ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าสภาพอากาศของโลกเรานั้น เลวร้ายไปจากแต่ก่อนมาก หากติดตามข่าวสารดินฟ้าอากาศ ก็จะเห็นข่าวภัยธรรมชาติ และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว หนาวก็หนาวจัด ร้อนก็ร้อนมากมาย สำหรับปัญหาทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความร้อนที่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ตายได้ เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบให้การดูแลรักษาโดยเร็ว ก็คือ ฮีทสโตรค (Heat stroke) หรือที่มีศัพท์บัญญัติในภาษาไทยว่า “อุณหพาต”

หลายคนอาจเพิ่งเคยรู้จักกับภาวะฮีทสโตรคเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะสภาพอากาศร้อนในบ้านเราก็ถือเป็นเรื่องปกติ ข่าวก็มีรายงานแต่เฉพาะเรื่องมีคนหนาวตายตอนอากาศเย็นจัด ตอนที่ผมต้องสอนนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ก็เป็นความรู้แบบสำเร็จรูปที่ได้จากการค้นคว้า หาอ่านจากหนังสือตำรา ส่วนประสบการณ์ที่พบเจอผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักเป็นแบบที่รุนแรงน้อย เช่น เป็นลม หรือเป็นตะคริวแค่นั้น

เมื่อปีที่แล้วผมได้มีโอกาสไปดูแลการปฐมพยาบาลนักวิ่งในการเดินวิ่งการกุศลรายการหนึ่ง เกิดมีนักกีฬาวูบล้มขณะวิ่ง จากนั้นไม่รู้สึกตัว พูดจาสับสน แล้วเกิดอาการชักขึ้น ที่สำคัญในวันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงคนเดียว แต่มีถึง 3 คน และมีอยู่รายหนึ่งที่ถึงกับต้องนอนรักษาตัวในห้องไอซียูเลยทีเดียว ก็เลยเป็นเรื่องที่ผมเก็บความตั้งใจข้ามปีมาว่า หน้าร้อนในปีนี้ต้องมาบอกเล่าเรื่องนี้ให้กับผู้อ่านได้ทราบกัน เพราะหากป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ก็จะดีที่สุด หรือหากเกิดขึ้นแล้วมีการช่วยเหลืออย่างถูกต้องรวดเร็วก็จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนถาวรของร่างกายในระบบต่างๆ ได้

ฮีทสโตรค คืออะไร

ฮีทสโตรค คือภาวะที่มีอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย ซึ่งวัดทางทวารหนักได้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับการมีอาการทางสมอง เช่น หมดสติ พูดจาสับสน ชัก เป็นต้น ฮีทสโตรคในระหว่างการเล่นกีฬานั้น เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับความร้อนที่ได้รับจากอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม และความร้อนที่สร้างขึ้นจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ได้

ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหามาเนื่องมาจากความร้อนที่รุนแรงน้อย ซึ่งอุณหภูมิกายยังไม่ถึง 40 องศาเซลเซียส อาจแสดงอาการเป็นตะคริวแดด (Heat cramps) หรือมีอาการเพลียแดด (Heat exhaustion) ที่ร่างกายมีอาการอ่อนล้าเกินกว่าจะเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่อไปได้ อาจมีหน้ามืด เป็นลม แต่อาการทางสมองก็ยังเป็นแบบที่ไม่รุนแรงมากนัก อันนี้ถือเป็นกระบวนการป้องกันตัวเองที่ธรรมชาติสร้างขึ้นก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรงขึ้นเป็นฮีทสโตรค

.

ร่างกายขับความร้อนอย่างไร

ในภาวะปกติเมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นในร่างกาย จะอาศัยกระบวนการต่างๆ 4 กระบวนการในขับความร้อนออกจากร่างกาย ซึ่งความเข้าใจในกระบวนการเหล่านี้มีความสำคัญในการนำมาใช้ในการลดอุณหภูมิกายของผู้ป่วย

1. การนำความร้อน เมื่อร่างกายสัมผัสกับของที่เย็นกว่า ก็จะมีการถ่ายเทความร้อนขึ้น หากความต่างของอุณหภูมิมากก็จะทำเกิดการนำความร้อนมากขึ้นด้วย อันนี้เป็นหลักการที่ใช้ช่วยลดอุณหภูมิผู้ป่วย โดยการประคบเย็น หรือแช่ตัวในน้ำเย็น และถ้าพื้นผิวสัมผัสยิ่งมากก็จะช่วยลดความร้อนได้มากขึ้น

2. การพาความร้อน  เกิดจากการมีกระแสลมหรือน้ำที่พาเอาความร้อนออกไป เหมือนกับการที่เราเปิดพัดลมตามบ้าน การดูแลเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่บาง โปร่งสบายในขณะวิ่ง ก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มการถ่ายเทของอากาศ หรือการที่นักวิ่งหลายคนที่นอกจากจะรับน้ำมาเพื่อดื่มในระหว่างวิ่งแล้ว บางคนก็ราดบนศีรษะ นอกจากช่วยกระตุ้นให้สดชื่นขึ้นแล้ว ก็ช่วยพาความร้อนด้วย

3. การแผ่รังสี เป็นการกระจายความร้อนของร่างกายสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากนี้การที่สวมใส่เสื้อผ้าที่มีอ่อน ก็จะช่วยสะท้อนรังสีจากแสงแดดด้วย

4. การหลั่งเหงื่อ เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดในการลดความร้อนของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัดนั้น ความแตกต่างของอุณหภูมิร่างกายกับสิ่งแวดล้อมอาจมีน้อยลง ทำให้สามประบวนการแรกนั้นมีประสิทธิภาพลดลง แต่ปัจจัยที่มีผลต่อการลดความร้อนด้วยการหลั่งเหงื่อก็คือ ระดับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ โดยในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงก็จะทำให้การหลั่งเหงื่อมีประสิทธิภาพในการระบายความร้อนน้อยลง นอกจากนี้การหลั่งเหงื่อก็จะมีการสูญเสียเกลือแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกลือโซเดียม หากมีการออกกำลังกายในที่ร้อนต่อเนื่องกันยาวนาน เช่น นานกว่า 1 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้รับเกลือแร่ทดแทนก็อาจทำให้เกิดตะคริวแดดขึ้นได้

.

ทำไมต้องวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก

ในการวินิจฉัยภาวะฮีทสโตรคนั้น ใช้อุณหภูมิที่วัดทางทวารหนักซึ่งสูงมากกว่า 40 องศาเป็นเกณฑ์ เนื่องจากการวัดทางผิวหนัง รูหู หรือทางปากนั้น จะทำให้ได้อุณหภูมิที่ต่ำกว่าอุณหภูมิแกนกลางจริงของร่างกาย นอกจากนี้การวัดปรอททางปากก็ยังไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่ค่อยรู้สึกตัว เพราะอาจกัดปรอทแตก เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

.

การปฐมพยาบาลภาวะฮีทสโตรค

หลักการที่สำคัญที่สุด ก็คือ การลดระดับความร้อนของร่างกายลงให้เร็วที่สุด หากไม่มีภาวะอื่นที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายแล้ว ก็ควรทำการลดความร้อนของผู้ป่วยตั้งแต่แรก ก่อนนำส่งโรงพยาบาล วิธีที่ลดความร้อนได้เร็วที่สุดก็คือ การแช่ตัวของผู้ป่วยลงในถังน้ำเย็น (ลดได้ประมาณ 0.2 องศาเซลเซียสต่อนาที) แต่หากไม่มีสามารถทำได้ การใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือถุงใส่น้ำแข็ง หมุนเวียนประคบตามคอ ลำตัว แขนขา ข้อพับต่าง ๆ ก็สามารถช่วยลดความร้อนได้พอสมควร (ประมาณ 0.15 องศาเซลเซียสต่อนาที) ควรจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกเท้าให้สูงขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณเลือดที่ไหลเวียนกลับสู่หัวใจให้มากขึ้น

ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้น รู้สึกตัวหลังจากระดับอุณหภูมิในร่างกายลดลง เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดีขึ้นก็สามารถดื่มน้ำเพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำของร่างกายได้ แต่ถ้าหมดสตินานอาจมีความจำเป็นในการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และนำส่งโรงพยาบาล เพื่อการตรวจเพิ่มเติมในส่วนของระบบต่าง ๆ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่เกิดฮีทสโตรคอยู่นานก็อาจมีปัญหาทางไต การสลายตัวของกล้ามเนื้อ และการเสียสมดุลของเกลือแร่ได้

.

การป้องกันฮีทสโตรค

  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาในสภาพอากาศที่ร้อนจัด และมีความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศสูง ซึ่งสำหรับผู้จัดการแข่งขันกีฬากลางแจ้ง ในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่ต้องใช้เวลาแข่งนาน ควรหาข้อมูลพยากรณ์อากาศก่อน หากจำเป็นอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนเวลา เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬา
  • ควรดื่มน้ำให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย ไม่ควรรอจนรู้สึกกระหายน้ำ และหากเล่นกีฬานานกว่า 1 ชั่วโมงควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป
  • ไม่ควรเล่นกีฬาในขณะที่มีไข้
  • ควรเลือกสวมเสื้อผ้าสีอ่อนที่เบาสบาย อากาศถ่ายเทได้ดี และไม่ควรทาครีมกันแดดหนาจนเกินไป
  • หากต้องแข่งกีฬาในสภาพอากาศที่ไม่คุ้นเคย นักกีฬาอาจต้องการเวลาปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศประมาณ 10-14 วัน

แหล่งข้อมูล : ผศ.นพ.พิสิฏฐ์  เลิศวานิช ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพประกอบ : สสส.


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …