางเลือกในการเดินทางโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการของการเชื่อมโครงข่ายดังกล่าวตามผลการศึกษาฯ และให้ คค. มอบหมายหน่วยงานเป็นเจ้าของโครงการฯ หรือดำเนินการโครงการฯ ต่อไป รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กทพ ทล. รฟท. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย แหล่งข้อมูล : บ้านเมือง
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market