ที่มา : คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันที่ 1 มีนาคม 2561

พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด ผู้ยกไพร่พลชิงได้เมืองสุโขทัยคืนจากการยึดครองของขอมละโว้ แต่ไม่ขึ้นครองเมืองสุโขทัย พ่อขุนผาเมืองกลับยกให้พ่อขุนบางกลางหาว (เจ้าเมืองบางยาง) ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิด

เมืองราดของพ่อขุนผาเมืองอยู่ที่ไหน? เป็นคำถามสำคัญที่บรรดานักปราชญ์และนักวิชาการในไทยสืบค้นแล้วทักท้วงถกเถียงกว้างขวางยาวนานหลายสิบปีมาแล้ว แต่ยังไม่ยุติ และถึงทุกวันนี้ยังไม่พบเมืองราด

อ.ศรีศักร วัลลิโภดม บอกไว้ล่าสุดในหนังสือสร้างบ้านแปงเมือง (พ.ศ.2560) ว่า เมืองราดของพ่อขุนผาเมืองอยู่เมืองโคราชเก่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

ประเด็นนี้ อ.มานิต วัลลิโภดม เคยชี้แนะไว้ (ตั้งแต่ พ.ศ.2502) และจิตร ภูมิศักดิ์ เห็นด้วยจึงเขียนสนับสนุน (ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2507) แต่นักวิชาการกระแสหลักไม่ให้ความสำคัญ

ก่อนหน้านี้นานแล้วมีนักปราชญ์ นักค้นคว้า นักวิชาการ เสนอว่าเมืองราดอยู่ในพื้นที่หลายแห่ง แต่ยังไม่เป็นที่ยุติต้องกัน เช่น เมืองเพชรบูรณ์ (จ.เพชรบูรณ์), เมืองนครไทย (จ.พิษณุโลก), เมืองทุ่งยั้ง (จ.อุตรดิตถ์) ฯลฯ

ความเห็นเรื่องเมืองราดอยู่ที่ไหน? ยังไม่ลงตัวเห็นพ้องต้องกัน น่าจะมีเหตุจากยึดติดกรอบความคิดประวัติศาสตร์แห่งชาติ ว่ามีชนชาติไทยเชื้อชาติไทยอพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนจากนอกประเทศไทย สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย บริเวณลุ่มน้ำยม-น่าน ดังนั้น พ่อขุนผาเมืองต้องเป็นชนชาติไทย เชื้อชาติไทย และต้องครองเมืองอยู่ทางลุ่มน้ำยม-น่าน พ้นจากบริเวณนี้ไม่ไทย

ประวัติศาสตร์ไทย ไม่เหมือนเดิม

ไม่จำเป็นต้องยุติว่าเมืองราดของพ่อขุนผาเมืองอยู่เมืองโคราชเก่า จ.นครราชสีมา แต่จำเป็นอย่างยิ่งต้อง “แตกกรอบ” ประวัติศาสตร์รัฐสุโขทัย แล้วร่วมกันทำความเข้าใจใหม่ ประวัติศาสตร์ไทยไม่เหมือนเดิม

นครราชสีมา (บริเวณต้นลุ่มน้ำมูล) อยู่นอกแดนรัฐสุโขทัย โดยเป็นพื้นที่ของบ้านเมืองเรียกรัฐพิมายกับรัฐศรีจนาศะ (เมืองเสมา อ.สูงเนิน) ซึ่งมีความเป็นมาอย่างน้อยตั้งแต่เรือน พ.ศ.1000 นานมากก่อนมีรัฐสุโขทัย ราว 700 ปี

รัฐสุโขทัย เป็นรัฐหนึ่งไม่ใหญ่โตกว้างขวางอย่างพิสดาร (ตามที่อ้างไว้ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ) สมัยแรกราวเรือน พ.ศ.1700 น่าจะมีพื้นที่ขอบเขตเข้มข้นแค่ 3 เมือง ได้แก่ เมืองสุโขทัย (อ.เมืองฯ จ.สุโขทัย), เมืองศรีสัชนาลัย (อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย), และเมืองพิษณุโลก (อ.เมืองฯ จ.พิษณุโลก)

ปลายแดนรัฐสุโขทัยมีอำนาจเบาบาง เหนือสุดที่อุตรดิตถ์ ใต้สุดที่นครสวรรค์ ตะวันออกที่เพชรบูรณ์ ดังนั้นรัฐสุโขทัยไม่มีอำนาจการเมืองเหนือบ้านเมืองบนพื้นที่ลุ่มน้ำมูล (นครราชสีมา และใกล้เคียง)

เมืองราด (ที่เมืองโคราชเก่า) ประชากรตกทอดจากชาวเมืองเสมา (ศรีจนาศะ) อาจมีทั้งพูดมอญ-เขมร และอื่นๆ แต่ตอนหลังพูดไต-ไท กระทั่งกลายตนเป็นไทย แล้วร่วมสร้างเมืองนครราชสีมา ยุคต้นอยุธยา

พ่อขุนผาเมือง เป็นใคร? มาจากไหน?

ประวัติย่อของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (เมืองโคราชเก่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) มีดังนี้

  1. โอรสพ่อขุนศรีนาวนำถุม (ผู้สถาปนากรุงสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย) เชื้อสายกษัตริย์เมืองละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นขอม
  2. วงศ์วานว่านเครือกษัตริย์กัมพูชา เพราะได้รับสิ่งของสำคัญจากกษัตริย์เมืองนครธม (ศรียโสธรปุระ) ได้แก่ (1.) พระแสงขรรค์ชัยศรี (2.) พระนาม ศรีอินทรบดินทราทิตย์ (3.) ตำแหน่ง กมรเตงอัญผาเมือง (4.) ลูกสาวชื่อ สุขรเทวี
  3. ผู้ยึดเมืองสุโขทัย จากการยึดครองของ “ขอมสบาดโขลญลำพง” แต่ไม่ครองเมืองด้วยตนเอง โดยยกให้พ่อขุนบางกลางหาว (เจ้าเมืองบางยาง เป็นเครือญาติกัน) พร้อมยกพระนาม (ที่รับจากกษัตริย์กัมพูชา) ให้ด้วยว่า “ศรีอินทราทิตย์”
  4. ลุงของมหาเถรศรีศรัทธา ผู้เล่าเรื่องทั้งหมดนี้ แล้วบันทึกเป็นศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) ทำให้มีประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยในประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบัน
ลำตะคองไหลผ่านเมืองโคราชเก่า บ้านเมืองเก่า ต.โคราช อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง อยู่เมืองโคราชเก่า
โดย ศรีศักร วัลลิโภดม

พ่อขุนผาเมืองนั้นนอกจากทรงเป็นพระราชบุตรเขยของกษัตริย์ขอมแล้ว ยังได้รับพระราชทานพระยศบรรดาศักดิ์เป็น “กมรเตงอัญศรีบดินทราทิตย์” ที่เป็นเจ้านายขุนนางทหารในระดับขุนพลทีเดียว

บริเวณที่อยู่ในตำแหน่งของเมืองราดนั้น น่าจะเป็นบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนในเขตจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ในพื้นที่ราบสูงโคราช

ในสมัยเมืองพระนครคือแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น บ้านเมืองในลุ่มน้ำมูลตอนบนนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นบ้านเมืองใหญ่ ดังมีหลักฐานให้เห็นจากปราสาทพนมรุ้งและปราสาทหินพิมายอันเป็นศาสนสถานที่สำคัญของบ้านเมืองและรัฐ มีวงศ์กษัตริย์ที่รู้จักกันดีในนาม “ราชวงศ์มหินทรปุระ” ปกครอง

ในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ 17-19 ก็เป็นช่วงเวลาของการเติบโตและการขยายตัวของบ้านเมืองทั้งในพื้นที่ราบลุ่มทะเลสาบ และที่ราบสูงโคราช เพราะเป็นช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจการค้าขายกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของผู้คนในการสร้างบ้านแปงเมือง มีร่องรอยของชุมชนและศาสนสถานที่เกิดใหม่หลายแห่งในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน เมืองราดจึงน่าจะอยู่ในบริเวณนี้

“เมืองโคราช” หรือนครราชสีมาจึงน่าจะพิจารณาได้ว่าเป็นเมืองราด เพราะมีตำนานเมืองที่สะท้อนให้เห็นความเป็นเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเชื่อกันว่าเมืองราดน่าจะมาจากคำว่า “นครราช” ในตำนานเมืองนครราชสีมา

ถ้าหากนำตำแหน่งเมืองนครราชสีมาไปเปรียบเทียบกับเมืองสุโขทัยครั้งพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวร่วมกันตีเมืองสุโขทัยจากขอมสบาดโขลญลำพงแล้ว ก็น่าที่จะเข้าใจได้ว่าเมืองสุโขทัยในช่วงเวลานั้นยังเป็นเมืองไม่ใหญ่โตเท่าใด เพราะอยู่ในที่ห่างไกลบ้านเมืองที่เจริญแล้วในลุ่มทะเลสาบและในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง

เพราะความเป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเจริญกว่าของเมืองราดนี้เอง ที่ทำให้พ่อขุนผาเมืองไม่คิดเอาราชสมบัติเมืองสุโขทัย ทั้งๆ ที่พระองค์และกองทัพเข้าเมืองสุโขทัยได้ก่อนกองทัพของพ่อขุนบางกลางหาว เลยกลายเป็นผู้ทรงอภิเษกให้พ่อขุนบางกลางหาวและให้พระนามและตำแหน่งเกียรติยศของพระองค์แก่พ่อขุนบางกลางหาวในพระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์”

[จากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 หน้า 137-139]
อโรคยศาลา เป็นศาลาไร้โรค สร้างเรือน พ.ศ.1750 บริเวณเมืองโคราชเก่า ปัจจุบันเรียกปราสาทเมืองเก่า บ้านเมืองเก่า ต.โคราช อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

จิตร ภูมิศักดิ์
สนับสนุนเมืองโคราชเก่า คือ เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง

เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง อยู่เมืองโคราชเก่า ต.โคราช อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เป็นข้อสันนิษฐานแรกสุดของ มานิต วัลลิโภดม (อดีตนักปราชญ์สามัญชน ประจำกรมศิลปากร) อยู่ในหนังสือ นำเที่ยวเมืองพิมายฯ กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ.2502

โดยอ้างว่ามีร่องรอยชื่อ คอนราช, นครราช ตรงกับเมืองราด อยู่ในเอกสารเก่า ได้แก่ ตำนานอุรังคธาตุ และพงศาวดารเหนือ

เส้นทางคมนาคมจากเมืองโคราชเก่าไปเมืองสุโขทัยไม่มีอุปสรรค ได้แก่ จากเมืองโคราชเก่า ขึ้นไปทางเมืองเพชรบูรณ์, ผ่านเมืองหล่ม, ผ่านเมืองนครไทย (พิษณุโลก), ผ่านเมืองตรอน (อุตรดิตถ์) ลงแม่น้ำน่านเข้าเมืองสุโขทัย

จิตร ภูมิศักด์ สนับสนุนข้อสันนิษฐานของมานิต วัลลิโภดม จึงเขียนไว้ (ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2509) ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526) ดังนี้

“ว่าด้วยชื่อของเมืองโคราชนั้น, ข้าพเจ้ายืนยันได้แน่ว่า คือ นครราช นั่นเอง. ชาวเขมรในกัมพูชายังคงเรียกเมืองนครราชสีมาตามชื่อเดิมว่า นครราช อยู่จนทุกวันนี้, แต่เขียนเป็นคำเพี้ยนอย่างเขมรว่า องฺครราช เหมือนนครวัด เขียน องฺครวัด (ที่ฝรั่งนำไปเรียกเป็น Angkor Vat). องฺคร หรือที่เขมรออกเสียงเป็น อ็องกอ-อ็องโก นั้น เป็นคำเพี้ยนจากคำ นคร.—-“

“ว่าโดยทางชื่อเมืองแล้ว ข้าพเจ้ายืนยันว่าความสันนิษฐานของ นายมานิต วัลลิ โภดม ว่า โคราช เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก นครราช นั้น ถูกต้องที่สุด.”

จิตร ภูมิศักดิ์ เพิ่มหลักฐาน 2 เรื่อง สนับสนุนแนวคิดของ มานิต วัลลิโภดม ดังนี้

ผู้นำเมืองสุโขทัยสมัยแรก ล้วนคุ้นเคยใกล้ชิดผู้นำของบ้านเมืองต้นลุ่มน้ำมูล มีข้อความบอกไว้ในจารึกวัดศรีชุม (จารึกสุโขทัย หลักที่ 2) เล่าประวัติเจ้านายเมืองสุโขทัยชื่อ มหาเถรศรีศรัทธา ซึ่งเป็นหลานพ่อขุนผาเมือง ดังนี้

  1. ก่อนบวช ท่านศรีศรัทธาวัยฉกรรจ์ขี่ช้างรบกับท้าวอีจาน ซึ่งน่าจะเป็นผู้นำอยู่แถบเชิงเขาพนมดงรัก ปัจจุบันเรียก ดงอีจาน เขตนครราชสีมาต่อกับบุรีรัมย์
  2. หลังบวช ท่านศรีศรัทธาเป็นภิกษุธุดงค์จากเมืองสุโขทัยไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชื่อ รัตนภูมิ ปัจจุบันคือ ปราสาทพนมวัน (อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา)

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …