การพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนภายใต้ชื่อ One Belt, One Road หรือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จะส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนมีความใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่จีนมีบทบาทสำคัญในอาเซียนอยู่แล้วทั้งในด้านการค้าการลงทุนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ และเส้นทางสายไหมใหม่นี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับเส้นทางสายไหมในอดีตที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายทศวรรษก่อน ASEAN Economic Community (AEC) หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีประชากรกว่า 600 คน มีศักยภาพในการเติบโตอย่างสูง จะได้ความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก โดยที่ไทยเองจะมีบทบาทสำคัญเพราะตั้งอยู่ในศูนย์กลางของ AEC อีกทั้งรัฐบาลไทยเร่งปฏิรูประเทศในหลายด้าน ทั้งด้านกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งโครงการที่สำคัญต่ออนาคตไทย คือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค เป็นประตูสู่ AEC และเอเชีย แต่ไทยจะเชื่อมโยง EEC กับ One Belt, One Road อย่างไรเพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และยกระดับไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการค้าการลงทุนและการเงินของภูมิภาค ธนาคารกรุงเทพจึงได้จัดงานสารานุกรมความรู้ครั้งที่ 8 ขึ้นในหัวข้อ โอกาสใหม่เพื่อการประสานความร่วมมือในเชิงปฏิบัติระหว่างจีน-ไทย Connecting Asia: New Opportunity for Pragmatic Cooperation Between Thailand and China เพื่อให้ข้อมูลและเปิดมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของความสัมพันธ์ในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และโอกาสในอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศ จีนเดินหน้าพร้อมร่วมมือไทย นายอวู๋จื้อ อวู่ อุปทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยอุปทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นาย อวู๋ จื้อ อวู่ กล่าวปาฐกถาว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งได้รับการลงมติจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 18-24 ตุลาคม 2560 ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่ 2 ได้ประกาศวิสัยทัศน์การพัฒนาที่มีเป้าหมายสร้างโลกที่มีอนาคตร่วมกัน เป็นโลกที่มีความเสมอภาคมีความเท่าเทียม มีความเชื่อมโยงผลประโยชน์ร่วมกัน ผ่านความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนเสรี ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งมีความมุ่งมั่นต่อโครงการ One Belt, One Road หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ยังได้รายงานที่ประชุมถึงความคืบหน้าของโครงการซึ่งมี Belt Road Initiative เป็นกรอบการทำงานว่า ในรอบ 2 ปีของการดำเนินงานระหว่างปี 2014-2016 ได้มีการลงทุนไปแล้ว 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีผู้ประกอบการชาวจีนที่ลงทุนจำนวน 20 ราย ในเขตเศรษฐกิจกว่า 50 เขต ขณะที่ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (The Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ได้ลงทุนไปแล้วใน 21 โครงการ มูลค่า 3,490 ล้านดอลลาร์ในหลายประเทศ สร้างความเชื่อมโยงกับจีน Belt Road Initiative ยังได้รับการบรรจุไว้ในธรรมนูญของพรรคหลังผ่านมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ด้วย ไทยซึ่งมีทำเลที่ตั้งบนเส้นทาง One Belt, One Road จะได้รับประโยชน์ เพราะโครงการนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และการเงิน นาย อวู๋ จื้อ อวู่ กล่าวว่า จีนพร้อมร่วมมือกับไทยใน 4 ด้าน คือ 1. ความร่วมมือทางนโยบายระดับสูงภาครัฐ 2. ประสานงานกับนโยบายมหภาคทั้งการค้าและการลงทุน 3. เพิ่มจุดพัฒนาไทย-จีน พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่มาลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในโครงการสาธารณูปโภคกับด้านไอที 4. มุ่งสนับสนุนความสัมพันธ์ระดับประชาชน ผ่านหลายช่องทาง เช่น การท่องเที่ยว การศึกษา ที่ตั้งไทยทับเส้นทางสายไหม ดร. ถังฉีฟาง Associate Research Fellow, China Institute of International Studies ดร.ถัง ฉีฟาง นักวิจัยความร่วมมือจีน-อาเซียน (Associate Research Fellow) จากสถาบันวิจัยความรู้แห่งประเทศจีน (China Institute of International Studies) ซึ่งเป็นคลังความรู้ของจีน สังกัดกระทรวงต่างประเทศของจีน ให้ข้อมูลว่า ไทยเป็นประเทศเป้าหมายในการทำวิจัยความร่วมมือจีนกับอาเซียน ภายใต้ One Belt, One Road ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ที่มีเนื้อหาเยอะ มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ดร.ถัง ฉีฟาง ซึ่งบรรยายในหัวข้อ One Belt, One Road and Eastern Economic Corridor: a Strategic Perspective กล่าวว่า One Belt, One Road ริเริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อนจากแนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในด้านนโยบายภาครัฐ ด้านคมนาคม การค้า One Belt, One Road หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เป็นเส้นทางสายไหมใหม่ที่ฟื้นเส้นทางสายไหมเดิมที่เชื่อมจีนกับเอเชียกลางไปสู่ยุโรป เป็นการเชื่อมโยงทางบกแบ่งออกเป็น 3 แถบ ได้แก่ 1. จากจีน ไปสู่เอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป 2. จากจีน เข้าเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก เพื่อไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 3. จากจีนเข้าเอเชียอาคเนย์ เอเชียใต้ ออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ทั้งนี้ไทยอยู่บนแถบใต้ ดังนั้น หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ลงมาด้านใต้จึงมีจุดเชื่อมต่อที่ไทย นอกจากนี้ ยังมีการฟื้นเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นการพัฒนาต่อจากเส้นทางเดิมหลายร้อยปีก่อน โดยออกจากทางตะวันออกของจีน ลงทางทะเลจีนใต้ สู่มหาสมุทรอินเดีย ไปยุโรป ประเทศที่อยู่บนเส้นทาง One Belt and One Road Initiative มีจำนวน 65 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศกับมองโกเลียอีก 1 รวม 11 ประเทศ เอเชียตะวันตก 18 ประเทศ เอเชียใต้ 8 ประเทศ เอเชียกลาง 5 ประเทศ โซเวียต 7 ประเทศ ตะวันออกกลาง 10 ประเทศ และอีก 6 ประเทศแอฟริกา เมื่อรวมกับจีนผู้ริเริ่มมีทั้งหมด 66 ประเทศ One Belt, One Road มีความเชื่อมโยงกับโลก 5 ด้าน ได้แก่ 1. เชื่อมโยงนโยบาย 2. สาธารณูปโภค 3. การค้า 4. การเงิน และ 5. ประชาชน โดย ดร.ถัง ฉีฟาง ขยายความว่า ในด้านแรก แต่ละประเทศมียุทธศาสตร์การพัฒนาของตัวเอง จีนจึงมีนโยบายที่สร้างความเชื่อมโยงในระดับนโยบายของรัฐ ด้านที่สอง เน้นไปที่ความเชื่อมโยง (Connectivity) ของโครงสร้างสาธารณูปโภค เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รวมไปถึงความเชื่อมโยงในทุกช่องทางทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ด้านที่สาม ความเชื่อมโยงด้านไอทีและโลจิสติกส์ ด้านที่สี่ ความเชื่อมโยงทางการค้าซึ่งจีนได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ เช่น กลุ่มอาเซียน รวมไปถึงข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี และด้านที่ห้า ความเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่คนจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ซึ่งจะทำให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เป็นรากฐานสำคัญของความเชื่อมโยงใน 5 ด้าน ดร.ถัง ฉีฟาง ย้ำว่า หลักการของ One Belt, One Road มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1. ร่วมกันหารือ 2. สร้างสรรค์ และ 3. แบ่งปัน ไม่ใช่จีนฝ่ายเดียวที่ขับเคลื่อน แต่เป็นความร่วมมือของทุกประเทศที่ต้องร่วมกัน เพื่อทำให้โครงการเป็นผลทางรูปธรรม ร่วมกันสร้าง ร่วมกันลงทุนลงแรง และแบ่งปันผลสำเร็จในการทำงานร่วมกัน ดร.ถัง ฉีฟาง กล่าวถึง One Belt, One Road กับ อาเซียนว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดยุทธศาสตร์ของโครงการด้วยเหตุด้านทำเลที่ตั้ง จึงมีความสำคัญกับยุทธศาสตร์ใน 4 ด้านด้วยกัน คือ หนึ่ง เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเลทางใต้ เพราะเป็นเส้นที่ต้องผ่าน สอง เป็นพื้นที่ที่จีนตั้งเป้าหมายเชื่อมโยง 6 เส้นทางหลัก ซึ่งมี 2 เส้นทางที่ผ่านไทย เชื่อมโยงกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (Mekong Sub-region) และขึ้นไปทางบังกลาเทศ สาม มีพื้นฐานความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือที่ดี และ สี่ แต่ละประเทศมีนโยบายที่ใกล้เคียงกับ One Belt, One Road จึงมีความเชื่อมโยงกันโดยพื้นฐานและจีนพร้อมที่จะหารือร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ One Belt, One Road สำหรับความเชื่อมโยงของ One Belt, One Road กับไทยมี 5 ด้านเช่นกัน คือ หนึ่ง นโยบายระดับรัฐ สอง นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง สาม การค้า ที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้เศรษฐกิจโลกผันผวนแต่การค้าระหว่างไทยจีนมีการเติบโตต่อเนื่อง สี่ ด้านการเงิน มีการจัดสรร จัดหาเงินทุนระหว่างประเทศ ให้บริการการเงินข้ามประเทศ เช่น ธนาคารกรุงเทพที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน มีการให้บริการเงินหยวน และ ห้า ประชาชนคนจีนและไทยเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน มีความสัมพันธ์กันในระดับประชาชน ไทยแลนด์ 4.0 -Made in China 2025 จุดร่วมทางยุทธศาสตร์ เมื่อทาบ One Belt, One Road ลงบนยุทธศาสตร์ EEC ของไทย พบว่า มีประเด็นที่สามารถร่วมมือกันได้อย่างลงตัว โดย EEC ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ 132.66 ตารางกิโลเมตร ประชาชนในพื้นที่ 2.88 ล้านคน EEC มีจุดเด่นหลายข้อ ข้อแรก สนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ สอง มีการปรับผังเมือง เพื่อเชื่อมโยงทางด้านภูมิศาสตร์ให้มีการพัฒนาที่สมดุล เพราะปัจจุบันภาคตะวันออกเป็นพื้นที่มีการพัฒนาที่ดีที่สุดในไทย EEC เป็นแพลตฟอร์มการปฏิรูปเศรษฐกิจของไทยและเป็นพื้นฐานของการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 EEC กับ One Belt, One Road สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งในระดับนโยบายและระดับอุตสาหกรรม โดยในด้านนโยบายนั้น เมื่อเทียบเคียงสาระของนโยบายแล้ว พบว่า Thailand 4.0 ของไทยมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับนโยบาย Made in China 2025 ที่มีเป้าหมายตรงกันคือปรับเปลี่ยนจากการลงทุนที่ใช้แรงงานเป็นหลักไปสู่การส่งเสริมการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของไทยก็ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ด้วย ดังนั้นจึงเป็นจุดร่วมทางยุทธศาสตร์การดำเนินงานสำคัญในอนาคต สอง ความเชื่อมโยงในด้านอุตสาหกรรม พบว่า หลายอุตสาหกรรมใน Thailand 4.0 กับ Made in China 2025 มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยใน 5 อันดับแรกของอุตสาหกรรมเป้าหมายในไทยแลนด์ 4.0 นั้นมุ่งการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ Made in China 2025 ก็มุ่งอุตสาหกรรมไอทีรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน เมื่อไทยแลนด์ 4.0 มุ่งสนับสนุนการแพทย์ยุคใหม่ Made in China 2025 ก็มุ่งสนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ เป้าหมายการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Hi-end ของไทยก็เชื่อมโยงได้กับการเดินทางขับรถมาท่องเที่ยวของคนจีนที่มีรายได้สูง แนะจับกระแสจีนลงทุนต่างประเทศ ศาสตราจารย์ เจิ้งจิ่นหรง Chief of Information & Technology Research Department of China Outsourcing Instituteศาตราจารย์ เจิ้น จิ่นหรง Chief of Information & Technology Resaerch Department of China Sourcing Institute บรรยายในหัวข้อ Foreign Investment & Cooperation of China and Thailand’s Opportunities ว่า จีนเริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศเมื่อ 14 ปีก่อน ล่าสุดปี 2016 การลงทุนในต่างประเทศของจีนมีมูลค่า 190 พันล้านดอลลาร์ จากผู้ประกอบการ 44,000 ราย ส่งผลให้การลงทุนรวมในต่างประเทศของจีนกระจายในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก มูลค่าการลงทุนสะสม 5 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนการลงทุนในอาเซียนของจีน ปี 2016 มีมูลค่า 130 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 67% ของการลงทุนในต่างประเทศโดยรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.4% ส่วนใหญ่การลงทุนของจีนอยู่ในภาคเอกชน 18 หมวด แบ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิต 39 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 45% ที่เหลือเป็นการลงทุนในการคมนาคมกับประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นการซื้อกิจการ 765 ราย ปี 2014-2016 การซื้อกิจการในต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการผลิต ไอทีและคมนาคม จากเดิมที่ลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน แต่ได้หันมาลงทุนในไอทีมากขึ้น รูปแบบการลงทุนหลักเป็นการซื้อหุ้น โดยการลงทุนในหุ้นของจีนมีมูลค่ามากกว่า 110 พันล้านดอลลาร์ การลงทุนในต่างประเทศของจีนปรับเปลี่ยนไป เดิมเป็นการลงทุนโดยรัฐวิสาหกิจจีน แต่ปัจจุบันเอกชนจีนได้ลงทุนมากขึ้นและกลายเป็นกำลังสำคัญของการลงทุนในต่างประเทศ สัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของเอกชนจีนสูง 88% ของการลงทุนต่างประเทศโดยรวม ส่วนรัฐวิสาหกิจจีนที่ลงทุนในต่างประเทศมีสัดส่วน 13% เงินลงทุนของเอกชนจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้น ปัจจัยหลักมาจากโครงการ One Belt, One Road ส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อซื้อและควบรวมกิจการ จากเดิมที่เน้นลงทุนในสาธารณูปโภค ปัจจุบันลงทุนในธุรกิจบริการ ธุรกิจบันเทิง ไอที มีความชัดเจนว่าแนวโน้มการลงทุนในเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะจีนมีนโยบายสนับสนุนให้นำการผลิตรูปแบบใหม่เข้าไปในประเทศที่เข้าไปลงทุน เช่น รถไฟความเร็วสูงในไทย ศาตราจารย์ เจิ้น จิ่นหรง กล่าวว่า จีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2016 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14 พันล้านดอลลาร์ ในครึ่งแรกของปี 2017 ไทยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 4.6% ส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 3.2% การส่งออกของไทยไปจีนคิดเป็น 12.2% ของการส่งออกรวม ทางด้านการลงทุนของจีนในไทยมีจำนวนมาก ปี 2016 ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต การค้าส่งและอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ ขณะเดียวกัน การลงทุนของไทยในจีนยังมีน้อยมาก โดยปี 2015 ไทยไปลงทุนในจีน 56 ราย รวมมูลค่า 4.4 ล้านดอลลาร์ ศาตราจารย์ เจิ้น จิ่นหรง กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไทยพัฒนาเป็นจุดสำคัญที่ผู้ประกอบการจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมไปถึงความร่วมมือในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศที่ส่งเสริมการลงทุนผู้ประกอบการไทยและจีน อีกทั้งไทยมีจุดเด่นในอาเซียน โดยมีขนาด GDP ใหญ่เป็นอันดับ 2 มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 มีประชากรจำนวนมากเป็นอันดับ 4 แต่ทำเลที่ตั้งของไทยดีที่สุดบนเส้นทางสายไหม จุดศูนย์กลางของเส้นทางสายไหมทางทะเลอยู่ที่ EEC นอกจากนี้ระบบสาธารณูปโภคและสภาวะการลงทุนของไทยค่อนข้างดี ฉะนั้น ไทยควรคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะใช้โอกาสที่จีนกำลังไปลงทุนในต่างประเทศดึงการลงทุนมาเข้าไทย ซึ่งศาตราจารย์ เจิ้น จิ่นหรง กล่าวว่า เมื่อพิจารณาความเชื่อมโยงในเชิงนโยบายไทยกับจีนแล้ว พบว่ายุทธศาสตร์ Thailand 4.0 กับ Made in China 2025 ก็สามารถเชื่อมโยงกันได้ จะเห็นได้จากข้อมูลรอบ 9 เดือนปี 2017 จีนลงทุนในธุรกิจ e-Commerce ข้ามชาติมากถึง 9.6 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ปี 2016 จีนยังลงนามพัฒนาความร่วมมือด้าน e-Commerce กับไทย ซึ่งจะมีผลให้นำเทคโนโลยีที่พัฒนามาใช้ในธุรกิจบริการของไทยมากขึ้น จุดเด่นสำคัญไทยคือทำเล ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อ Toward Greater Economic Cooperation between China and Thailand under Belt and Road Initiatives ได้กล่าวว่า โครงการ One Belt, One Road ที่จีนฟื้นเส้นทางสายไหมเดิม มีนัยสำคัญต่อการค้าและการลงทุนของโลก เพราะเส้นทางสายไหมใหม่ทั้งทางบก ทางทะเลที่แบ่งออกเป็น 2-3 เส้นทางนั้นเชื่อมโยงกับหลายประเทศ สะท้อนว่าจีนมองเห็นว่าจะเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ นี้อย่างไร และจะตามไปลงทุนบนเส้นทางตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ นี้อย่างไร การลงทุนมหาศาลของจีนย่อมต้องเลือกพื้นที่ที่จะให้ประโยชน์กับจีนมากที่สุด จากการพิจารณาเส้นทางสายไหมใหม่ มี 2-3 เส้นทางที่เชื่อมโยงทั้งเอเชียใต้ เอเชียตะวันตก เอเชียกลาง ก็เห็นว่าพื้นที่ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับจีน คือ อาเซียน ที่มีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน และเมื่อรวมบังกลาเทศเข้าไปประชากรบริเวณนี้จะมีสูงถึงกว่า 800 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากจีน ที่มาภาพ : Presentation ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูลพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ทั่วโลกเข้ามาลงทุนมากที่สุด ดังนั้นก็เชื่อว่าจีนก็ต้องมองพื้นที่นี้เช่นกันว่าเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เติบโตดี ประชากรมีรายได้พอสมควร ในอนาคตก็ยังเติบโตได้อีก เพราะประเทศใหม่ๆ ในกลุ่มอินโดจีน บังกลาเทศ เป็นพื้นที่ที่โตเร็วที่สุดในโลก กำลังซื้อจะเพิ่มขึ้น และที่น่าสนใจคือ พื้นที่ตรงนี้กำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีความสำคัญ เปิดโอกาสให้นักธุรกิจในภูมิภาค ในไทย และจีน สามารถมาเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ โดยหลายเมืองหลายพื้นที่ใน กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม กำลังพลิกโฉมดังจะเห็นภาพการขยายตัวสู่ความเป็นเมืองมากขึ้นในประเทศนี้ ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ไทยมีที่ตั้งอยู่ใกล้ Belt Road Initiative มีจุดเด่นสำคัญในเส้นที่ลงมาทางใต้ คือ ทำเล การเดินทางกับประเทศรอบนอกใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่าๆ และสามารถเชื่อมโยงสินค้าต่างๆ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานดีกว่า รายได้ประชากรก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ รวมทั้งไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน เพราะคนไทยส่วนหนึ่งมีบรรพบุรุษมาจากจีน นอกจากนี้ จีนยังสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นจุดเชื่อมโยงไปที่อื่นได้ เพราะจุดเชื่อมโยงนี้มีความพร้อมแล้วจากการสร้างถนนเชื่อมโยงไว้หมดแล้วทั้ง เวียดนาม ลาว 800 กิโลเมตร สามารถส่งสินค้าจากทางตอนใต้ของจีนหนานหนิงทะลุลงมาถึงไทยได้ “Belt Road Initiative ไม่ใช่แค่รถไฟอย่างเดียว แต่รวมไปถึงถนนหนทางอีกด้วย มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งรถไฟความเร็วสูง ถนน ท่าเรือ สนามบิน ผมคิดว่า ขณะนี้ One Belt, One Road เชื่อมลงมาหาเราแล้ว ขณะเดียวกันจีนก็กำลังพัฒนาเส้นทางขึ้นไปเมียนมาแล้วอ้อมลงมา เรา ทำให้พื้นที่เรามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ใน Belt Road Initiative ที่สำคัญ รัฐบาลไทยมั่นใจที่ไปร่วมกับจีน ความร่วมมือไทยจีนอย่างน้อยจะเพิ่มอีก 15 พันล้านดอลลาร์ เพราะไทยมีแผนงานที่สร้างรถไฟความเร็วสูงไปถึงหนองคาย ขยายจากช่วงแรกเป็นกรุงเทพฯ-โคราช เป็นสิ่งที่ความเชื่อมโยงกับเราดีมาก” สิ่งที่รัฐบาลจีนมองภายใต้ Belt Road Initiative คือการเชื่อมโยงรถไฟที่ไปถึงกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์ เป็นการเชื่อมโยงทางตอนใต้ ซึ่งจีนมองว่าเป็นพื้นที่การลงทุนที่สำคัญ และเมื่อมีเส้นทางรถไฟสายที่ 3 กรุงเทพฯ-ระยอง ไปถึงพนมเปญ ในอนาคตก็จะทำให้ความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียว ส่งผลให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ Belt Road Initiative ที่มาภาพ : Presentation ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ต้องเป็นประตูสู่จีนตะวันตก สำหรับโอกาสของการเชื่อมโยงของไทยซึ่งมีความสำคัญสำหรับจีนกับ One Belt, One Road ที่สำคัญที่สุด ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ได้แก่ ข้อหนึ่ง ไทยต้องเป็นประตูสู่จีนตะวันตกให้ได้ เพราะจีนตะวันตกออกสู่ทะเลยาก ขณะนี้จีนกำลังสร้างทางไปออกทะเลที่เมียนมา โดยประกาศในปีที่แล้วว่าจะเจาะอุโมงค์ความยาว 35 กิโลเมตรเพื่อทำให้เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการออกสู่ทะเล ขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมไทยลงมาทางตอนใต้ได้ไปถึง EEC ทำให้สินค้าต่างๆ มุ่งสู่จีนตะวันตกบนเส้นทางสายนี้ได้เช่นกัน ข้อสอง โอกาสทางธุรกิจร่วมกัน การทำธุรกิจระหว่างจีนกับไทยมีมาก ตัวอย่างเช่น โครงการผลิตรถ MG ที่เครือซีพี นักธุรกิจไทย ร่วมกับเซี่ยงไฮ้ออโต้ นักธุรกิจจีน ที่ผลิตรถเพื่อตอบโจทย์คน 600 ล้านคน โดยโอกาสทางธุรกิจมีทั้งใน e-Commerce ซึ่งตอนนี้ กลุ่มเซ็นทรัลของไทยประกาศความร่วมกับ JD.com ของจีนในมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ Lazada ที่ Alibaba เป็นเจ้าของตั้งใจที่จะทำ e-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งไทยก็จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของโลจิสติกส์และสินค้า ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ไทยเตรียมการที่จะปลดล็อกกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าได้ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การปรับกฎเกณฑ์การควบคุมอาหารและยาของไทยที่กำหนดว่า สินค้าประเภทอาหารและยาที่แตะแผ่นดินไทยต้องผ่านการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย โดยแก้เป็นถ้าแตะแผ่นดินไทยและไม่แกะกล่องก็ให้เป็นสินค้าผ่านแดนได้ทันที “ไทยเป็นสปริงบอร์ดที่ดีของจีนและฮ่องกงในการเข้าสู่อาเซียนหรืออินโดจีน เพราะไทยใกล้ชิดกับทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา อีกโอกาสหนึ่งที่ไทยจีนสามารถร่วมมือกันได้ภายใต้ Belt Road Initiative คือ การให้บริษัทจีนเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ในไทย เพื่อบริหาร Supply Chain และเป็นแหล่งสินค้าหรือวัตถุดิบ (Sourcing Center) เดิมแหล่งสินค้าหรือวัตถุดิบอยู่ที่จีน แต่ขณะนี้อยู่ที่อาเซียนซึ่งเป็น Sourcing Center ที่ใหญ่ที่สุด โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ปัจจุบันบริษัทต่างชาติที่ใช้ไทยเป็น RHQ มีจำนวนกว่า 200 บริษัท บริษัทของจีนก็มีหัวเว่ย ซึ่งยังได้ตั้ง Open Lab ในไทยอีกด้วย มาตรการที่ไทยได้เตรียมการเพื่อดึงนักลงทุนจีนและต่างชาติยังประกอบไปด้วย การอำนวยความสะดวกด้านการให้วีซ่าสำหรับบุคคลากรที่เข้ามาทำงานมีครอบครัว คู่สมรสและสมาชิกครอบครัวก็จะได้รับสิทธิอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยได้ด้วยนาน 4 ปี โดยไม่ต้องขอ Work Permit พร้อมขยายระยะเวลาการรายงานตัวจากทุก 90 วันไปเป็นทุก 1 ปี รวมไปถึงมาตรการทางภาษีลดภาษีเงินได้สำหรับนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ของศูนย์วิจัย (Research Center) เป็น 17% รัฐบาลไทยกำลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดพื้นที่พิเศษให้ RHQ เพื่อให้ใช้ไทยเป็นฐานในการจัดการ Supply Chain หรือศูนย์วิจัย โดยสามารถทำธุรกรรมเป็นเงินตราต่างประเทศได้ ไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท หรือทำธุรกรรมด้วยเงินหยวนได้ เล็งดึงจีนร่วมลงทุนโครงการใน EEC ที่มาภาพ : Presentation ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูลดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า EEC เป็นอีกพื้นที่ที่สำคัญ จะใช้ในการบริหารความเชื่อมโยงกับจีนและขณะเดียวบริหาร Regional Supply Chain ซึ่งรัฐบาลไทยตั้งใจว่าจะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ทำมาหากินของคนในท้องถิ่น ไม่เฉพาะไทยแต่ในอินโดจีนทั้งหมด เชื่อมโยงกับทางใต้ ตะวันออก ตะวันตกด้วย โครงการที่ตั้งใจมีหลากหลายและคาดหวังว่าบริษัทจีนจะสนใจและเข้ามาร่วมลงทุน เช่น สนามบิน ท่าเรือ ที่มีตั้งแต่ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด สัตหีบ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่และเมืองท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า โครงการ EEC เป็น Flagship ของไทยที่นายกรัฐมนตรีตั้งใจจะผลักดันให้สำเร็จ จึงมีเป้าหมายว่าภายใน 12 เดือนข้างหน้าจะเปิดประมูลโครงการสำคัญๆ 4-5 โครงการ หวังว่านักลงทุนจีนจะให้ความสนใจ โดยโครงการที่จะเชื่อมโยง EEC กับ Belt Road Initiative คือ โครงการสนามบินใหม่ จะเป็นสนามบินที่มีความสำคัญมากในช่วงต่อไป สำคัญเท่ากับสุวรรณภูมิ รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ต่อเชื่อมโยงกรุงเทพฯ ถึงระยอง โครงการท่าเรือหลายแห่งที่สามารถเชื่อมโยงไปจีนตะวันตก รวมไปถึงโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาที่จะเปิดประมูลในปีหน้า ซึ่งศูนย์ซ่อมนี้จะใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพราะเอเชียเป็นภูมิภาคที่ซื้อเครื่องบินมากที่สุดในโลก คาดหวังว่าเอเชียจะใช้อู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อม ในด้านอุตสาหกรรม ไทยได้เลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญไว้ 4 กลุ่ม หวังว่าจีนจะให้ความสนใจกับบางอุตสาหกรรมและมาร่วมมือกับไทยได้ เพราะเชื่อว่าน่าจะสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 เนื่องจากจีนได้หันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี รวมทั้งไทยพร้อมที่จะจัดสรรพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้กับกลุ่มธุรกิจจีนโดยเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการบริหารจัดการ ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับ Silicon Valley ในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนไทยยังได้เปิดกว้างรับสถานศึกษาจากทั่วโลกมาตั้งใน EEC แหล่งข้อมูล : thaipublica
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market