เมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 26 มิถุนายน ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา นายสหพล กาญจนเวนิช รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อมนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อพล.ท.วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 เรื่องขอแก้ไขการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น

นายสหพล กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ สามารถตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งมวลชน ทั้งลดระยะเวลาการเดินทาง ประหยัดพลังงานและเพิ่มทางเลือกการสัญจรสู่ภูมิภาค ทำให้เมืองโคราชมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคอีสานอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น กำลังดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าแล้วเสร็จกลางปี 2562 และโครงการก่อสร้าง มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ อยู่ในแผนดำเนินการเร็วๆนี้ ขณะนี้ทุกภาคส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้าง โดยเฉพาะการปิดจุดตัดถนนทางข้ามรถไฟที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่มีอาณาเขตติดต่อกันและชุมชนขนาดใหญ่ 4 แห่ง โดยใช้เจ้าหน้าที่ รฟท. ควบคุมการปิดเปิดเครื่องกั้น โดยให้ใช้ถนนเลียบทางรถไฟและทางต่างระดับหรือสะพานข้ามทางรถไฟที่กำหนดไว้แทน “ภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงผลกระทบเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีตัวอย่างที่ทางต่างระดับหรือสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล อาณาเขตติดต่อระหว่าง เทศบาลนครนครราชสีมา กับ เทศบาลตำบลหัวทะเล อ.เมือง ส่งผลให้ธุรกิจร้านค้าต้องเลิกกิจการทั้งหมด วิถีชีวิตชาวบ้าน เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จึงขอให้แก้ไขทบทวนการออกแบบ โดยให้ยกระดับช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อมิให้เกิดปัญหาในอนาคต” นายสหพล กล่าว

ด้านนายชัชวาล กล่าวว่า ชาวโคราชวิตกกังวล เรื่องแผนกก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่บนดิน ลักษณะกำแพงสูง 2 เมตร กั้นสองข้างทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้การสัญจรยากลำบากขึ้น สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ในอนาคต เทศบาลนครฯ หอการค้า และสภาอุตสาหกรรม และชาวโคราช ต้องการก่อสร้างรูปแบบทางรถไฟยกระดับ จึงขอความอนุเคราะห์แม่ทัพภาคที่ 2 ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันข้อเสนอ ความคิดเห็นและสนับสนุนในการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ

“ประโยชน์ที่แท้จริง คือ การยกระดับเส้นทางโดยจังหวัดนครราชสีมา มีแผนใช้ประโยชน์สำหรับพื้นที่ด้านล่างทางยกระดับ เพื่อสร้างช่องทางจราจรขนาด 4 เลน เพิ่มอีก 1 เส้นทาง รวมทั้งมีระบบระบายน้ำ ท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.2 เมตร ตามแผนแก้ไขบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง ซึ่งกระบวนการประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา เป็นเพียงสอบถามความคิดเห็นชาวโคราช ว่าต้องการรถไฟทางคู่หรือไม่ ซึ่งเรายินดีที่จะเกิดการพัฒนาด้านคมนาคม แต่ไม่ทราบข้อมูลรูปแบบการก่อสร้างจริง และ รูปแบบเส้นทางรถไฟความเร็วสูง หากเป็นรูปแบบดังกล่าวคงไม่ยินยอมให้ก่อสร้างอย่างแน่นอน ขอให้ผู้เกี่ยวข้องและชาวโคราช ร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ทุกยอมรับและส่งผลกระทบน้อยที่สุด” นายชัยวาลย์ กล่าว

ด้านนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคธุรกิจจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เหตุผลที่ชาวโคราชติดใจสงสัย รฟท. เจ้าของโครงการ คือ เหตุใดเส้นทางช่วงผ่านจังหวัดขอนแก่น เดิมกำหนดรูปแบบทางรถไฟบนดิน แต่เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นคัดค้าน สามารถเปลี่ยนเป็นทางรถไฟยกระดับได้ หากอ้างกระบวนการผ่านประชาพิจารณ์แล้ว ก็ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากหลายโครงการผ่านขั้นตอนนี้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามความเหมาะสม
“ดังนั้นถ้าขอนแก่นไม่ยกระดับ โคราชไม่ยก พวกเราก็ไม่ข้องใจ แต่ขอนแก่นได้ทางรถไฟยกระดับ ขณะที่โคราชเป็นทางรถไฟบนดิน คือ สองมาตรฐานในการกำหนดรูปแบบ”

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …