เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอรพิมพ์ โรงแรมสีมาธานี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 (สคร.9) นครราชสีมา ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหินขึ้น โดยมีนายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วย นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ตัวแทน 14 หน่วยงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหิน อ.สีคิ้ว ประมาณ 250 คน

นพ.ธีรวัฒน์ ผอ.สคร.9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากในพื้นที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีประชาชนประกอบอาชีพสกัดหินขายเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ประกอบอาชีพตัดแต่งหินจำนวน 1,740 คน โดยเป็นแรงงานไทย จำนวน 1,551 คน แรงงานต่างด้าว จำนวน 189 คน และมีประชาชนที่สัมผัสฝุ่นหินมากกว่า 3,900 คน กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดฝุ่นหิน

จากการสำรวจของ สคร.9 ตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน พบว่าในพื้นที่ อ.สีคิ้วมีผู้ป่วยโรคปอดฝุ่นหินแล้วจำนวน 331 คน และเสียชีวิตแล้วจำนวน 47 ราย ซึ่งมีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคปอดฝุ่นหินเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และสูงสุดในประเทศไทย มีอัตราป่วยตายร้อยละ 16 แสดงถึงความรุนแรงของโรคปอดฝุ่นหินสูงมาก หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาฝุ่นในสภาพแวดล้อม ส่งผลถึงเศรษฐกิจในการผลิตสินค้าจากหินทรายของครัวเรือน ชุมชน และประเทศ โดยสำนักงาน สคร.9 นครราชสีมาได้พัฒนาบริการป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหินในพื้นที่ อ.สีคิ้ว ร่วมกับผู้ประกอบอาชีพตัดแต่งหิน ประชาชนในพื้นที่ อสม. และ อปท. โรงเรียน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยสร้างนวัตกรรมอุปกรณ์ลดฝุ่นติดตั้งที่เครื่องตัดแต่งหินแบบสะพาย เพื่อช่วยลดฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการตัดแต่งหิน และการจัดบ้านปลอดฝุ่น ส่งผลให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดฝุ่นหินของผู้ประกอบอาชีพตัดแต่งหินและประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง รวมทั้งมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพโรคปอดฝุ่นหิน รวมทั้งได้มีการส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยบริการสาธารณสุข

จัดบริการอาชีวอนามัย ได้แก่ การคัดกรองเชิงรุก พัฒนาระบบการวินิจฉัย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สร้างความร่วมมือในการวินิจฉัย รักษา ส่งต่อผู้ป่วย และการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ช่วยให้พบผู้ที่มีความเสี่ยง ผู้ที่มีอาการสงสัย ผู้ป่วย และนำเข้าสู่ระบบการวินิจฉัยและรักษาได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิตจากโรคปอดฝุ่นหินลงได้ จนได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ (Thailand Public Service Awards: TPSA) ปี พ.ศ.2559 ประเภทรางวัลนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น (Best Practice) เรื่อง “อุปกรณ์ลดฝุ่น : นวัตกรรมการป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหิน” จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) มีการพัฒนาต่อยอดผลงานการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และสมัครรางวัล UN (United Nations Public Service Awards) ของสหประชาชาติ ในปี พ.ศ.2560

สำหรับโรคปอดฝุ่นหินมักเกิดกับผู้ประกอบอาชีพตัดแต่งหินในพื้นที่ อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหินทรายที่สำคัญของประเทศไทย เป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้และเศรษฐกิจให้ชุมชน ซึ่งโรคปอดฝุ่นหินมีอันตรายต่อระบบอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เมื่อหายใจเอาฝุ่นที่มีซิลิกอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดฝุ่นหิน ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคปอดฝุ่นหินแบบเรื้อรังจะมีอาการเกิดขึ้นช้าๆ โดยเริ่มมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง อาการไอแห้งๆ และบางครั้งมีอาการไอเป็นเลือด

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …