เพิ่งทราบซึ้งถึงประโยคหนึ่งในเพลง ‘ของขวัญจากก้อนดิน’ ซึ่งเราทุกคนล้วนเคยได้ยินได้ฟังมานับครั้งไม่ถ้วนที่ว่า “… รวมผู้คนมากมายให้ทรงพลังแข็งแรง รวมเม็ดดินทุกเม็ดให้เป็นหนึ่งเดียว …” บทเพลงจากปลายปากกาของ พี่ดี้ – นิติพงษ์ ห่อนาค ขับร้องโดยพี่เบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย์ เมื่อได้มองไปที่บอร์ดขนาดใหญ่ซึ่งประดับแวววาวไปด้วยเหรียญสตางค์เรือนพันเรือนหมื่นเหรียญสร้างเป็นงานศิลปะอุทิศรำลึกถึงพ่อหลวงจากลูกๆ ที่รักและยังอาลัยของพ่อ ธ สถิตในดวงใจ นิรันดร์กาล | ตามรอยพ่อ คือชื่อของงานนิทรรศการดังกล่าวซึ่งถูกจัดขึ้นโดยศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ของโคราช เดอะมอลล์ นครราชสีมา ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 เมื่อวันที่ 22 ต.ค. – 9 พ.ย. 2559 อันมีแกนนำดำริจัดงานคือ คุณปรีชา ลิ้มอั่ว ผู้จัดการทั่วไปแห่งเดอะมอลล์ นครราชสีมา KS : ความรู้สึกแรกเมื่อได้ทราบข่าว ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต’ “ผมคิดว่าในเวลานั้นทุกคนมีความรู้สึกเดียวกันคือเสียใจ ในสองสามวันแรกผมคิดว่าทุกคนคงจะขาดสติไปบ้างในแง่ของการที่ไม่สามารถทำใจได้ เพราะว่าเกิดมาเราก็เห็นพ่อหลวง อยู่มาวันหนึ่งพ่อหลวงที่เรารักและเห็นมาโดยตลอดจากไป นั่นย่อมยากที่จะทำใจ แต่ก็นั่นล่ะครับ ผมเชื่อว่าสิ่งที่พ่อหลวงต้องการจะเห็นจากพวกเราคือความเข้มแข็ง อยู่ได้ เพราะพ่อวางรากฐานและสอนสั่งเรามาด้วยความรักอย่างดียิ่ง ถามว่าผมเองเสียใจไหม ผมเสียใจมาก แต่ผมมองว่าผมต้องเปลี่ยนความเสียใจเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน และประโยชน์นี้จะต้องทำให้เสด็จพ่อมีความสุข” KS : นั่นคือจุดเริ่มต้นในการจัดอีเว้นท์ ‘ธ สถิตในดวงใจ นิรันดร์กาล’ ใช่ไหมครับ “ใช่ครับ เพราะในฐานะที่ผมเองก็เป็นลูกของพ่อคนหนึ่ง ผมย่อมเข้าใจความรู้สึกของลูกคนอื่นๆ ถึงความรู้สึกเสียใจอาดูรกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนี้ และในฐานะที่ผมเป็นผู้จัดการ ผมเข้าใจว่าประชาชนทุกคนต้องการพื้นที่แสดงออกซึ่งความรักความกตัญญูต่อพระองค์ท่าน ผมและเดอะมอลล์ กรุ๊ปจึงจัดอีเว้นท์เพื่อถวายอาลัยแด่พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมแปะเหรียญสตางค์เป็นภาพศิลปะที่สื่อถึงพระองค์ท่าน เพราะผมมองว่า ‘ของที่เราเห็นจนชินตามักไม่ค่อยเห็นค่าเท่าไรนัก’ อย่างเหรียญสลึงที่อาจดูไม่มีราคามากนัก แต่คุณค่ากลับมากมายเพราะในหลวง นี่คือเหรียญของในหลวง นอกจากกุศโลบายตามเนื้อเพลงที่ว่า ‘รวมเม็ดดินทุกเม็ดให้เป็นหนึ่งเดียว’ แล้ว ผมยังอยากให้เราได้ระลึกถึงพระองค์ท่าน เพราะเวลาที่คุณหยิบเหรียญขึ้นมา คุณหันด้านที่มีพระพักตร์ของพระองค์ท่านมาที่ตาของคุณเพื่อเพ่งก่อนติดลง ในบอร์ดประมาณ 3 วินาทีนั้น ถ้าคุณระลึกถึงพระองค์ท่าน ‘ผมรักพ่อครับ’ ‘ฉันจะเดินตามรอยเท้าพ่อ’ นั่นจะเป็นวินาทีที่มีค่าที่สุดในชีวิตของคุณ” KS : เพราะอะไรจึงต้องใช้ชื่องานว่า ‘ตามรอยพ่อ’ “ชื่องาน ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์กาล| ตามรอยพ่อ’ ชื่อก็มีความหมายอยู่แล้วนะครับว่าการจัดงานนี้ก็เพื่ออาลัยพระองค์ท่าน พร้อมกันนี้ก็อยากให้ลูกๆ ทุกคนได้ตามรอยพ่อด้วย แต่ก่อนที่จะตามรอยเท้าพ่อ เราต้องรู้ก่อนว่าพ่อของเราเดินไปทางไหนบ้าง โดยอีกหนึ่งรอยเท้าของพ่อที่เราได้ข้อมูลมาก็คือ เรามีโอกาสได้เห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระองค์ท่านเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนโคราชเมื่อปี พ.ศ. 2498 ซึ่งเราประทับใจมาก การเดินทางสมัยนั้นไม่ได้สะดวกสบายอย่างในปัจจุบันพระองค์เสด็จฯโดยรถไฟ ออกจากสถานีที่พระตำหนักจิตรลดาฯ มาถึงสถานีรถไฟที่โคราช ซึ่งในสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นการเดินทางที่สะดวกที่สุด เมื่อผมเห็นภาพนั้นก็ให้ตื้นตันใจยิ่ง เมื่อคิดได้ว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยเห็น ผมก็เลยเกิดแรงบันดาลใจว่า คนยุคนี้จะต้องเห็น 61 ปีที่แล้วที่พ่อหลวงแม่หลวงเคยเสด็จฯมา ก็เลยไปสืบค้นว่าจะไปหาภาพจากที่ไหนอย่างไรบ้าง ก็ได้ภาพมาด้วยความสมบูรณ์ นั่นคือโซนแรก ส่วนโซนที่สองคือ เราทราบว่าเด็กโคราชมีทักษะด้านการวาดภาพมาก โดยเฉพาะที่โรงเรียนเสิงสาง เคยวาดภาพในหลวงมาแล้วมากมาย ผมก็เลยติดต่อขอภาพจำนวน 89 ภาพตามพระชนมายุของพระองค์ท่าน ก็ได้รับความอนุเคราะห์ให้มาจัดแสดงด้วยกัน” “โซนที่สามก็เป็นสิ่งที่เราต้องนึกถึงคือ พระองค์ท่านทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายและพระราชหฤทัยมากมายเพื่อราษฎร หลายคนอาจไม่ทราบว่าที่โคราชมีโครงการในพระราชดำริมากกว่า 40 โครงการ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มหาศาลต่อชาวบ้าน เราก็นำบางส่วนมาจัดแสดงให้ดู โซนที่สี่คือเรื่องของเดอะมอลล์ นครราชสีมาแห่งนี้เองตลอดระยะเวลา 16 ปีที่เดอะมอลล์มาโคราช เราได้ทำความดีอะไรเพื่อพ่อหลวงและชุมชนไว้บ้าง ตั้งแต่เรื่องของห้องบริจาคโลหิต เรื่องของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติในวาระต่างๆ โครงการเกณฑ์ทหารช่วยชาติ แม้กระทั่งงานอุปสมบท งานวิสาขบูชา และอย่างปีที่ผ่านมาเราได้ทำห้องทศพิธราชธรรม ซึ่งเราได้ทำขึ้นเพื่อถวายในหลวงในขณะที่พระองค์ท่านยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ อย่างนี้เป็นต้นนะครับ เราก็ได้ทำแล้วเอามาแสดงให้ดูว่าเราได้ทำสิ่งใดไปบ้าง ก็จะมีอยู่ 4 องค์หลักๆ ตรงนี้” KS : อีกหนึ่งความฮือฮาและถือเป็นบุญตาแก่ผู้มาเยี่ยมชมงานครั้งนี้คือ ‘พระราชอาสน์’ “ถือเป็นจังหวะที่เรียกได้ว่ามีบุญจัดสรร ท่านผู้ว่าฯ (นายวิเชียร จันทรโณทัย) มาเปิดงาน ท่านก็ได้นึกถึงว่ามีพระราชอาสน์ที่สำคัญที่พระองค์ท่านทรงเสด็จมาประทับนั่งเมื่อปี พ.ศ. 2498 ท่านก็เลยอัญเชิญพระราชอาสน์มาประดิษฐาน ณ บริเวณพิธีที่เราได้จัดนิทรรศการถวายฯ โดยพระราชอาสน์นี้มีประวัติยาวนานและทรงคุณค่าคือ พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ก็เคยเสด็จประทับนั่ง รัชกาลที่ 6 ก็เคยเสด็จประทับนั่ง ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เป็นมงคลชีวิต เป็นบุญตาที่เราได้เห็น ซึ่งเราก็จัดอย่างสมพระเกียรติ อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นบุญจัดสรรครับ” KS : ทราบมาว่างานนี้ครบสมบูรณ์ได้เพราะความช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่ายใช่ไหมครับ “ใช่ครับ ผมว่าเป็นความโชคดี และเป็นความมหัศจรรย์ของความดีงาม อย่างที่บอกว่างานนี้ไม่มีการวางแผนมาก่อน แต่เราอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อถวายแด่พ่อหลวงของเรา เดิมทีไม่ได้ใส่อะไรเข้าไปเลย มันก็จะแห้งๆ เงียบๆ เรื่องของการแสดงดนตรีก็จะมีเพียงสยามยามาฮ่าที่ผมได้ไปเชิญมาเล่นเปียโนทุกวันๆ ละ 2 รอบ และก็มีการแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์ แต่ด้วยกระแสแบบปากต่อปากก็มีหลายคนหลายคณะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือร่วมมือกัน มีการแสดงของนักกีตาร์คลาสสิก 189 คน มาจากหลายจังหวัด ได้เดินทางมาเล่นกีตาร์ 5 เพลงถวายพระองค์ท่าน เขาบอกว่ามากที่สุดเท่าที่ปรากฏขึ้นในประเทศไทย การรวมตัวที่ว่าทุกคนไม่ได้มีใครรับค่าจ้างเพื่อมาเล่นเพลง แต่มาเล่นเพื่อตั้งใจจะเล่นถวายพระองค์ท่านหรือแม้กระทั่งนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มาเล่นไวโอลิน 5 คน มาจากกรุงเทพฯ หรือจะมีมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ มาแสดงบทเพลงประกอบจินตลีลา มีนักดนตรีสมัครเล่น มีอีกหลายคนที่มาแสดง เรียกว่าเกือบทุกๆ วัน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะมาแสดงออกเพื่อถวายความจงรักภักดี ผมมองว่าน่าชื่นใจแทนพระองค์ท่านนะครับ” KS : ผลตอบรับที่ดีเกินคาด “ต้องยอมรับว่ากระแสดีเกินคาดมากครับ เพราะว่าคนที่มาชมงานมาด้วยใจจริงๆ เห็นการมีส่วนร่วม มาสักการะ มาลงนามถวายความอาลัย แล้วเขาบอกต่อ จนกระทั่งไปอยู่ในสังคมโซเชียล ภาพต่อภาพ แชร์ต่อแชร์ แล้วเขาบอกต่อ ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องในโคราชนะครับที่มาเยี่ยมชมงาน แต่ยังมีพี่น้องจากกรุงเทพฯบ้าง ชลบุรีบ้าง ขอนแก่น อุบลฯ พี่น้องจากภาคกลาง ภาคตะวันออก ที่ขับรถมาที่โคราชมาประดับเหรียญ ผมคิดว่าจำนวนคนที่มากะคร่าวๆ ประมาณ 4-5 หมื่นคนในสิบเก้าวันนี้ถือว่าเกินกว่าการคาดเดา” KS : อย่างที่ทราบว่างานที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย คุณปรีชาอยากขอบคุณใครเป็นพิเศษไหมครับ “คนแรกที่อยากจะขอบคุณก็คือมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ที่ได้ให้ไฟล์ภาพในหลวงที่พระองค์ท่านได้เสด็จมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ขอบคุณโรงเรียนเสิงสางที่ได้มอบภาพมาร่วมโชว์ในนิทรรศการครั้งนี้ มาสกรีนภาพให้ฟรี และขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านวิเชียร จันทรโณทัย ที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานและได้อัญเชิญพระราชอาสน์มาให้พวกเราได้เห็นเป็นบุญตา ขอบคุณทางหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ได้มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรมจังหวัดฯ ไม่ว่าจะเป็น อบจ. ท่านนายก อบต.หนองไผ่ล้อม ขอบคุณทีมงานยามาฮ่าที่ได้มาช่วยกันสร้างเสียงเพลงให้เราได้รับฟัง ขอบคุณ อ.สันติ ที่แนะนำคนที่รักกีตาร์มาจากหลายชุมชนที่อาจจะจำได้ไม่หมดว่ามาจากไหนกันบ้าง แต่รู้ว่ามี 189 ชีวิต ขอบคุณคอนดักเตอร์อีก 3-4 ท่านที่มาจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอาจารย์จากจุฬาฯ นะครับ ขอบคุณทีมงานเดอะมอลล์ที่มาช่วยกันทำบอร์ดแค่วันเดียว ดีไซน์กันแค่วันเดียว ทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ ที่สุดของที่สุดคือต้องขอบคุณเดอะมอลล์ กรุ๊ป สถานที่ตรงนี้เป็นสถานที่ค้าขายก็ได้ยอดขายทุกวัน ผมขอไป 19 วัน ก็ได้มาทั้ง 19 วัน ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 6 แสนบาทในการจัดงานทั้งหมด ทำกรอบรูปใหม่ทั้งหมด ที่ตั้งบอร์ดใหม่ทั้งหมด เพราะว่าทุกอย่างไม่มีอะไรทำสำรองไว้เลย ทำทุกอย่างใหม่หมดภายใน 4 วัน นี่คือแรงกายแรงใจของน้องๆ ทีมงานเดอะมอลล์ แล้วก็ขอบคุณที่เขาให้งบมาจัดตรงที่แห่งนี้ ที่ต้องขอบคุณที่สุดก็คือสื่อมวลชนซึ่งได้ช่วยกันขยายผลของข่าวสารต่างๆ สำคัญอย่างยิ่งคือผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณต่าย เอ็กเซ็กคิวทีฟ (ผู้ก่อตั้ง ผู้บริหาร และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เอ็กเซ็กคิวทีฟ) ที่ส่งภาพให้ผมดูแล้วผมก็เอาภาพมาต่อยอด อันนี้ก็ต้องให้เครดิต สุดท้ายคือพี่น้องร่วมพ่อหลวงเดียวกัน ได้เห็นทุกคนที่มาติดเหรียญ เห็นทุกคนที่มาถวายความอาลัย เห็นทุกคนที่มากราบไหว้ มีแววตาของคนที่มีความสุข จงรักภักดี แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ที่มานั่งติดเหรียญ คืออาจจะไม่ทราบข่าวสาร แต่ใจเขาอยู่กับเหรียญ ใจเขาอยู่กับการติดเหรียญ ผมคิดว่าคนเหล่านี้มีจิตใจที่งดงามมาก ต้องขอบคุณลูกของพ่อทุกคน” KS : จากผลตอบรับที่ดีมากๆ ได้ก่อกำเนิดอีกหนึ่งอีเว้นท์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ‘ธ สถิตในดวงใจ ไทยทุกคน | รูปในดวงใจที่มีทุกบ้าน’ “เราเคยจัดงานวันพ่อทุกปี ผมคิดถึงพ่อทุกวัน ปีนี้เราจะจัดวันพ่ออย่างไรยังไม่ทราบ แต่ผมก็คิดว่าเราจะจัดงานรำลึกถึงพระองค์ท่านอีกครั้งหนึ่ง โดยผมได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลงของคุณเบิร์ด ธงไชย ‘รูปที่มีทุกบ้าน’ ก็ถือว่าเป็นอีกเพลงที่ลูกๆ ทุกคนคุ้นหูที่สุด อีเว้นท์ครั้งแรกเราจัดให้ลูกทุกคนมาชม แต่อีเว้นท์ครั้งนี้ผมอยากให้ลูกๆ ทุกคนมาร่วมมือร่วมใจกันจัดให้พ่อดู เป็นนิทรรศการของลูกทุกคนเพื่อพ่อของเรา ทุกคนเป็นผู้จัดงาน ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน ทุกคนมีรูปของพ่อที่อยู่ในบ้าน มีรูปในหลวง 2 รูป 3 รูป มีรูปไหนที่ประทับใจ ใส่กรอบส่งมา แล้วเขียนว่าประทับใจรูปนั้นอย่างไร เราจะเอาภาพทุกภาพมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ส่วนบางคนที่อาจไม่มีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านก็อาจจะมาเป็นรูปปั้นรูปประติมากรรม ก็เอามาโชว์ บางคนก็อาจจะมีแค่ชิ้นหนึ่งที่เป็นลูกเสือชาวบ้านสมัยก่อน นั่นก็คือผ้าพันคอที่เก็บไว้ 50 ปีแล้ว ก็เอามาโชว์นะครับ นี่คือการรำลึกถึงพระองค์ท่าน เราจะนำทุกชิ้นมาจัดแสดงร่วมกัน” “นอกจากนี้ ผมจะถ่ายรูปทุกรูปที่ส่งมา แล้วเอามาทำเป็นจิกซอว์ต่อเป็นภาพพ่อหลวง เอาข้อเขียนบรรยายทั้งหมดที่แต่ละคนส่งมามาเรียบเรียงตัดต่อทำเป็นเนื้อหา เป็นเพลง โอกาสนี้ผมได้เชิญบริษัทไปรษณีย์ไทยออกแบบจัดนิทรรศการแสตมป์ดวงแรกที่มีภาพในหลวงจนถึงดวงสุดท้าย โดยงานนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 3-11 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ทั้งหมดเก้าวัน มีดนตรี มีการขับร้องเพลง การประสานเสียงของแต่ละสถาบัน” KS : สุดท้ายนี้ อยากฝากอะไรถึงลูกคนอื่นๆ ของพ่อหลวงบ้างครับ “ผมอยากจะกราบเรียนว่า เราผ่านความรู้สึกที่เรามีเหมือนกันทั้งประเทศ นั่นคือความเศร้าอาดูร มีหลายคนที่ได้พูดถึงประโยคดีๆ ผมก็จำจากประโยคที่เขาพูดถึงมา ‘เราเปลี่ยนผ่านความเศร้าอาดูรมาเป็นการปฏิบัติที่ดีต่อพ่อ’ เมื่อพ่อได้รับรู้ว่าเราได้ผ่านความเศร้ามาแล้ว มาเป็นสิ่งที่เป็นการปฏิบัติ ที่ทำให้พระองค์ท่านได้สบายพระราชหฤทัย ก็คือการทำความดีนะครับ พ่อสอนเรามากมาย เราก็จำได้ไม่หมด แต่สิ่งสำคัญที่พ่อสอนก็คือว่า ให้เราเป็นคนดี สามารถพึ่งตัวเองได้ และสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ช่วยเหลือส่วนรวมได้ และทำให้ทุกคนได้อยู่อย่างมีความสุขในบ้านหลังนี้ เพราะฉะนั้นการทำมาหากินในอาชีพของแต่ละคน และการแบ่งปันอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้เราไม่เคยเห็นมาก่อนนะ มอเตอร์ไซค์ก็บอกว่าฉันให้ขึ้นฟรี ถ้าไปสถานที่ตรงนั้น แท็กซี่ให้ขึ้นฟรี แม้กระทั่งทุกอย่างก็ฟรีหมด จริงๆ มันไม่ได้ฟรี แต่นั่นคือการเทใจมาแสดงออกว่า เป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งที่เราแสดงออก ทุกอย่างมีต้นทุนแต่ทุกคนพร้อมที่จะให้ ซึ่งสังคมนี้ผมเกิดมาจะ 60 ปีแล้วก็ไม่เคยเห็นนะที่ทุกคนมารวมใจแบบนี้ มาทำเสื้อฟรี มีโรงเจ โรงทาน ทั้งประเทศ ไม่น่าเชื่อว่าแม้กระทั่งมอเตอร์ไซค์ยังติดหลังเสื้อว่า คันนี้ฟรีไม่คิดตังค์ ผมคิดว่าจะดีไหมถ้าเรามาช่วยกันทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อสังคมและต่อส่วนรวม เดินตามรอยเท้าพ่อ เท่านี้ผมคิดว่าพ่อคงสบายใจ และก็อย่าลืมนะครับว่า พ่อไม่ได้จากเราไปไหน พ่ออยู่กับเราที่นี่ อยู่ในใจเราทุกคน เราหยิบแบงค์ขึ้นมาใช้ในทุกๆ วัน เราก้มกราบสักนิดนึง รักพ่อครับ แค่นี้ผมก็คิดว่า พ่อพอใจแล้ว”
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market