“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยตามกฎมณเฑียรบาล ตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดี ที่ 13 ตุลาคม ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 ปีพระพุทธศักราช 2559 ตรงกับปีวอก ที่จุลศักราช 1379 มหาศักราช 1938 ในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ศก 235  เป็นวันที่ 1 ปีที่ 1  ของรัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ จะไม่ขานคำว่า “พระบาท” นำหน้าพระนาม “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระองค์ใหม่ จนกว่าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขอ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลใหม่ ทรงพระเจริญ

26322-1024x714

พระราชสมภพ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร” เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น. ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 นับเป็นปีที่ 7 แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2632-1024x629

ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

26332-1024x673

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 เดือน กับ 18 วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 14 และวันที่ 15 สิงหาคม พุทธศักราช 2495 ประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทั้งพิธีพราหมณ์ พิธีสงฆ์ และถวายแห่กล่อม ในพระราชพิธีนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ได้มีพระลิขิตไปถวายพระพรชัยมงคลในนามแห่งคณะสงฆ์ไทย เนื่องในอภิลักขิตสมัยมหามงคลสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ด้วย

2634-1024x709

ต่อมาเมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตาว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร” ทรงอธิบายเป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล คือได้อัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระไปยิกาธิราช ซึ่งปรากฏในขณะทรงพระผนวชว่า ”วชิรญาณะ”Ž ผนวกกับ “อลงกรณ์Ž” จากพระนามในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของรัชกาลที่ 5

2636-1024x674

การศึกษา

ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2499 เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา ณ โรงเรียนจิตรลดาชั้นอนุบาล ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต ต่อมาโรงเรียนย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

2640-1024x642

ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พุทธศักราช 2509 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงสมีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นชัสเชกส์ ประเทศอังกฤษ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซัมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2513

2648-1024x683

นับแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัย และสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพอยู่เสมอ ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่างๆ ทรงเอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ของทหารและตำรวจเป็นนิจ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาต่อในวิชาการทหาร ที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ณ ประเทศออสเตรเลีย จนถึงเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2514

2648-1024x751

พุทธศักราช 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา นับตั้งแต่ภาคแรกแห่งการศึกษาเป็นต้นไป หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย นักเรียนที่สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร แบ่งออกเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตรทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อพุทธศักราช 2519

2646-1024x672

พุทธศักราช 2519 ทรงเข้ารับฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบิน ได้แก่ หลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง และหลักสูตรส่งทางอากาศ

2649-1024x658

เมื่อนิวัติประเทศไทย ทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อปี พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อพ.ศ.2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2)  และปี พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

2651-768x1118

สมเด็จพระยุพราช

เมื่อพุทธศักราช 2515 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารŽ ตามโบราณขัตติยราชประเพณี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

1

ผนวช

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช

2652-1024x707

พระราชกิจ

ตลอดระยะเวลานับแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงยึดมั่นในพระปฎิญญาทรงพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นปฎิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยมิได้ย่อท้อ ได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  และพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ตั้งแต่ครั้นยังทรงพระเยาว์ ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปในการเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศตลอดมา จึงทรงสามารถสั่งสมพระประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองและราษฎร ดังนั้น จึงทรงปฏิบัติพระภารกิจได้เป็นผลสำเร็จลุล่วง นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

king04
Credit : PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

พระราชกิจทางราชการ ทรงเข้าประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ เมืองเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้าย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่บริเวณ รอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ณ เขาล้าน จังหวัดตราด แม้เป็นพระราชภารกิจที่ต้องทรงเสี่ยงภยันตราย แต่ด้วยความที่ทรงเป็นชาติชายทหาร และเป็นพระราชภารกิจเพื่อความผาสุกของพสกนิกร และเพื่อมนุษยธรรมต่อผู้ประสบทุกข์ยาก จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจดังกล่าวโดยเต็มพระราชกำลัง

  • 9 ธันวาคม พ.ศ.2518 ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบกกระทรวงกลาโหม
  • 6 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 30 กรกฎาคม พ.ศ.2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 9 มกราคม พ.ศ.2535 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

pp2

พระราชกิจด้านการทหาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด

  • 9 มกราคม พ.ศ.2518 ทรงเข้าเป็นนายทหารประจำกรมข่าว ทหารบก กระทรวงกลาโหม
  • 6 ตุลาคม พ.ศ.2521 ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 30 กรกฏาคม พ.ศ.2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
  • 9 มกราคม พ.ศ.2535 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบิน ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เคยทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักบินทั่วโลกจะทำได้ พระองค์ทรงพระกรุณาปฎิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ – 5 อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2537 เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพไทยและปวงชนชาวไทย

จากการที่ได้ทรงศึกษาด้านวิชาทหารมานาน ทรงมีความรู้เชี่ยวชาญอย่างมาก และได้พระราชทานความรู้เหล่านั้นให้แก่ทหาร 3 เหล่าทัพ ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่นายทหาร เอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ทุกข์สุขของทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรของทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเทิดทูนและความจงรักภักดีแก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง

1201-1024x740

พระราชกิจด้านการศึกษา  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลชิ่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ โดยในระยะแรกได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล ต่อมา โรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรี และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลคมนาคมไม่สะดวก กระทรวงศึกษาธิการ ได้สนองพระราชประสงค์ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 6 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ได้แก่

  • โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา อ.ปลาปาก จ.นครพนม (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1)
  • โรงเรียนมัธยมจุฑาวัชร อ.ลานกระลือ จ.กำแพงเพชร (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา โรงเรียนมัธยมวัชเรศร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี  (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3)
  • โรงเรียนมัธยมจักรีวัชร อ.รัตนภูมิ จ.สงขลา  (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2)
  • โรงเรียนมัธยมวัชรวีร์ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3) และ โรงเรียนมัธยมบุษย์น้ำเพชร อ.เมือง จ.อุดรธานี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา อีกทั้ง โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรีตน์ พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่างๆ เสมอ ทั้งนี้ด้วยน้ำพระหฤทัยที่ทรงพระเมตตาห่วงใยเยาวชนผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ปีละเป็นจำนวนมากทุกปี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยาวชนในตำบลต่างๆ ทรงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เยาวชนตำบล รวมทั้งได้ทรงเป็นประธานงานวันเยาวชนแห่งชาติ วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี และทรงเป็นประธานในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามของลูกเสือและเนตรนารี และสมาชิกผู้ทำประโยชน์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้อุปการะเด็กกำพร้า คือ จักรกฤษณ์ และอนุเดช ชูศรี ที่ครอบครัวเสียชีวิตจากภูเขาถล่มเมื่อปี พ.ศ.2554  รวมทั้งครอบครัวของบูรฮาน และบุศรินทร์ หร่ายมณี ซึ่งบิดาถูกลอบสังหารจากเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทรงอุปการะจนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี หรือจนกว่าจะมีอาชีพสามรถเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นต้น

08540

พระราชกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าฯ ถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรส จำนวน 21 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลสม่ำเสมอ พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยเพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน อีกทั้ง ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และเมื่อพ.ศ.2537 ทรงรับเป็นประธานกรรมการอำนวยการจัดสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น ทรงมีพระราชปณิธานในการใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน

pp3

พระราชกิจด้านศาสนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกิจทางศาสนาเป็นประจำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และการถวายกฐินหลวงตามวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยมิขาดตกบกพร่อง

06872

พระราชกิจด้านการเกษตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรอันเป็นอาชีพหลักของปวงชนชาวไทยตลอดมา เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นประจำ และเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2528 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทำปุ๋ยหมักเป็นปฐมฤกษ์จากผักตบชวาและพืชอื่นๆ ณ บ้านแหลมสะแก ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิต การทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2529  ได้ทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง เมื่อพระราชทานอุปกรณ์การทำนา พันธุ์ข้าวปลูก และปุ๋ยหมักให้ข้าราชการผู้ใหญ่ไปดำเนินการสาธิตแล้ว ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธุ์ข้าวปลูกและปุ๋ยหมัก ในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีหมายกำหนดการไว้ก่อนเป็นการล่วงหน้า

โครงการเกษตรวิชญา จังหวัดเชียงใหม่ โครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงเห็นความสำคัญของการเกษตรในประเทศไทย โดยได้รับความสนับสนุนด้านข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (สำนักงาน กปร.) เพื่อเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  และด้วยตระหนักในความสำคัญของการเกษตร โครงการเกษตรวิชญา จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ ทรงมอบที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่บ้านกองแหะ หมู่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ทั้งหมด จำนวน 1,350  ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้ดำเนินการในลักษณะเป็นคลินิกเกษตรเพื่อใช้ในการเผยแพร่ผลงานการวิจัย และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ทางการเกษตรและพัฒนาการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2549 ได้พระราชทานชื่อใหม่ให้โครงการฯ จากชื่อเดิมคือ โครงการพัฒนาพื้นที่สวนบ้านกองแหะ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการเกษตรวิชญา โครงการตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จังหวัดเชียงใหม่

t0006_0002_012

พระราชกิจด้านสังคมสงเคราะห์  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาห่วงใยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาสและขาดแคลน ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯหลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดเขตพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา เป็นต้น ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง โปรดเกล้าฯให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ร่วมกับประชาชน ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย เพื่อให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้นเติบโตเป็นพลเมืองดีและเป็นทรัพยากรบุคคลทีมีคุณค่าในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

img7

พระราชกิจด้านการต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญๆ ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เสมอมา ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศอิตาลี และทรงพบพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2525

ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ.2530 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ทรงพบนายเติ้ง เสี่ยวผิง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่งและ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนประเทศญี่ปุ่น  และได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินี

เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2530  ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง มีอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศอิหร่าน ประเทศเนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมศรีลังกา สหพันธ์เอกวาดอร์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) ประเทศออสเตรเลีย และเมื่อวันที่ 2-4 กรกฏคม พ.ศ.2542 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ไปทรงเยือนประเทศสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกครั้ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต้องทรงเตรียมพระองค์ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศที่จะเสด็จไปทรงเยือน และระหว่างประทับอยู่ในประเทศนั้นๆ นอกจากทรงมุ่งมั่นที่จะทรงเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจกรรมต่างๆ ที่จะทรงนำมาเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาบ้านเมืองไทยด้วย เช่น เสด็จไปทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร การจราจรทางอากาศ เมื่อทรงเยือนประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ทอดพระเนตรสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อทรงเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมศรีลังกา ทอดพระเนตรการดำเนินงานด้านการป้องกันสาธารณภัยที่ประเทศเกาหลี เป็นต้น

นี่คือส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อชาวไทยตลอดมา

แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์
ภาพประกอบ : หนังสือ “๗๐ สัมพัจฉร์ฉลองรัชธรรมราชา” กวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2559 โดยกรมศิลปากร, มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช, มติชนออนไลน์, แนวหน้า


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …