ภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เพื่อเสริมประสิทธิภาพทางการขนส่งของภูมิภาคอีสาน และขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้มีการออกแบบและผ่านการทำประชาพิจารณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 21% เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ในปี 2562 โดยรูปแบบที่ดำเนินการตามแผน จะมีรั้วกั้นตลอดแนวโดยไม่มีจุดตัด เพื่อความปลอดภัย และให้รถไฟสามารถทำความเร็วได้ดี ซึ่งรูปแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ที่ทางรถไฟจะตัดผ่าใจกลางตัวเมืองเข้ามา ทำให้เกิดปัญหาแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง ที่ประชาชนจะใช้สัญจรผ่านไปหากันไม่ได้ นอกจากต้องเดินทางอ้อมตัวเมือง หรือทำทางเกือกม้าข้ามทางรถไฟแทน ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงและเกิดความไม่เป็นระเบียบได้ แต่ในขณะเดียวกันเส้นทางที่ผ่าใจกลางเมืองขอนแก่น กลับมีการออกแบบให้สร้างทางรถไฟยกระดับ ซึ่งมีความสะดวกสบาย และเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่า ดังนั้น ทำให้หลายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ออกมาแสดงเจตนารมณ์ที่จะขอให้ สนข. และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ปรับแก้ให้มีการสร้างทางรถไฟทางคู่ยกระดับเหมือน จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลแทนชาวโคราช ที่มีเจตนาสร้างความเจริญเติบโตให้กับเมืองโคราช โดยการนำรถไฟรางคู่เข้ามา ซึ่งผ่านจังหวัดนครราชสีมาเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในอนาคต แต่ถึงอย่างไรก็ตามชาวโคราชก็อยากให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาเพิ่มเติมอีกเรื่อง คือการตัดทางรถไฟเข้ามาในพื้นที่โดยไม่มีการยกสูง เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวโคราช ทำให้ประชาชนที่อยู่ 2 ฝั่งของทางรถไฟ ไปมาหาสู่กันยากลำบากขึ้น หรือที่เรียกกันว่าเป็นเมืองอกแตก เพราะไม่มีถนนตัดผ่านทางรถไฟเหมือนปัจจุบัน ต้องเดินทางอ้อมไปไกลมากถึงจะไปมาหาสู่กันได้ ดังนั้น ขณะนี้หลายองค์กร หลายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา อาทิ เทศบาลนครนครราชสีมา หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ก็ได้ออกมาแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการให้ สนข.มีการทบทวนแบบการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ โดยอยากให้มีการยกระดับเหมือนแผนการก่อสร้างของ จ.ขอนแก่น เพื่อที่จะสามารถทำระบบการจราจร เชื่อมโยงเมืองทางตอนเหนือ กับเมืองทางตอนใต้เข้าหากันได้ อีกทั้งยังจะทำให้การบริหารจัดการระบบท่อระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ สำหรับรูปแบบในปัจจุบัน ต้องทำให้ทางเทศบาลมาวางแผนการก่อสร้างทางเกือกม้า หรือทางยกระดับ ข้ามทางรถไฟเอง ซึ่งเมื่อลองมาพิจารณาดูแล้วมันจะเกิดความยุ่งยากในเรื่องการบริหารจัดการด้านจราจรมาก ถ้าจะมีการตัดถนนเส้นใหม่ขึ้นก็คงจะทำได้ลำบากมากยิ่งขึ้น การดูแลบริหารจัดการน้ำท่วม ก็จะแก้ไขปัญหาได้ไม่สะดวก แต่ถ้ามีการทำทางรถไฟรางคู่ยกระดับขึ้น ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไปทันที โดยสัปดาห์หน้าทางเทศบาล สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆ จะทำหนังสือเพื่อยื่นให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเสนอผ่านไปถึง สนข. และการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้มีการทบทวนและแก้ไขแบบการก่อสร้างใหม่ต่อไป แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market