ในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในแต่ละช่วงเวลา ย่อมมีการบรรเลงดนตรีตามแบบโบราณราชประเพณี อาทิ วงปี่พาทย์นางหงส์ ซึ่งใช้ในงานอวมงคลมาตั้งแต่อดีต เช่นเดียวกับงานพระราชพิธีสำคัญทุกครั้ง วงปี่พาทย์ที่บรรเลง ย่อมมาจากกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร สุราช ใหญ่สูงเนิน วัย 33 ปี ดุริยางค์ศิลปินชำนาญงาน เป็นหนึ่งในผู้ได้รับหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ นับแต่งานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในฐานะ “คนปี่” สุราช เป็นคนโคราชโดยกำเนิด จบการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ นครราชสีมา แล้วมาเรียนต่อที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพฯ จนจบปริญญาตรี รับราชการมานานเกือบ 10 ปี กระทั่งมีฝีมือกล้าแข็ง พร้อมกับศึกษาต่อระดับปริญญาโท ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้น ม.1 คนปี่พาทย์ผู้นี้ เริ่มจากการเรียนฆ้องใหญ่เหมือนกับทุกคน เพื่อไปต่อยอดในแต่ละเครื่องมือ แล้วเลือกเครื่องมือที่ถนัด สุราชตัดสินใจเลือกปี่ เพราะรู้สึกว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ “อัศจรรย์” ด้วยการใช้ลมหายใจทำให้เกิดสุ้มเสียงอันไพเราะ โดยมี “คชล จันทร์กระจ่าง” เป็นครูคนแรกในชีวิต จากนั้นได้ฝากตัวเป็นศิษย์ “นิวัฒน์ โตพูล” ครั้นเก็บกระเป๋าเข้ากรุงเทพฯ จึงได้ร่ำเรียนกับ “ปี๊บ คงลายทอง” ซึ่งตนประทับใจตั้งแต่เด็ก จากการฟังเทป ว่า “เป่าปี่ช่างมีเอกลัษณ์ ฟังแล้วไพเราะเหลือเกิน” สุราช เล่าต่อว่า ปี่ที่เรียน มีหลายประเภท อาทิ ปี่ใน ปี่ชวา และปี่มอญ สำหรับปี่ที่ใช้เป่าในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพ คือ “ปี่ชวา” ซึ่งต้องผ่านกระบวนการของการร่ำเรียน “ปี่ใน” มาก่อนอย่างเข้มข้น โดยวงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 วง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ไพรัช อยู่วงที่ 3 นำโดย “ไพรัตน์ จรรย์นาฏย์” ศิลปินผู้มากฝีมือ “วงปี่พาทย์ มีการสลับกันทั้งหมด 5 วง เวียนกันไป สำหรับเพลงชุดปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วยเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน , สาวสอดแหวน, แสนสุดสวาท หรือกระบอกทอง, คู่แมลงวันทองและแมลงวันทอง ถามว่าเพลงไหนยากสุด ต้องบอกว่ายากเท่ากันหมด นอกจากนี้ ผมก็ร่วมประโคมย่ำยามด้วย โดยเป็นไปตามยามคือ เริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้า, 9 โมงเช้า, เที่ยง, บ่าย 3 โมง, 6 โมงเย็น และ3 ทุ่ม รวมถึงช่วงพระฉันเช้า มีเพลงฉิ่งพระฉัน อีกเพลงหนึ่ง” สุราชอธิบาย เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้มีส่วนร่วมในพระราชพิธีประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ สุราชตอบอย่างว่องไวว่า เป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต “ภูมิใจที่สุด ที่บ้านพอเห็นผมออกทีวีก็ดีใจมาก เพราะเรารักพระองค์ท่านกันทั้งครอบครัว ทุกครั้งที่จะไปเป่า เตรียมชุดข้าราชการอย่างดี คิดไว้ทุกครั้ง ต้องทำให้ดีที่สุด ต้องใช้ศักยภาพที่มี ที่เรียนมาทุกอย่างตลอด 20 ปี กลั่นกรองออกมาให้ประณีตที่สุด ไพเราะที่สุด” สุราชกล่าวอย่างตื้นตัน แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market