กำลังเป็นที่จับตา หลัง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เปลี่ยนม้ากลางศึก จาก “วุฒิชาติ กัลยาณมิตร” เป็น “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รองอธิบดีกรมทางหลวง หนึ่งในกรรมการบอร์ด ร.ฟ.ท.ที่ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ตั้งให้เป็นรักษาการเก้าอี้ผู้ว่าการการรถไฟฯ

หวังใช้ความรู้วิศวะขับเคลื่อนงานประมูลและก่อสร้างโครงการใหญ่ในมือร.ฟ.ท.ที่รัฐจัดสรรเม็ดเงินให้จำนวนมหาศาลผลิดอกออกผลในเร็ววันหลังออกแรงผลักดันกันมานานหลายปีดีดักแต่ยังไม่ลุล่วง

หนึ่งในการขับเคลื่อนนอกจากแม่ทัพใหม่มาจากม.44 จะทะลวงปัญหาภาคปฏิบัติ ยังมี “พิชิต อัคราทิตย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแล ร.ฟ.ท.โดยตรง เป็นผู้คุมนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกับโรดแมปของรัฐบาล คสช.

“อานนท์” ระบุสั้นๆ จะเร่งสางปัญหาประมูลทางคู่ 5 เส้นทางให้เสร็จโดยเร็ว ส่วนจะล้มประมูลหรือเดินหน้าต่อขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างจะตรวจสอบทีโออาร์และราคากลางประมูลโครงการหากให้ประมูลใหม่จะทำให้เสียเวลาอย่างน้อย 2 เดือน

ขณะที่ “พิชิต” เตรียมการบ้านให้ “อานนท์” เร่งเดินหน้าและเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ “สั่งการให้รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯคนใหม่ เร่งรัดงานตามนโยบายของรัฐบาลให้เสร็จในปีนี้ทั้งหมด เพราะล่าช้ามานานมากแล้ว”

โดยเร่งรัดประมูลรถไฟทางคู่ 15 โครงการเงินลงทุนร่วม 5 แสนล้านบาท มีทั้ง 5 เส้นทางที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และระยะที่ 2 ลงทุนต่อปีนี้ 10 เส้นทาง มีตัดใหม่ 2 เส้นทาง อีกทั้งให้ตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์เพื่อบริหารที่ดินทั่วประเทศ ทั้งดูแลสัญญาเช่าเดิมและต่อสัญญาใหม่มีอยู่กว่า 1.4 หมื่นสัญญา

เร่งเปิดประมูลที่ดินแปลงใหญ่ เช่น สถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ แม่น้ำ 277 ไร่ มักกะสัน 497 ไร่ ย่าน กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ และที่ดินรอบสถานีรถไฟในหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ เพื่อนำรายได้จากค่าเช่ามาชดเชยภาระหนี้ที่ขาดทุนสะสม 103,197 ล้านบาท ตั้งเป้าจะมีค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากปีละ 2-3 พันล้านบาท เป็น 1 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ให้เร่งลงทุนรถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง รวม 1,039 กม. เงินลงทุน 651,029 ล้านบาท ได้แก่ รถไทย-จีนกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253.5 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท รถไฟไทย-ญี่ปุ่นกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 384 กม. วงเงิน 224,416 สายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงิน 94,673 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. วงเงิน 152,528 ล้านบาท

“อยากให้เร่งสายกรุงเทพฯ-ระยองเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นโครงข่ายเชื่อมกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออกหรืออีอีซีที่รัฐต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายในปีนี้จะให้เอกชนลงทุนแบบ PPP ทั้งก่อสร้างเดินรถและพัฒนาพื้นที่รอบสถานี เพื่อสร้างรายได้ระยะยาวให้รถไฟ”
นายพิชิตกล่าวและว่า

สำหรับการจัดหาหัวรถจักรและล้อเลื่อนในแผนงาน ใช้เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้จัดซื้อแล้วมีดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 20 คัน วงเงิน 3,300 ล้านบาทซื้อจากจีน กำลังจะประมูลมีรถจักรดีเซลไฟฟ้าทดแทนรถ GE 50 คัน วงเงิน 6,562.5 ล้านบาท และจัดหารถดีเซลราง 186 คัน วงเงิน 13,505 ล้านบาท การซ่อมบูรณะรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตอม 56 คัน วงเงิน 3,360 ล้านบาท

รวมถึงเร่งประมูลโครงการถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,156.96 ล้านบาท ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) กว่า 3.1 หมื่นล้านบาท และเร่งงานก่อสร้างรถไฟสายสีแดงบางซื่อ-รังสิตให้เสร็จทันเปิดใช้ในปี 2563 และส่วนต่อขยายรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 7,596 ล้านบาท และตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา วงเงิน 19,042 ล้านบาท

ทุกโครงการล้วนเป็นแผนที่คิดและพูดถึงกันมานาน ผ่านมาไม่รู้กี่รัฐบาล จะมาสำเร็จในยุครัฐบาล คสช.หรือไม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งนัก

 

แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบ : โพสต์ทูเดย์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …