วิบากกรรมของหมอที่คนนอกไม่รู้ เป็นอย่างไรบ้าง การทำงานหนัก การเป็นหมอ พยาบาลในบ้านเราชั่วโมงการทำงานมันสูงมาก บางคนต้องเข้าเวร 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง บางคน ก็ต่อ 32 ชั่วโมง การที่มีบางหน่วยงานออกมาบอกว่าไม่มีหรอกหมออยู่เวร 24 ชั่วโมง อันนี้ผมว่าไม่จริงเลยนะ เพราะหมอทุกคนในเมืองไทยต้องผ่านประสบการณ์มาทุกคนอยู่แล้ว ซึ่งมีความเสี่ยง ทุกปีมีหมอเสียชีวิตเพราะการหลับใน เพราะเข้าเวรหนักมาก พอขับรถกลับบ้านแล้วก็หลับใน หรือประสบอุบัติเหตุ บางคนเข้าเวรหนักไม่ได้หลับไม่ได้นอน กลายเป็นโรคเรื้อรัง พวกเบาหวาน ความดัน หัวใจ บางคนหัวใจวายตายคาโรงพยาบาลก็มี อย่างผมตอนเป็นเบาหวาน น้ำตาลขึ้นมาถึง 500 ตอนที่ลาออกมา (ในคนปกติไม่ควรเกิน 100) คุณหมอต้องลาออกเพราะปัญหาสุขภาพ ใช่ ปัญหาสุขภาพ ตอนนั้นไปตรวจคนไข้ แล้วรู้สึกมึนหัว เยี่ยวแล้วมดขึ้นโถเต็มไปหมด ผมก็เลยสงสัยว่าจะเป็นเบาหวานหรือเปล่าวะ น้ำหนักก็เริ่มลดด้วย ก็เลยไปเจาะเลือด เจาะเลือดเจอน้ำตาล 500 แจ้งไปว่าขอลาพักก่อนเพราะไม่ไหวแล้ว มึนหัว ไปหมด ตรวจคนไข้ไม่รู้เรื่องแล้ว เขาบอกให้ลาพักก็ได้สัปดาห์หนึ่งแล้วมาเข้าเวรต่อ เข้าเวรตอนนั้น 15 วัน ผมไม่ไหวแล้ว ผมอยากขอลาสักเดือน เขาก็ไม่ให้ ผมก็ตัดสินใจลาออก เพราะรู้สึกว่าทำงานมาเกือบ 10 ปีแล้ว พอขอลาพักเป็นการขอลาป่วยด้วย ไม่ใช่พักผ่อนไปเที่ยวฮาวาย เขาก็ไม่ให้ งั้นก็ทางใครทางมันก็แล้วกัน ได้รักษาสุขภาพจริงๆ ตอนที่เลิกเป็นหมอ ใช่ ดูแลตัวเองหลังจากลาออก ตอนที่ทำงานเวลาเราแนะนำคนไข้บอกว่าต้องดูแลสุขภาพอย่างนั้น ต้องกินอาหารแบบนี้ เอาจริงๆ เราก็ไม่ได้ทำเท่าไหร่หรอก ออกมาแล้วถึงได้ทำจริงๆ เป็นเรื่องจริงของหมอหลายคน ซึ่งมีจำนวนน้อยมากที่จะได้ทำอย่างที่บอกคนไข้ การทำงานของหมอ เป็นไปได้ได้อย่างไรที่จะลาพักไม่ได้และไม่มีใครแทน มันก็เป็นไปแล้ว อย่างสมัยที่ผมไปใช้ทุนที่โรงพยาบาล 1-2 ปีแรก จะมีช่วงที่หมอรุ่นก่อนลาออกหมดเลย เหลือแต่ผมอยู่คนเดียว ผมต้องเข้าเวรต่อเนื่อง 5 เดือน เข้าเวร 24 ชั่วโมง ทั้งวันทั้งคืนเลย ทางจังหวัดก็ส่งคนมาช่วยบ้างสัปดาห์ละ 1-2 วัน หลังจากนั้นก็กลับไป หลังจากนั้น ผมก็ทำคนเดียว มีเคสมาตลอด 24 ชั่วโมง และมีอนาถกว่านั้น ก็มีช่วงที่แบบว่า ผมแขนหัก รถคว่ำมา มีเหล็กดามออกมาข้างนอก เพราะกระดูกมันทิ่มออกมา ทั้งที่แขนมาเหล็กดาม ก็ยังต้องไปตรวจคนไข้ แล้วเวลามีเคสฉุกเฉินมา คนไข้ไม่รู้ตัว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะที่แขนผมข้างซ้าย ทำอะไรไม่ได้ ต้องใช้มือขวาทำทุกอย่าง ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเวลามีเคสคลอดแล้วรกค้าง ปกติหมอต้องใช้ 2 มือ ผมก็ใส่ชุดผ่าตัดมือเดียว อีกข้างก็แนบตัวให้พยาบาลช่วยจับสายสะดือ ผมก็เข้าไปล้วงรก อนาถมากช่วงนั้น ซึ่งถ้าอยู่ในเมืองนอกเนี่ยป่วยหนักขนาดนี้ มันก็ได้พักอยู่แล้ว แต่เมืองไทยต้องทำกันต่อไป ไม่ใช่ผมโดนอย่างนี้คนเดียว คนอื่นก็โดนกันเยอะแยะ หมอบางคน ขาหักก็ยังต้องมาตรวจคนไข้ บางคนไข้ขึ้นสูงขนาดจะเดินยังไม่ไหวอยู่แล้ว ก็ยังต้องมาตรวจ พอตรวจเสร็จ น็อค ล้มคาวอร์ดเลยก็มี สุดท้ายก็มารู้ทีหลังว่าเป็นไข้เลือดออก น่ากลัวจะตาย แต่ปัญหาพวกนี้ ผู้บริหารเขาไม่ค่อยรู้หรอก เขาก็จะคิดว่า โอ้ย งานไม่ได้หนักมาก อย่างตอนผมทำงานอยู่ที่เกาะ เวลามีปัญหาร้องเรียนไป ก็จะมีเสียงตอบรับจากทางข้างบนว่า “โอ้ว งานไม่ได้หนักอะไรมาก สู้ๆ ทนๆ ได้ สมัยผมทำมาเยอะแล้ว สมัยผมหนักกว่านี้อีก เมื่อก่อนสมัยผมก็เป็นอย่างนี้” คือผู้บริหารชอบพูดแบบนี้ไง แต่สมัยมึงคนไข้ไม่ได้เยอะขนาดนี้ แต่เขาไม่ได้ดูบริบทว่าสมัยก่อนคนไข้ไม่ได้เยอะขนาดนี้ สมัยนี้พอมี 30 บาทเข้ามา คนไข้ก็มาที่โรงพยาบาลมากขึ้น เพราะการให้บริการเข้าถึงประชาชนได้ โครงการ “30 บาท” นี่เป็นปัญหาหรือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนเข้าถึงได้ คือมันเป็นเรื่องดี เพราะว่าประชาชน เข้าถึงบริการได้ แต่การที่นโยบายนี้จะเวิร์คต้องเน้นการสร้างสุขภาพ มากกว่าการตั้งรับอย่างเดียว คือถ้าทำให้ประชาชนสุขภาพดีขึ้น คนก็จะมาโรงพยาบาลน้อยลง แต่ตอนนี้กลายเป็นเราตั้งรับอย่างเดียว คนไข้ก็มาโรงพยาบาลกันมากขึ้น ผมว่านโยบายดี แต่การสร้างเสริมสุขภาพบ้านเราล้มเหลว ทุกวันนี้เราตั้งรับทุกอย่าง เช่น ยาลดความอ้วน ครีมปรอท เราตั้งรับมาตลอด คนก็เสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ภาครัฐไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ว่าจะไปลุกกลับอย่างไรให้ประชาชนตาสว่างจากอันตรายเหล่านี้ การใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงของหมอ หมอในต่างจังหวัด ตอนเช้าทำตามเวลาราชการก็ 8 ชั่วโมงแล้ว พอ 4 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้าวันถัดมา 16 ชั่วโมงก็ต้องเข้าเวร on call ถ้ามีอะไรพยาบาลไปตาม ก็มาดูตลอด บางทีก็เดินทั้งคืน ตี 4 ตี 5 ถ้ามีคนไข้มา พอตอนเช้าตื่นมาก็ต้องไปเข้าเวรต่ออีก บางวันหนักๆ หน่อยก็มีคนไข้ฉุกเฉินมาตอนกลางคืนอะไรอย่างนี้ แล้วถ้าเป็นเคสโรคหัวใจและมีความเสี่ยงอาจจะหัวใจหยุดเต้นระหว่างทาง พยาบาลไปก็อาจจะไม่พอ ก็ต้องมีหมอติดรถไปด้วย หมอก็นั่งรถพยาบาลติดไปถึงจังหวัดแล้ววกกลับมา 8 โมงเช้า ไม่ได้หลับเลย ถึงโรงพยาบาลปุ๊บ ตรวจกันต่อ จะตายเอาอย่างนี้ แต่อันนี้เป็นเรื่องปกติของวงการแพทย์บ้านเราไปแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องดี โดยทั่วไปเราจะเข้าใจว่า แพทย์น่าจะมีทีมและสลับเวรกันหรือเปล่า อืมมม มันก็มีอยู่ แต่ว่า ไม่ใช่จะมีคนพอเพียงขนาดจะมาทำอย่างนั้นได้ เพราะอย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่าการกระจายของหมอในต่างจังหวัดมีน้อย คือบ้านเราถ้าจะบอกว่าหมอขาดแคลนก็พูดยาก เพราะปริมาณหมอก็ค่อนข้างเยอะ แต่ว่าหมอจะกระจุกตัวในเมืองซะมาก แล้วคนที่จะไปออกต่างจังหวัดมันค่อนข้างน้อยมาก พอไปออกต่างจังหวัด ก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง การกินแรงกัน คือว่าบางทีหน่วยงานหนึ่ง สมมุติมีหมอ 4 คน กำลังคนก็ควรจะแบ่ง 4 คนใช่ไหม แต่จะมีบางคนไปเป็น ผอ. ไปเป็นผู้บริหาร ซึ่งอาจจะต้องไปประชุม ไปทำงานบริหาร คนที่เหลือก็งานมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องการแพทย์ที่กระจุกในเมือง บ้านเราเรื่องการคมนาคมขนส่งก็ด้วย แย่ไปหมด ปัญหาอยู่ที่การกระจาย มากกว่าปัญหาขาดแคลนปริมาณหมอ ใช่ ทุกวันนี้ยังมีโรงพยาบาลหลายแห่งที่มีหมอ 1-2 คน แล้วก็ต้องคอยดูแลรับผิดชอบคนไข้วันหนึ่งเป็น 100 หรือหลายร้อยคนอยู่ ความเป็นชนบท ที่แตกต่างระหว่างสมัยนี้กับสมัยก่อน นอกจากจำนวนประชากรแล้วมีอะไรอีก ก็เรื่อง 30 บาท นี่แหละ คือเมื่อก่อนมีสังคมสงเคราะห์ อนาถาช่วยคนยากคนจนก็จริง แต่คนยังไม่เข้าถึง และบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำ จนกระทั่งมี 30 บาทโปรโมทดีมาก คนรู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่าเขามีสิทธิตรงนี้ พอเข้าถึงมากคนก็มารักษากัน กระจายงบประมาณรายหัว น่าจะเป็นเรื่องที่ดี? อ๋ออันนี้ ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เป็นเรื่องการลงทุน เพราะ 30 บาทเป็นการลงทุนให้ประชาชน โดยรัฐบาลดูแลค่าใช้จ่ายสุขภาพให้ ประชาชนไม่ต้องหาเงินจากการไปขายไร่นา ขายสวนมารักษา เขาสามารถเอาเงินไปทำอย่างอื่น ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย มีงานวิจัยที่ชัดเจนตั้งแต่มี 30 บาท มันมีตัวเลขที่ประชาชนต้องใช้รักษาลดลงเยอะเลย ชีวิตหนักๆ ของหมอ ปัญหาวงการแพทย์อีกเรื่องก็ พอน้องๆ ไปใช้ทุนตามต่างจังหวัดไปอยู่ตามโรงพยาบาลศูนย์ บางทีเขามีกิจจำเป็นต้องไปรับปริญญา ต้องไปลาพักจะขอขายเวรก็ไม่ได้นะ จะมีทั้งเวรหวอด เวรห้องฉุกเฉิน เวร on call เวรชันสูตร ชีวิตหมอช่วงที่หนักสุด ก็จะเป็นช่วงที่อยู่โรงพยาบาลศูนย์ บางคนเดือนหนึ่งรวมกันเกือบ 30 เวรก็มี ต้องลงเวรวอร์ด เวรอีอาร์ อะไรพวกนั้นด้วย หมอที่อยู่โรงพยาบาลรัฐกับเอกชน ชีวิตต่างกันไหม ต่างกันชัดเจน เอกชนดูแลหมอดีนะ ตอนผมอยู่เวร 5 เดือน ผมเคยขอลางานมางานศพอา อาผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่กรุงเทพฯ เป็นคนสำคัญสำหรับผมเพราะเซ็นชื่อให้ผมกู้ กยศ. ไม่งั้นผมไม่ได้เรียนหมอ ผมขอลาโดยแจ้งล่วงหน้าหลายสัปดาห์ ปรากฏว่าเขาหาหมอมาแทนไม่ได้ ผมต้องไปขอโรงพยาบาลเอกชนที่รู้จักกัน เขาหากำลังคนมาช่วยได้ แล้วผู้บริหารดูแลหมอดีกว่า เช่น ถ้าคนไข้เข้าใจผิด เอาหมอไปประจานเขาก็ดูแลเรื่องการสู้คดี แต่ถ้าเป็นของภาครัฐเหรอ… ฮ่าๆๆ แปลว่า หมอภาครัฐไม่มีใครดูแลเหรอ อาจจะดูแลแบบผิดทิศผิดทาง บางคดีควรไปเจรจายอมความกัน ก็กลับมีการยุๆ บอกว่าชนะแน่ สุดท้ายกลายเป็นถูกฟ้องร้อง แพ้เละเทะ หลายคดีแล้ว หมอกำลังเผชิญความเสี่ยงการถูกฟ้องร้องด้วย ผมว่าเกี่ยวกับเรื่อง doctor relationship คือความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ทุกวันนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเชื่อใจกันเหมือนสมัยก่อน มันคล้ายๆ กับเชิงพาณิชย์มากขึ้น คนไข้มองว่า เขามาโรงพยาบาล เขาจ่ายภาษี เขาต้องได้รับการปฏิบัติที่ดี แล้วบางทีเป็นผลจากสื่อ เพราะบางทีจะมีสื่อประโคมข่าวที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง อย่างเช่นล่าสุดมีพยาบาลฉีดยาให้คนไข้ซึ่งมาด้วยอาการปวดท้องแล้วคนไข้เสียชีวิต ซึ่งผลการชันสูตรยังไม่ออก เรายังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเขาเสียชีวิตจากอะไร อาจจะเสียจากโรคส่วนตัว อาจจะเสียเพราะแพ้ยา หรืออาจจะเสียด้วยสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกันเลยก็เป็นได้ เพราะบางคนสมมุติมีโรคอยู่ แล้วจังหวะที่พยาบาลฉีดให้ โรคนั้นเกิดอาการหนักขึ้น ก็ทำให้เสียชีวิตได้ก็มี แต่มีสื่อบางเจ้าไปประโคมข่าวว่าพยาบาลฉีดยาตาย ทำให้คนไข้ดูข่าวแล้วไม่ไว้วางใจพยาบาล บางทีเวลามีข่าวออกมา คนไข้มาโรงพยาบาลขอว่าไม่ฉีดยาได้ไหม ทั้งที่มันจำเป็นต้องฉีด ผมคิดว่าสื่อต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตัวเองกำลังสร้างให้กับวงการนี้ด้วย ในแง่สิทธิผู้ป่วย ก็เป็นเรื่องดีที่คนไข้ตระหนักถึงสิทธิตัวเองไม่ใช่เหรอ ใช่ เป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับความเชื่อใจนะ การคำนึงถึงสิทธิตัวเองเป็นเรื่องดี แต่ความเชื่อใจ ความเข้าใจหมอลดลง เช่น คนไข้ไม่สบาย ไอ เจ็บคอ ไปห้องฉุกเฉิน บอก หมอต้องมาดูฉันสิ แต่ว่าหมอกำลังปั๊มหัวใจคนไข้คนอื่นอยู่ แล้วบางทีคนไข้ไม่เข้าใจว่า หมอต้องคำนึงถึงความเร่งด่วนก่อน ก็เอาเรื่องนี้มาด่า เป็นประเด็นอยู่บ่อยๆ มีปัญหาอะไรเวลาคนที่อยู่บน ‘หอคอยงาช้าง’ พูด ‘อุดมคติ’ กับผู้ปฏิบัติงานจริง อุดมคติ ผมว่ามีไว้ก็ดี สำหรับเด็กรุ่นใหม่จบมาไปทำอะไรเพื่อสังคม แต่ผมว่าบางทีอุดมคติไม่ใช่สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอย่างเดียว แต่ อุดมคติกลายเป็นเครื่องมือที่ระดับผู้บริหารหลอกให้เด็กทำงานถวายชีวิตให้ไปวันๆ มากกว่า อันนี้ผมประสบการณ์ตรง ก็คือตอนผมเข้าเวร 5 เดือน ผมไม่ไหวแล้วจะตายอยู่แล้ว ไปร้องขอความช่วยเหลือผู้บริหาร เขาก็บอกคุณต้องมีอุดมการณ์ต้องอดทน คืออุดมการณ์ไม่ได้ทำให้ผมหลับเต็มอิ่ม ขอคนมาช่วยก็ไม่ได้ ก็กลายเป็นว่า เอาอุดมการณ์มากดหัว เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ ยอมอยู่ใต้ระบบห่วยๆ ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดจะหาหนทางแก้ไขระบบต่างๆให้ดีขึ้น การบริหารจัดการที่ดี จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนและการกระจายตัวได้ แต่ปัญหาคือเขาไม่สนใจ พอมีเรื่อง เขาก็บอกไม่ใช่ปัญหา เหมือนพี่ตูน บอดี้สแลม มาวิ่งหาเงินบริจาค ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เขาก็ไปบอกว่า ไม่ได้ขาดแคลน แค่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แล้วมันต่างกันตรงไหน มันก็อย่างเดียวกัน อันนี้ผมว่าประเทศเราแม่งศรีธนญชัยเยอะเกินไปหน่อยนะ แม่งชอบเล่นคำกันเหลือเกิน ทำอย่างไรให้หมอกระจายออกไปในชนบท มีคนคิดเรื่องแรงจูงใจและค่าตอบแทน แต่ผมว่า พอได้แล้วแหละ เพราะว่าค่าตอบแทนของหมอในต่างจังหวัดกับอาชีพอื่นนี่มันต่างกัน ฟ้ากับเหวเลย ถ้าเป็นหมอที่อยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนได้เป็นแสน แสนกว่าก็มี ขณะที่อาชีพอื่นอย่างเช่น พยาบาล เภสัช เงิน 2-3 หมื่น ซึ่งมันแตกต่างกันมากจนน่าเกลียด ถามว่าหมออยากได้เงินมากขนาดนั้นเพื่อไปอยู่ต่างจังหวัดไหม เขาก็ไม่ได้อยากได้มากขนาดนั้น ขอแค่การบริหารจัดการที่ดี ขอให้ได้หลับได้นอนบ้าง ขอให้มีเวลาไปเที่ยวกับพ่อแม่ไปกินข้าว ไม่ใช่ไปอยู่ต่างจังหวัดเป็นปีหายไปเลย ครอบครัวก็ไม่ได้เจอ ญาติมิตรก็ไม่ได้เจอ ผมว่าเป็นคุณภาพชีวิตที่แย่เกินไปนะ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินแต่มีปัญหาการจัดการคุณภาพชีวิต ลองถามหมอรุ่นใหม่ ที่ถูกหาว่าอยู่เวรเพราะอยากได้เงินนะ ถามน้องๆ เลยว่าเขาอยากอัดเวรขนาดนั้นหรือเปล่า เขาไม่ได้อัดเวรเพราะอยากได้เงิน แต่เขาหาแลกกันไม่ได้ อย่างบางทีมีธุระ ก็ไม่มีใครมาอยู่เวรแทน ต้องอัดเวร อยู่กัน 30-40 ชั่วโมง มีเส้นแบ่งไหม สุขภาพตัวเองแย่ขนาดไหนถึงจะยอมออกไปพักผ่อน ไม่ต้องทำงานจนตาย อยู่ที่หมอแต่ละคนว่าจะดื้อขนาดไหนมั้ง บางคนดื้อหน่อยก็เกือบตาย ถ้าดื้อมากก็ตายเลย ของผมก็ค่อนข้างดื้อ เพราะพ่อแม่ก็ไล่ให้กลับกรุงเทพฯ ตลอดช่วงนั้น ผมก็คิดว่าอีกนิดนึงๆ จนผ่านไปหลายปี สุดท้ายน้ำตาลขึ้นถึง 500 ถึงรู้สึกตัวว่ามันเกินพอละ ได้เวลาถอยกลับ ใช้ชีวิตส่วนตัวยังไง ไม่มี บางทีสะดุ้งตื่นกลางคืนนะ เพราะวงจรการหลับเราเพี้ยนไปหมดแล้วเพราะต้องเข้าเวรต่อเนื่องขนาดนั้น บางทีสะดุ้งตื่นมาตี 4 ตี 5 ก็ไม่หลับแล้ว ก็นั่งดูโน่นดูนี่ไป แล้วตอนเช้าก็ไปทำงาน ในกระทู้พันทิปก็มีคำถามเยอะปัญหาความสัมพันธ์ของคนมีแฟนเป็นหมอ เป็นเรื่องปกติ บางทีเขาไม่เข้าใจว่า อาชีพนี้เป็นยังไง ก็หาคนเข้าใจยาก ต้องหาคนมาสัมผัสจริงๆ ถึงจะรู้ บ้านเราไม่ค่อยมีสารคดีเกี่ยวกับอาชีพหมอด้วย ก็เลยคล้ายๆ มีมายาคติ คิดว่าเป็นหมอแล้วต้องเงินเดือนดี โก้หรู ต้องมีคนนับหน้าถือตาแบบโฆษณา “อยากเป็นหมอ” อะไรแบบนั้น จริงๆ แล้วมันคนละเรื่องกันเลย งานจับกังชัดๆ อาชีพนี้ ถ้าทำสารคดีชีวิตหมอมาเปิดเผยตีแผ่ ผมว่ามันจะช่วยให้คนเข้าใจได้มากขึ้นและลดมายาคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ หลังๆ คนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าชีวิตแพทย์พยาบาลมันอนาถขนาดไหน บุคคลากรสาธารณสุขทั้งหมด ตอนสอบแพทย์ตอนนั้นคิดยังไง ช่วงนั้นมีปัญหาการเงินที่บ้าน ก็เลยคิดว่าอาชีพอะไรก็ได้ให้สูงๆ ไว้ ก็ติดคณะแพทย์ เอาก็เอา ยอมรับตรงๆ ว่าเป็นเรื่องรายได้ คือไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่เป็นโอกาส ตอนนั้นตังค์เรียนยังไม่ค่อยมีเลย ก็เลยคิดว่าอาชีพอะไรก็ได้ให้มันไปต่อได้ไกลๆ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นมายาคติของสังคม ที่คิดว่าเรียนหมอแล้วอนาคตมันจะดี ไปทำจริงๆ แล้วกลับเป็นกับดัก เรามาผิดทาง ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะไปเรียนอะไร น่าจะสายไอที หรือสายศิลป์ อยากให้มีนโยบายเกี่ยวกับการดูแลบุคลากรสาธารณสุขยังไง อยากให้คนดูแลบริหารเรื่องนี้ มองเห็นหมอที่ทำงานบริการเป็น “มนุษย์” มากขึ้น เราไม่ใช่ฟันเฟืองจักรกล เราไม่ใช่เครื่องจักรที่จะทำงานตลอดปีตลอดชาติ แล้วไม่มีวันแก่วันตาย ต้องหาคนมาหมุนเวียนให้เพียงพอ ไม่ใช่พอเกิดเหตุก็มาแสดงความเสียใจกันที ปัดสวะกันทีแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างตลอดหลายปีที่ผ่านมา คุณหมอเคยคิดที่จะไปอยู่เอกชนไหม ไม่… เหม็นเบื่อคนรวย…เรื่องมาก (หัวเราะ) ตอนนี้ทำอาชีพอะไร ฟรีแลนซ์ พักก่อนให้สุขภาพดีก่อนค่อยว่ากันอีกที ตอนนี้ก็เข้าฟิตเนส เขียนหนังสือ ทำเว็บเพจ ในโลกออนไลน์ มีประเด็นอะไรที่คุณหมอจับตาเป็นพิเศษ เกี่ยวกับยาลดความอ้วนซึ่งเป็นหนักอยู่ เพราะ สคบ.ยังไม่ลงมาเล่นจริงๆ แล้วเหตุการณ์ก็คล้ายๆ โฆษณากะทะยี่ห้อหนึ่ง คือยาพวกนี้ก็บอกว่ากินแล้วผอม กินแล้วกล้ามขึ้น ซึ่งแม่งเป็นการหลอกลวงที่ชัดเจน ตบหน้าผู้บริโภคอย่างหน้าด้านๆ เลย แต่ก็ยังขายถึงทุกวันนี้ สคบ.ไม่เห็นทำอะไร รวมถึงอาหารเสริมบอกรักษาตาเป็นต้อ เอาคนดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ ถ้าเราแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้จะเกี่ยวเนื่องไปถึงคุณภาพชีวิตหมอเพราะคนไข้จะมาน้อยลง จะเป็นการทำส่งเสริมคุณภาพเชิงรุก คือแก้ไขปัญหาไม่ให้คนไข้ป่วย ไม่ใช่อย่างปัจจุบัน ตั้งรับอย่างเดียว ปล่อยให้โฆษณากันเละเทะเลย แล้วหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่เข้าไปทำอะไร สุดท้ายประชาชนก็ป่วย อันนี้ยังแค่เบื้องต้น อย่างผลสืบเนื่องจากยาลดความอ้วน ครีมปรอทอะไรพวกนั้น จะทำให้คนเป็นมะเร็ง หรือเป็นโรค พิการ หรือเป็นโรคทางสมองต่อเนื่องตามมาในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้าสูงลิ่วเลย ทุกวันนี้ก็มีคนป่วย พิการ หรือตาย จากยาลดความอ้วนหนักมากอยู่แล้ว แล้วยังไม่มีหน่วยงานอะไรประสานความร่วมมือทำตรงนี้ชัดเจน คิดว่าอีกกี่ปี จำนวนคนไข้ที่เกิดจากการโฆษณาสินค้าออนไลน์จะจำนวนสูงสุด ตอนนี้ยังไม่พีค น่าจะอีกสัก 5-10 ปี เพราะพวกนี้เพิ่มความเสี่ยงหลายอย่าง มะเร็งก็มี อย่างพวกครีมปรอทก็มีทั้งโรคตับ โรคไต โรคมะเร็งอะไรสารพัดเลย พวกยาลดความอ้วนก็มีผลกับสมองกับหัวใจ บางคนก็มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช บางคนก็มีปัญหาเรื่องหัวใจ ปัญหานี้ได้รับการให้ความสำคัญน้อยกว่าที่ควรจะเป็นไปนิดนึง เพราะจริงๆ เป็นสิ่งที่กระทบกับสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ แล้วเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เราพูดกันมาช้านานคือ เราทำการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกช้าเกินไป ช้ากว่าพวกที่ขายของทำลายสุขภาพ แบบไปไม่ทันมัน เห็นอำนาจรัฐไปสอดส่องเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองมากกว่า จริงๆ มาโฟกัสเรื่องพวกนี้ดีกว่า แต่ก็ปล่อยเขาไปแล้วกัน(ฝ่ายรัฐ) เราไม่ควรพึ่งภาครัฐมาก ภาคประชาชนมาร่วมมือกันดีกว่า หลังๆ ผมรู้สึกว่าภาครัฐทำอะไรแม่งก็ไม่ค่อยเวิร์ค (หัวเราะ) ให้ภาคเอกชนทำยังเวิร์คซะกว่า ขอแค่ภาครัฐไม่ไปขัดแข้งขัดขาเขาก็พอแล้ว แหล่งข้อมูล : VoiceTV
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market