ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “จังหวัดนครราชสีมา” ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเร็วมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมืองโคราชเป็นเมืองหน้าด่านสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 

ทำให้มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นในเมืองโคราชอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการจัดสรร ที่มีทั้งบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียมทยอยเปิดตัวหลายโครงการ และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ตบเท้าเข้าไปเปิดตัวกันพรึ่บ ทั้งห้างเดอะมอลล์ และห้างเทอร์มินอล 21 ที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน ส่วนห้างเซ็นทรัล อยู่ระหว่างก่อสร้าง เตรียมจะเปิดตัวช่วงปลายปีนี้

ส่งผลให้ “เมืองโคราช” ในวันนี้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของปริมาณความต้องการด้านการขนส่งและการเดินทางที่หนาแน่น รวมไปถึงปัญหาการจราจรติดขัดสาหัส ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างวันสงกรานต์และวันปีใหม่

แต่ในอนาคตอันใกล้ไม่เกิน10ปี เมืองโคราชจะมีระบบขนส่งมวลชนเมืองหลายรูปแบบเข้ามารองรับเชื่อมโยงโครงข่ายกับระบบ Feeder ต่างๆของรถไฟ, รถโดยสารบริษัทขนส่งจำกัด หรือรถขนส่งสาธารณะอื่นในพื้นที่ต่างๆ

โดยเฉพาะโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่จะเชื่อมการเดินทางจากกรุงเทพไปยังโคราชให้สะดวกขึ้น มีทั้งมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา รถไฟทางคู่ บางกะเบา-ชุมทางจิระ (นครราชสีมา) และโครงการไฮสปีดเทรน กรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะยทาง 252-5 กม.

20170411-120331-Korat-02

ล่าสุดในการสัมมนาระหว่างกาล เพื่อศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งมวงลชนสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา  เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอให้มีการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแบบรถรางขนาดเบา (TRAM)ระบบ Light Rail Transit (LRT) ที่สามารถให้บริการบนถนนเดิมได้ และระบบ Electric Bus Rapid Transit (BRT)  เพื่อรองรับการเดินทางสัญจรไป-มาของประชาชนในเมืองโคราชโดยเฉพาะ โดยจะเปิดให้บริการ 3 สายหลัก คือ สายสีเขียว สายสีม่วง และสายสีส้ม และแบ่งระยะเวลาการพัฒนาเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 (2563-2565) สายสีส้มเข้มและสีเขียวเข้ม ระยะที่ 2 (2566-2568) สายสีม่วง และระยะที่ 3 (2569-2571) ส่วนต่อขยาย

20170411-120324-Korat-01

โดยแนวเส้นทางหลักของสายสีเขียว จะวิ่งผ่านวิทยาลัยนครราชสีมา โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย อู่เชิดชัย  อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โรงเรียนสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ 2

20170411-120336-Korat-03

สายสีม่วง มีจุดเริ่มต้นที่ตลาดเซฟวัน วิ่งผ่านโรงแรมสีมาธานี โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ เทอร์มินอล 21 ศูนย์การค้าแม็คโคร ศูนย์การค้าเซ็นทรัล มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ค่ายสุรนารายณ์ ไปสิ้นสุดที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์

20170411-120348-Korat-04

สายสีส้ม มีจุดเริ่มต้นที่ดูโฮม ห้างเทสโก้โลตัส  แยกถนนสรรพสิทธิ์  อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา ศาลากลางจังหวัด และถนนหมาดไทย

ทั้งนี้ตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ระยะที่ 1 เขียวเข้มและส้มเข้ม จะออกแบบรายละเอียดปี 2562 ก่อสร้างระบบปี 2563-2565 เปิดให้บริการเร็วที่สุดปี 2566 ส่วนระยะที่ 2 ม่วงเข้ม ออกแบบรายละเอียดปี 2565 ก่อสร้างระบบปี 2566-2568 เปิดให้บริการเร็วที่สุดปี 2569 และระยะที่ 3 ส่วนต่อขยายทั้งหมด ออกแบบรายละเอียดปี 2568 ก่อสร้างระบบปี 2569-2571 เปิดให้บริการเร็วที่สุดปี 2572

เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนของเขตเมืองนครราชสีมาได้ไม่เกิน 20,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง  คนโคราชก็ต้องมารอลุ้นกันวาโครงการนี้จะเดินหน้าผ่านฉลุยและเปิดให้ใช้ได้จริงหรือไม่

 

Home logo
แหล่งข้อมูล : Home Buyers’ Guide
ภาพประกอบ : korat-publctransport, สนข.


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …