หากจะกล่าวอย่างรวบรัดที่สุด คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า “ธนินท์ เจียรวนนท์” เป็นผู้ที่มองไปข้างหน้าเสมอ

ความร่วมมือครั้งใหม่ของซีพีกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในการร่วมวิจัยเกี่ยวกับ “ไบโอเทคโนโลยี” ในอุตสาหกรรมอาหารธุรกิจ การเกษตร พันธุ์พืช พันธุ์ปลา และพันธุ์กุ้ง รวมถึงกลุ่มอาหารสุขภาพที่ทำให้ชีวิตยืนยาว เพราะสำหรับเจ้าสัวแล้ว ความสำเร็จในการเป็นผู้เล่นหลักในตลาดอาหาร ซึ่งติดอันดับผู้ส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัจจุบันส่งออกไปยังประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศนั้น ยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ของ “อนาคตในอุตสาหกรรมอาหาร”

โดยเฉพาะเมื่อดูการใช้เม็ดเงินในปัจจุบันของซีพีและทิศทางการวิจัยและพัฒนา ย่อมต้องเห็นว่าเจ้าสัวธนินท์มองอนาคตในแบบที่แตกต่างออกไป ทั้ง “อาหารแห่งอนาคต” และการใช้เทคโนโลยี 4.0 มากำหนดเส้นทางธุรกิจ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไทย 4.0

ส่องธุรกิจอาหารซีพีในยุค 4.0

คำพูดตอนหนึ่งของเจ้าสัวธนินท์เมื่อไม่นานมานี้ยืนยันชัดเจนว่า ธุรกิจอาหารซีพีเข้าสู่ยุค 4.0 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้แนวคิด 3 สูง 1 ต่ำ คือ เทคโนโลยีสูง ประสิทธิภาพสูง และการลงทุนสูง ซึ่งนำมาสู่ต้นทุนที่ต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีแบบเดิมๆ ถึงแม้ว่าจะลงทุนน้อย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงลิ่ว

ในโลกยุค 4.0 ระบบการผลิตจำเป็นต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีชั้นสูง โดยมีผู้ช่วยหลักคือหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง โดยได้ยกระดับทรัพยากรบุคคลในองค์กรให้มีศักยภาพสูงขึ้น ทดแทนการใช้แรงงาน และภายใต้สังคมยุคข้อมูลข่าวสารที่ดีขึ้นเรี่อยๆ จะทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตอาหารจะดีมากขึ้นตามไปด้วย

อาหารสำหรับอนาคต ที่ซีพีมองคืออาหารที่เพิ่มความหลากหลาย เจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันมากขึ้น เป็นการผลิตอาหารสำหรับการมีสุขภาพที่ดี ทำให้คนเจ็บป่วยน้อยลง เน้นไปที่การป้องกันตัวเองมากกว่ารักษา

“อาหารสุขภาพจะตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ คนเราอาจอยู่ได้ยืนยาวกว่า 100 ปี และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซีพีกำลังเตรียมผลิตอาหารเพื่อคนสูงอายุ และก้าวเข้าสู่ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร” ธนินท์กล่าว

จากวิจัย พัฒนาสู่นวัตกรรมอาหารสุขภาพ

ปัจจุบันเส้นทางนี้ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในความสำเร็จของธุรกิจอาหารซีพี คือ การแปรรูปจากขั้นพื้นฐานไปเพิ่มมูลค่า เปลี่ยนจากไก่สด หมูสด กุ้งสด และปลาสด มาเป็นอาหารปรุงสุก อาหารกึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน

โดยซีพีมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะ จากการวิจัย สำรวจความต้องการ และศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีแนวโน้มต้องการความสะดวกสบาย ใส่ใจสุขภาพ ในทุกกลุ่มอายุ ทั้งแม่บ้าน คนทำงาน และกลุ่มคนรุ่นใหม่

หลังเมนูเกี๊ยวกุ้งเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จหลายสิบปีก่อน ระหว่างนี้ซีพีก็ทยอยสร้างดาวรุ่งเพื่อให้ได้ขึ้นแท่นเป็นสินค้าทำเงินอีกหลายเมนู โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา บริษัทก็ทยอยออกผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค เช่น อกไก่นุ่มพร้อมรับประทาน ไข่ออนเซน ไข่ตุ๋นคัพสไตล์ญี่ปุ่น เต้าหู้ไก่โอเมก้าผสมผัก ชิคฟิงเกอร์ และอาหารพร้อมรับประทานเพื่อสุขภาพตรา CP Balance

CP Balance ยังเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้สูงวัย ที่เจ้าสัวธนินท์ให้ความสำคัญกับงานวิจัย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันระดับโลกเข้ามาร่วมโครงการพัฒนาสินค้าในกลุ่ม CP Balance มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่คำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 5 ประการ คือ มีปริมาณน้ำตาลน้อย ไขมันอิ่มตัว และไขมันรวมต่ำ รวมทั้งมีใยอาหารและโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ

นอกจากนี้ ก็ยังมีนวัตกรรมมันหมูอนามัย น้ำมันทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สุขภาพ และอกไก่นุ่ม ที่นวดด้วยระบบสุญญากาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของซีพี ให้เนื้อไก่นุ่มเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ เพราะมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ให้พลังงานเพียง 80 กิโลแคลอรี่

การเดินบนเส้นทางนี้เป็นเพราะธนินท์เชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่า กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ซีพีมัดใจผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศได้คือ การใช้นวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยยังคงคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติอร่อย มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต สร้างความสะดวกให้ผู้บริโภค และส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้ในทุกโอกาส จากการบริหารช่องทางการขาย

และเป็นความสำเร็จที่เขาพิสูจน์แล้วนับตั้งแต่วันแรกที่ซีพีบุกเบิกอุตสาหกรรมอาหารในเวทีการค้าโลก จนได้รับการยอมรับในฐานะอาหารที่มีมาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องมาตรฐานสูงทางด้านอาหาร โดยเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ในปี 2516 หลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ซีพีเริ่มส่งออกออกเนื้อไก่และกุ้ง และทำให้ไก่ทอดและกุ้งทอดกลายเป็นเมนูประจำโต๊ะอาหารของญี่ปุ่น กระทั่งสื่อชั้นนำในในญี่ปุ่นเช่น NHK และ NIKKEI ต่างขนานนามสิ่งที่ซีพีว่าเป็น “บริษัทที่ปฏิวัติโต๊ะอาหารของญี่ปุ่น” จนปัจจุบัน

ก้าวไปข้างหน้ากับอนาคตของเกษตรบนฐานเทคโนโลยี

บนเส้นทางสู่อนาคตวันนี้ ไม่เพียงซีพีจะร่วมกับมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างฮาร์วาร์ดในการวิจัยและพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเป็นบริษัทแรกของโลกที่อยู่นอกเหนือกลุ่มยา ซีพียังร่วมกับทีมแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มุ่งคิดค้นสูตรอาหารสุขภาพที่รสชาติดี และอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เหมาะสำหรับคนที่ชอบกินเกินพอดี ซึ่งทำให้เสียโอกาสการมีสุขภาพที่ดี งานวิจัยเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพชิ้นนี้ ถ้าทำได้สำเร็จ จะเปลี่ยนโฉมหน้าการดูแลสุขภาพไปเลย เพราะหลายโรคในปัจจุบันนี้ ล้วนเป็นผลพวงจากการบริโภคที่เกินพอดี จนส่งผลเสียต่อร่างกาย

ซีพียังเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับบริษัทวิจัยดูปองต์เพิ่มเติมอีก 5 โครงการในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร เพื่อก้าวข้ามจากเกษตรอุตสาหกรรมจากที่ใช้แรงงาน ไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมบนฐานเทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ

จากจุดเริ่มต้นในเวทีการค้าโลก วันนี้ศักยภาพเครือข่ายอาหาร CP FOODS เติบโตอย่างน่าทึ่ง ดังที่ฮาร์วาร์ดสนใจเข้ามาศึกษาและได้เชิญเจ้าสัวธนินท์ไปเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ ถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้หลายครั้ง

เจ้าสัวธนินท์มุ่งมั่นด้านธุรกิจอาหาร แบบภาษาชาวบ้านคือ ซีพีมุ่งสร้างความกินดีอยู่ดีกับประชากรโดยรวมอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน และนั่นคือวิสัยทัศน์สู่ “ครัวของโลก” ของนักธุรกิจไทย เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ นั่นเอง

 

thaipublica
แหล่งข้อมูล : Thaipublica


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …