โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร หรือไฮสปีดไทย-จีน วงเงินลงทุนกว่า 179,000 ล้านบาท โดยในส่วนงานโยธามีค่าก่อสร้าง 122,593 ล้านบาท แบ่งประมูล 14 สัญญา เริ่มดำเนินการแล้ว 1 สัญญา เหลือ 13 สัญญา ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานเปิดจุดการก่อสร้างไฮสปีดเทรนไทย-จีน บริเวณมอหลักหิน พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2560 ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร โดยงานช่วงที่ 1 ตั้งแต่บริเวณสถานีรถไฟกลางดง-สถานีรถไฟปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ขณะที่ นายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยบริษัทของประเทศจีนได้ทำสัญญาเป็นผู้ดำเนินการสร้าง โดยมีนายช่างที่ชำนาญการ และมีคณะกรรมการของประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมดูแล สำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงนี้จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและโครงข่ายคมนาคม One Belt one Road ของรัฐบาลจีน ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 179,000 ล้านบาท มีสถานีทั้งหมด 6 สถานี คือ สถานีกลาง สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา โดยรถไฟจะใช้ความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ การดำเนินการปรับพื้นที่การก่อสร้างย่างเข้าสู่เดือนที่ 6 แล้วมีความคืบหน้าเป็นลำดับ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คมนาคม นำคณะเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งพื้นที่การก่อสร้างมีการปรับพื้นที่ พร้อมนำอุปกรณ์และเครื่องจักรกลหนักครบครัน ในบริเวณการก่อสร้าง “ไพจิตร แสงทอง” นายช่างโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เล่าให้ฟังว่า การก่อสร้างคืบหน้าไปประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากได้ปรับถมพื้นที่เป็นระยะทาง 900 เมตร โดยใช้วัสดุกรุ๊ปเอ บี ถมเกือบตลอดแนวแล้ว ความหนา 210 เซนติเมตร รวมทั้งวัสดุกรุ๊ปบี ปรับพื้นให้หนาประมาณ 40 เซนติเมตร โดยการก่อสร้างได้ขยายแนวเขตออกไปเล็กน้อยเกือบชิดทางรถไฟเดิม และต้องรื้อรางรถไฟออกบางจุด รวมทั้งการปรับเทร่องระบายน้ำควบคู่กันไป ปัจจุบันมีคนงานที่เป็นคนไทย 70-80 คน ซึ่งจะเพิ่มเข้ามาอีก “สำหรับปัญหากับชุมชนอาจจะมีบ้าง โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นละออง จึงประสานไปยังนายสฤษดิ์ ศรีสังข์ กำนันตำบลกลางดง และนายวิโรจน์ ศรีสังข์ นายกเทศมนตรีตำบลสีมามงคล ว่าหากมีปัญหาให้แจ้งให้ทราบ จะรีบไปแก้ไขโดยเร็ว” ไพจิตรแจกแจงความคืบหน้าการก่อสร้าง หากงานช่วงที่ 1 เสร็จ จะเริ่มงานช่วงที่ 2 จากสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตรต่อไป คาดว่าจะเปิดประมูลภายในเดือนมิถุนายน คาดว่าจะใช้วงเงินก่อสร้างช่วงนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาท มีเนื้องาน 3 ส่วน คือสร้างคันทางรถไฟ โครงสร้างทางยกระดับและอาคารซ่อมบำรุง ลองไปฟังความเห็นของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงว่าเป็นอย่างไรบ้าง น.ส.ทยิดา โคมิน อยู่บ้านเลขที่ 153/9 หมู่ 10 บ้านโองกุลี ซึ่งเป็นหมู่บ้านติดเขตทางรถไฟ ใกล้บริเวณพิธีเปิดงานโครงการ บอกว่า บริเวณหมู่บ้านเป็นทางที่จะก่อสร้างเกือกม้า ที่ผ่านมายังไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ชาวบ้านได้รับรู้ เนื่องจากเบื้องต้นตามแบบก่อสร้างการขนานแนวเขตเป็น 40 เมตร แต่ต่อมาทราบว่าจะขยายแนวเขตออกไปเป็น 80 เมตร ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้ที่ทำกินชาวบ้านหายไปหมด ต้องรอดูว่าโครงการก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน ซึ่งถือเป็นสายแรกของประเทศไทยจะราบรื่นแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2564 ได้หรือไม่ แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market