มีคำกล่าวไว้ว่า การตั้งคำถามที่ถูกต้อง จะนำมาซึ่งคำตอบที่ถูกทาง ความเฉียบแหลมในการทำธุรกิจนั้น สามารถสร้างได้ด้วยการหัดตั้งคำถาม หลากหลายคำถามจึงเกิดขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญก็คือ มีไว้เพื่อสำรวจตัวเราเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ นี่เป็นอีกคำถามที่น่าสนใจ กับคำถามที่ว่า ‘อะไรเป็นสิ่งที่เราควรสนใจ?’ สามเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นการใช้คำถามเดียวกัน เป็นแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์ที่ต่างเวลาต่างวาระกันไป Credit: khajochi.com เหตุการณ์แรก เป็นเรื่องเล่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ในเวลานั้นเอง บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SCG หรือ เครือซิเมนต์ไทย ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการใช้คำถามข้างต้นนี้มาแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ คำถามว่า ‘อะไรเป็นสิ่งที่เราควรสนใจ?’ นี่เอง ทำให้ SCG ดำเนินการแก้วิกฤติการณ์ค่าเงินบาท โดยเริ่มดำเนินการแบ่งประเภทของธุรกิจที่มีอยู่ออกเป็น 2 ประเภทคือ Core Business กับ Non-Core Business โดยนิยามของคำว่า Core Business นั้นมีความหมายว่า… ธุรกิจนั้นจะต้องเป็นธุรกิจหลัก เป็นงานที่ SCG มีความสามารถสูง และมีความสามารถในการเจริญเติบโต เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ SCG ทำได้ดี และทำได้อย่างถนัดมือ ส่วนที่เหลือก็จะถูกตั้งเป็น Non-Core Business คือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มว่าอาจจะดี แต่ว่ามันไม่อยู่ในความถนัดของเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งการดำเนินการในช่วงวิกฤติในครานั้น มีแนวทางชัดเจนว่า Non-Core Business จะต้องถูกดำเนินการขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับต่างประเทศ หรือคนอื่นๆ ที่สนใจมาลงทุน สรุปง่ายๆ นั้นคือ SCG ตัดใจขายธุรกิจที่ตัวเองไม่ถนัด ไม่เชี่ยวชาญ มีโอกาสทำกำไรต่ำออกไป และหันมาเน้นประสิทธิภาพในการทำธุรกิจที่ถนัดและเจริญเติบโต เพื่อรักษาสถานะของบริษัทให้มั่นคงต่อไปได้ในสภาวะวิกฤติ เพื่อพยุงธุรกิจในเครือ SCG ให้อยู่รอดต่อไปได้ และ SCG ก็ทำได้สำเร็จ กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ก้าวข้ามผ่านวิกฤติการณ์ปี 40 มาได้ Credit: wsj.com แม้เวลาจะเดินทางผ่านไปนานนับสิบกว่าปีแล้ว แต่วันนี้คำถามสุดคลาสสิกข้างต้นก็ยังถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในบริบทใหม่ เพราะล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังอย่าง P&G ได้ประกาศแผนปรับองค์กรที่สร้างความฮือฮาให้กับคนทั้งโลก P&G ใช้คำถามสุดคลาสสิกว่า… ‘อะไรเป็นสิ่งที่เราควรสนใจ?’ มาเป็นแนวทางในการแก้วิกฤติอีกครั้ง P&G วางแผนที่จะขายแบรนด์ที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 100 แบรนด์ โดยทุกสินค้าที่เข้าข่ายนี้ล้วนเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ต่ำ โดยแบรนด์ต่างๆ เหล่านี้ทำรายได้รวมกันอยู่ประมาณแค่ 10% ของรายได้บริษัท เริ่มต้นด้วยการขายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงให้กับบริษัทผู้ผลิตขนม “Mars” ไปก่อน และดำเนินการตัดลดธุรกิจไม่ทำกำไร โดยขายถ่านไฟฉาย “Duracell” ให้กับกองทุนเบิร์กเชีย ฮาธาเวย์ ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในราคา 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเล็งที่จะขายแบรนด์ที่ทำกำไรน้อย อย่างเช่น แบรนด์น้ำหอมต่างๆ ทิ้งออกไป สรุปเป็นแนวทางง่ายๆ ขายแบรนด์ที่ศักยภาพต่ำ และหันมาทุ่มสรรพกำลังส่งเสริมให้แบรนด์ที่ดี สามารถทำกำไรให้มากขึ้น โดยหลักการที่ P&G เลือกแบรนด์ที่จะให้ความสำคัญนั้น ตัดสินจากเหตุผลว่า แบรนด์นั้นจะต้องมีความโดดเด่น เป็นแบรนด์ชั้นนำที่มีความแข็งแกร่งในตราสินค้า เป็นแบนด์มีกลุ่มลูกค้าเหนียวแน่น ยาวนาน เป็นแบรนด์ที่มีนวัตกรรม และข้อสุดท้ายคือ เป็นแบรนด์ที่สามารถสร้างผลกำไรได้ โดยโฟกัสให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีผลประกอบการดีจำนวน 37 แบรนด์หลัก ซึ่งสร้างรายได้ระดับ 500-10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้ P&G สามารถสร้างผลกำไรได้มากขึ้น เติบโตขึ้นได้ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายการบริหารและจัดการลดลง เพราะตัดขายแบรนด์ง่อยๆ ทิ้งไปหมดแล้ว Credit: businessinsider.com จากทั้งกรณีของ SCG และ P&G ข้างต้นนี้ มันช่างละม้ายคล้ายกับตอนที่สตีฟ จ๊อบส์ กลับเข้ามาบริหาร Apple ในรอบที่สอง หลังจากที่ถูกบีบให้ลาออกไปในครั้งแรก เป็นที่รู้กันว่า เมื่อเขากลับเข้ามาอีกครั้ง สตีฟมองทะลุไปเห็นปัญหาว่า การขายคอมพิวเตอร์ของ Apple ในเวลานั้น พยายามสร้างรุ่นมาแข่งขันกับคอมแบบพีซีจนมีจำนวนรุ่นมากเกินไป สายงานผลิตทำงานยุ่งยาก ทำให้ทีมงานวิศวกรต้องเสียเวลา เสียทรัพยากรในการพัฒนาและดูแลผลิตภัณฑ์อย่างไม่จำเป็น คำถามสุดคลาสสิกว่า ‘อะไรเป็นสิ่งที่เราควรสนใจ’ เริ่มต้นทำงานอีกครั้ง สตีฟริเริ่มให้ตัดลดสายการผลิต เลิกผลิตภัณฑ์ที่ไม่สร้างผลกำไร หรือมีกำไรต่ำ โดยให้ทีมงานโฟกัสกับผลิตภัณฑ์ให้น้อยรุ่นที่สุด โดยเฉพาะในสายงานคอมพิวเตอร์ เขาออกนโยบายให้ทีมงานทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดมาเน้นการพัฒนาและขายคอมพิวเตอร์รุ่น emac เป็นหลักเท่านั้น และจัดการย้ายทีมงานส่วนอื่นๆ มาให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนเกมส์ในตลาดได้ จนกลายเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์อย่าง Ipod และ Ipad รวมทั้งการทุ่มเทพัฒนา Iphone จนสำเร็จ ซึ่งต้องยอมรับว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่ของ Apple อ่านเรื่องราวของทั้งสามเรื่องจบลง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแม้เวลาจะผ่านพ้นไปนานนับสิบปี แต่คำถามสุดคลาสสิกว่า ‘อะไรเป็นสิ่งที่เราควรสนใจ?’ ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อตรงอยู่เสมอ แหล่งข้อมูล: moremove#96
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market